ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
29 ก.ค.2556

SCG รุกยอด 3 หมื่นล้าน 5 ปี ขยายคลังสินค้า 3 แสน ตร.ม.

Line

การรุกเข้ามาเปิดตลาดให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจรของบริษัทลงทุนข้ามชาติทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และจีนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการกระจายธุรกิจไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งสินค้าไทยต่างเร่งปรับตัว โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่าง "บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด" ในเอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่วางแผนเชิงรุกในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่ครบวงจรสมบูรณ์แบบมากขึ้น รวมถึงการแตกไลน์ธุรกิจเพื่อหาลูกค้านอกเครือเพิ่มขึ้น

 ทุ่ม 6 พัน ล.ขยายฐานแตกไลน์

นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2556-2560 มีแผนขยายการลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนภายในประเทศ

3,500 ล้านบาท และการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 2,500 ล้านบาท ภายใน 5 ปีจะเพิ่มยอดรายได้จากปี 2555 ประมาณ 14,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีจะมีพื้นที่คลังสินค้ารวมทั่วประเทศประมาณเกือบ 300,000 ตารางเมตร

สำหรับแผนการลงทุนภายในประเทศ 3,500 ล้านบาท เพื่อเจาะตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงต้องปรับตัวเพื่อให้ตอบสนองความต้องการ 3 ประการของกลุ่มนี้ ได้แก่ ความรวดเร็วในการให้บริการ, ความถี่ในการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และครอบคลุมตลาดมากขึ้นทางบริษัทจึงลงทุนจัดตั้งศูนย์กลางการกระจายสินค้าแบบครบวงจรในแต่ละภูมิภาคขึ้น (Regional Distribution Center-RDC) โดยแต่ละแห่งมีพื้นที่ประมาณ 8,000 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 300 ล้านบาทต่อแห่ง ประเดิมแห่งแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว ภายในปี 2557 จะก่อสร้างแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ และภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี

ขณะที่ภาคกลางมีศูนย์กระจายสินค้าอยู่แล้ว ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ RDC ในแต่ละจังหวัดได้เตรียมซื้อที่ดินพร้อมจะขยายเฟส 2 ทันทีในทุกแห่งที่ใช้เต็มพื้นที่ อย่างขอนแก่น คาดว่าจะขยายเฟส 2 ในเร็ว ๆ นี้ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจชะลอตัวก็ไม่ก่อสร้างเพิ่ม

การมีคลังสินค้าตามแต่ละภูมิภาค ทำให้สามารถมีความถี่ในการกระจายสินค้าได้รวดเร็วขึ้น รอบการบริการจากเดิมต้องใช้เวลา 4-6 วัน เหลือ 1-3 วัน และการขนส่งจากเดิมเต็มเที่ยว อันนี้สามารถรวมเที่ยวได้ และครอบคลุมร้านทุกระดับ อย่างช่วงปลายเดือนเป็นช่วงพีกที่ทุกคนเร่งส่งของกัน การใช้รถจะไปกระจุกตัวช่วงปลายเดือน การทำเช่นนี้ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการรถอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องแย่งกันใช้รถช่วงสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่ง ระบบนี้ปัจจุบันใช้ที่ภาคอีสาน ต้นปี 2557 จะกระจายไปยังภาคเหนือและภาคใต้

จับมือญี่ปุ่นแตกไลน์ธุรกิจห้องเย็น

นอกจากนี้ บริษัทได้แตกไลน์ธุรกิจไปทำธุรกิจห้องเย็นและรถควบคุมอุณหภูมิ โดยได้ทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัท นิชิเร โลจิสติกส์ (ญี่ปุ่น) จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ โดยเอสซีจี โลจิสติกส์ฯมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 51 คาดว่าจะดำเนินธุรกิจได้ไตรมาส 3 ปี 2557 โครงการนี้ลงทุน 800 ล้านบาท สร้างคลังสินค้าเฟสแรกที่ถนนเทพารักษ์ กม.22 ขนาด 10,001 ตร.ม. ซื้อรถบรรทุก 6 ล้อ ควบคุมอุณหภูมิเบื้องต้น 5 คัน

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้สมบูรณ์แบบด้วยการจัดตั้งศูนย์ควบคุมและบริหารระบบโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามสถานะการขนส่งด้วยเครือข่ายเทคโนโลยี GPS ควบคุมตั้งแต่ต้นทางถึงมือลูกค้าปลายทาง โดยรถ 7,000 คันของเครือข่ายพันธมิตร ขณะนี้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 4,000 คัน รวมทั้งการติดต่อตั้งกล้องวงจรปิดที่หน้ารถ 100 คัน ควบคุมคนขับและการส่งสินค้าปลายทางได้

 

ที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 29 ก.ค. 2556