ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
30 ต.ค.2557

คนไทยระส่ำ"หนี้ท่วม" เศรษฐกิจฝืดหนักต่อเนื่องปี"58 เอ็นพีแอลแบงก์ทะลุ10%

Line

กูรูเตือนสัญญาณปี"58 "เศรษฐกิจฝืด" เข้าปีที่ 3 "สมหมาย" ชี้จุดบอด คนรวยเงินล้น คนจน "เงินฝืด-หนี้ท่วม" บีบคั้นครัวเรือนไทยระส่ำ ชะลอใช้จ่ายลากเศรษฐกิจชะงักงัน ส่ง "นาโนไฟแนนซ์" เสริมสภาพคล่องรากหญ้า ธปท.ชี้หนี้ครัวเรือนสูงยังเปราะบาง หนี้เอ็นพีแอลแบงก์ 9 เดือนพุ่งทะลุ 10%

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (Stagnation) หรือเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพค่อนข้างมาก เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปีนี้แล้ว แม้ว่าจะยังไม่ถึงกับเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่เมื่อมองไประยะข้างหน้าก็มีความกังวลมากขึ้นว่า หากปี 2558 เศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเติบโต 4-5% อีก ก็จะนับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่จะกดดันรัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ มาพยุง

"การค้าส่งออกก็เป็นอีกประเด็นที่น่ากังวลต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้า" นายเชาว์กล่าว

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะ Stagnation คือ คนจนไม่ค่อยมีงานทำ หางานทำยาก แบบที่คนจนจะเรียกว่า "เงินฝืด"

"ส่วนคนไม่จน เงินมีเยอะแยะ แต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ลงทุนอะไร ดอกเบี้ยก็ถูกนี่คือภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ แม้ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติที่มีเงินมากสนใจให้ไทยกู้เงิน โดยเสนอให้เราออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ แต่เราจะไปออกทำไม ในเมื่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยก็ยังสูงอยู่ และ ธปท.ก็กำลังผลักดันให้เอกชนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ภาวะโลก (และไทย) ตอนนี้ อยู่ในภาวะที่ผมเคยจำศัพท์ได้ว่า เรียกว่า Stagnation คือ มันเกิดหยุดอยู่กับที่" นายสมหมายกล่าว

รมว.คลังยืนยันว่า ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ยัง "ไม่เสี่ยง" เพราะประเทศไทยขณะนี้ ฐานะการเงินการคลังยังดี แม้ปีงบประมาณที่ผ่านมาจะเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายไปกว่า 2 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลก็จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคสอง ซึ่งต้องขอรอประเมินผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีงบประมาณนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 57) ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2558 ก่อน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังกำลังแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจะอนุญาตให้เอกชนปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 1-1.2 แสนบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยได้มากกว่า 30% ต่อปี และลดหย่อนภาษีกำไรจากดอกเบี้ย 50%

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า กรณีเกิดภาวะ Stagnation สะท้อนเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำกว่าภูมิภาค ซึ่งปัจจัยที่จะดึงให้ประเทศไทยข้ามผ่านภาวะนี้ได้ ต้องมาจากรัฐบาลผลักดันให้เกิดการลงทุนในปีหน้า โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจให้เติบโตสูงกว่าปัจจุบัน เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แม้สหรัฐจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีหลายประเทศใหญ่ที่ชะลอตัวต่อเนื่องอยู่ ไม่ว่าจะจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าของไทยในข้างหน้า

"ขณะที่ปัจจัยด้านดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับ 2% ถือว่ามีข้อจำกัดในการที่จะปรับลดลงได้ เนื่องจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ระดับสูง หากลดดอกเบี้ยอีกจะยิ่งเพิ่มปัญหาการก่อหนี้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ระวังอยู่" นายธาดากล่าว

หนี้ครัวเรือนจุดเปราะบาง ศก.

ด้านนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้มีความเห็นต่างจากกระทรวงการคลังในเรื่องนี้ โดยมองว่า Stagnation เป็นสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา หรือเศรษฐกิจไม่ขยายตัว หรือขยายตัวในอัตราต่ำเป็นระยะเวลานานพอสมควร และมักเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะการว่างงานที่สูง ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ ใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานเพียงใด

สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ อาจกล่าวได้ว่าในครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะ Stagnation ในด้านอัตราการเติบโต แต่ประเทศไทยยังไม่มีปัญหาเรื่องการว่างงาน

"ปัจจุบันเศรษฐกิจอยู่ในช่วงรอยต่อที่ กำลังฟื้นตัว โดยได้พ้นจากภาวะ Stagnation ไปแล้ว แต่ยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นมากน้อยอย่างไร" นายจิรเทพกล่าว

ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่า แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องถึงปีหน้าจะมาจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก ทั้งการลงทุนและการบริโภค นโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเอกชนในการลงทุนเพิ่ม เมื่อรวมกับแนวโน้มการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนที่ทำงานนอกภาคเกษตรและฐานะทางการเงินของครัวเรือนที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากครัวเรือนเริ่มปรับตัวและชะลอการก่อหนี้ น่าจะสนับสนุนให้การใช้จ่ายของครัวเรือนฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

"ไม่อยากให้กังวลหรือมองภาพเศรษฐกิจไทยเชิงลบเกินไป แต่ยอมรับว่าการเติบโตอาจดูไม่แข็งแกร่งเหมือนในอดีต เพราะการฟื้นตัวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เศรษฐกิจจึงยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในทุกภาคส่วน (Broad Based) ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการก่อหนี้มากในช่วง 2 ปีก่อน รวมถึงโครงสร้างการผลิตของไทยทั้งด้านแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานยังต้องพัฒนามากกว่าปัจจุบัน" นายจิรเทพกล่าว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าขณะที่ภาคครัวเรือนเข้าถึงบริการด้านสินเชื่อจากภาคการเงินได้ไม่ถึง 40% แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ก็ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 83% ในไตรมาส 2/2557 กำลังเป็นที่จับตากันอยู่ในช่วงนี้ ว่าจะสะท้อนความเปราะบางทางการเงินมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ ข้อมูลของ ธปท. ณ สิ้นไตรมาส 2/57 ระบุว่า ยอดคงค้างของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของสถาบันการเงิน มีจำนวน 10,029,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เทียบกับสิ้นปีก่อนที่อยู่ 9.79 ล้านล้านบาท

สำหรับยอดคงค้างของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น มียอดก้อนใหญ่มาจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปล่อยกู้แก่บุคคลธรรมดา แยกเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย 1,547,272 ล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อรวม 883,435 ล้านบาท เงินกู้เพื่อการบริโภคส่วนบุคคล 863,070 ล้านบาท ซึ่งพบว่าการกู้เพื่อการบริโภคส่วนบุคคลและการซื้อที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้น (ดูตาราง)

นายสมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ในระยะสั้นยังกดดันการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งหนี้ก้อนใหญ่เป็นสินเชื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถ ซึ่งมีการเสื่อมค่าเร็ว เมื่อมองในระยะยาว หนี้ก้อนนี้ไม่น่าจะลดได้ง่ายหรือเร็ว

นอกจากนี้ แนวโน้มในระยะข้างหน้าที่ดอกเบี้ยโลกจะเพิ่มขึ้น และในที่สุด ธปท.ก็อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็อาจกระทบภาระการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น เมื่อหนี้เพิ่ม คนจะชะลอการบริโภคเพื่อนำรายได้มาจ่ายหนี้ก่อน จึงเป็นปัญหาวนมาทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงไปอีก

"มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศในภาวะเศรษฐกิจมีความเปราะบางและฟื้นตัวช้า และควรทำเป็นซีรีส์ มีสั้น กลาง ยาว ซึ่งตอนนี้เห็นมาตรการระยะสั้นแล้ว แต่ระยะกลางยังไม่มีใครรู้ ส่วนระยะยาวปีหน้าก็ต้องติดตามต่อไป" นายสมประวิณกล่าว

แบงก์อ่วมหนี้เช่าซื้อถ่วง NPL พุ่ง

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี กล่าวว่า จากข้อมูลผลดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ งวดไตรมาส 3/2557 พบว่า สินเชื่อรายย่อยจะเติบโตได้เฉพาะหมวดสินค้าจำเป็น ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่วนหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย สินเชื่อเช่าซื้อยังอยู่ในระดับติดลบ สะท้อนว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนยังทรงตัวในระดับสูง กระทบต่อการบริโภคอย่างรุนแรง

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ของกลุ่มนี้ (ยกเว้น ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย) มีจำนวนรวม 3.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น29,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากสิ้นปีก่อน โดยพบว่าหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 นี้ มาจากเอ็นพีแอลเช่าซื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมองว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนยังกดดันอยู่

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารการเงิน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์หนี้ของสถาบันการเงินทั้งระบบ พบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือนที่ทรงตัวระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาก และปัจจุบันธนาคารยิ่งเพิ่มความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อลูกค้าใหม่มากขึ้น และมีการติดตามลูกหนี้เดิมอย่างใกล้ชิดด้วย

"โดยในส่วนแบงก์กรุงไทย หนี้เอ็นพีแอล9 เดือนพุ่งขึ้นมา 19.5% จากสิ้นปีก่อน หรือเพิ่มประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 67,467 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มจากลูกค้ารายย่อยทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้านและเช่าซื้อ และยังมีเอสเอ็มอีเล็กอีก เมื่อเจอภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยิ่งฉุดการชำระหนี้ของกลุ่มรายย่อยไม่ตรงตามกำหนด" นางกิตติยากล่าว

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ประชาชนรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนจะมีหนี้อยู่กว่า 60-61% ของรายได้ ที่สำคัญเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ค่าเฉลี่ยหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงถึง 84% ต่อจีดีพี ซึ่งเรียกได้ว่าคนกลุ่มนี้มีหนี้เกินกว่าความสามารถที่จะผ่อนชำระไหว ขณะเดียวกันเงินที่เหลืออยู่ก็ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ สะท้อนว่าระยะปานกลาง 1-3 ปี หนี้ครัวเรือนก็ยังเป็นปัญหาน่ากังวลของประเทศ เพราะก็มีโอกาสเห็นการก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นได้ จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ

ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ