ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
19 ส.ค.2556

SCGมุ่งยกระดับองค์กรไทย

Line

"เอสซีจี" จัดสัมมนาระดับชาติ  Thailand Innovation Forum รวมพลังความร่วมมือผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ การศึกษา เอกชน และนักวิจัย ร่วมผลักดันประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เน้นสร้างนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมเป็นต้นแบบและสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าสร้างรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง 50% ของรายได้รวมทั้งหมดในปี 2558

กานต์ ตระกูลฮุน    นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า งาน Thailand Innovation Forum: R&D to Commercialization นับเป็นครั้งแรกที่จัดโดยภาคเอกชน ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมจุดประกายและกระตุ้นให้องค์กรภายในประเทศมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง

"ตลอดระยะเวลา 100 ปี เอสซีจีดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นการสร้างสรรค์สินค้าและการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยใช้การวิจัยและพัฒนาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม อาทิ ภาครัฐบาล โดยเน้นให้เกิดแนวทางการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยและพัฒนาให้เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ หน่วยงานการศึกษาและสถาบันวิจัย สามารถปรับใช้งานในห้องทดลองของนักวิทยาศาสตร์ และงานวิจัยต่างๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาคมโลกได้ในอนาคต และภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายชั้นเยี่ยมที่จะเชื่อมโยงการทำงานของนักวิจัยให้เข้าหาความต้องการของผู้บริโภค ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสามารถสร้างเม็ดเงินกลับคืนจากต้นทุนในงานวิจัยเพื่อต่อยอดความยั่งยืนของธุรกิจได้ต่อไป" นายกานต์ กล่าว

จากกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เอสซีจีใช้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปีที่ผ่านมาเอสซีจีใช้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนากว่า 1,430 ล้านบาท โดย 1 ใน 4 ของงบประมาณดังกล่าว ใช้เพื่อสร้างความร่วมมือและเครือข่ายด้านการวิจัยกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้ เอสซีจีตั้งเป้าหมายให้มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เป็น 50 %ของรายได้จากการขายรวมทั้งหมดในปี 2558 และมีเป้าหมายว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า เอสซีจีจะมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 1,600 คน โดยมีนักวิจัยระดับปริญญาเอกกว่า 170 คน  ใช้งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 5,600  ล้านบาท

นายกานต์กล่าวว่า "ทุกวันนี้ประเทศไทยใช้เงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพียง 0.2 % ของ GDP ทั้งประเทศ  มีนักวิจัยเพียง 9.5 คนในอัตราส่วน 10,000 คน โดยมีเพียง 20% ของนักวิจัยทั้งหมดที่อยู่ในภาคธุรกิจ ซึ่งในความเป็นจริง รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายใหม่ให้ใช้เงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เพิ่มเป็น 2% ของ GDP แต่จุดสำคัญอยู่ที่การผลักดันและนำแผนมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับมุมมองของผม อยากให้ตั้งเป้าหมายใหม่ให้ใช้เงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเป็น 3% ของ GDP มีอัตราส่วนนักวิจัย 30 คนต่อ 10,000 คน และที่สำคัญ ควรอยู่ในภาคธุรกิจ 80% โดยเน้นที่การวิจัยและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ นำงานวิจัยจากห้องทดลอง มาปรับ ผลิต และสร้างสรรค์เป็นสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง"

"ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ธุรกิจไทยต้องเน้นการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีความแตกต่าง มีคุณภาพสูง พร้อมทั้งการสร้างแบรนด์ควบคู่กันไป ประเทศไทยควรจะตั้งเป้าหมายให้เป็น Branded HVA Country โดยสินค้าและบริการต้องมีมูลค่าเพิ่มและมีความแตกต่าง (Differentiation) รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม" นายกานต์ กล่าวเสริม

งาน Thailand Innovation Forum: R&D to Commercialization การวิจัยและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ได้รับเกียรติจากวิทยากรซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรข้ามชาติชั้นนำ รวมทั้งนักวิชาการที่มีประสบการณ์นำงานวิจัยในห้องทดลองสู่ตลาดพาณิชย์ได้จริง มาร่วมแบ่งปันแนวทางและองค์ความรู้อย่างคับคั่ง อาทิ Mr. Douglas Muzyka - Senior Vice President and CTO, DUPONT ร่วมถ่ายทอดกลยุทธ์การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการตลาดเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งองค์กรนวัตกรรมเพื่อความสำเร็จทางธุรกิจอย่างลงตัว และ Mr. Yong Sung Jeon, Managing Director, Thailand Samsung Electronics ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์วิธีบรรจุนวัตกรรมเข้าสู่ดีเอ็นเอของพนักงานทุกคนในองค์กร ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นแนวทางในการทำงานอย่างสร้างสรรค์จนสามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคต ร่วมด้วย 3 วิทยากรระดับโลกในการเสวนาโต๊ะกลม เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และแนวคิดในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภาคการศึกษาสู่ภาคธุรกิจ

การจัดการประชุมครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้บริหารระดับสูงทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐ การศึกษา สถาบันวิจัยและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรม ไม่ว่าจะในฐานะผู้กำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย รวมถึงการผลิต และการตลาด เข้าร่วมงานครั้งนี้มากกว่า 800 คน ซึ่งทุกภาคส่วนล้วนมีส่วนสำคัญในการนำแนวคิดการวิจัยและพัฒนามาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีปฏิบัติ เพื่อนำไปขยายผลให้กว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งในประเทศไทยและอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

 

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,871 วันที่  18 -21   สิงหาคม  พ.ศ. 2556