ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
26 ก.ย.2556

"ทาทา สตีล" เปิดอกคุย ภาษี AD ลวดเหล็กนำเข้าจีนกระทบชิ่งราคาเหล็กก่อสร้างในประเทศ...จริงหรือ ?

Line

8 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD-Anti Dumping) สินค้า "เหล็กลวดคาร์บอนสูง" เป็นการชั่วคราว เป็นไปตามคำร้องขอของผู้ผลิตในประเทศคือ "บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย)" 

 งัด AD โต้ดัมพ์ราคาเหล็ก

ผลของมาตรการ AD ทำให้มีการเรียกเก็บภาษีจากผู้ส่งออกลวดเหล็กคาร์บอนสูงและลวดเหล็กคาร์บอนสูงเจือธาตุอื่นจากประเทศจีนใน 3 อัตราภาษี ได้แก่

1.Jiangsu Shagang International Trades Co.,Ltd. เรียกเก็บในอัตรา 16.14% ของราคาสินค้ารวมค่าขนส่ง (CIF) 2.Qingdao Iron & Steel Co.,Ltd. ในอัตรา 26.96% 3.ผู้ส่งออกรายอื่นจากประเทศจีน ในอัตรา 33.98%

ทั้งนี้ ทั้ง 3 อัตราภาษี AD ดังกล่าว มีการนำเข้าเพียงบริษัทเดียวคือ "Jiangsu Shagang International Trades" ณ อัตราจัดเก็บ 16.14% ของราคา CIF

แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือเหล็กลวดคาร์บอน เป็นกลุ่มสินค้าประเภทเหล็กก่อสร้าง ใช้เป็นวัตถุดิบผลิต PC Wire-เหล็กลวดแรงดึงสูงหรือเหล็กลวดเสริมคอนกรีต ซึ่งจะมีการนำไปใช้ในการผลิตสินค้าคอนกรีต เสาเข็ม

โดยสรุป เหล็กลวดคาร์บอนจึงเป็นสินค้า "ต้นน้ำ" โดยมีเหล็กแรงดึงสูงเป็นสินค้า "กลางน้ำ" และผู้ใช้รายสุดท้ายคือโรงงานผลิตคอนกรีต เสาเข็ม ที่ถือเป็นสินค้า "ปลายน้ำ"

สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กลวดแรงดึงสูงหรือ PC Wire นั้น มีผู้ผลิตทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ในประเทศไทยจำนวน 11 รายด้วยกัน อาทิ บริษัทสยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม, บริษัทไทยไวร์โพรดัคท์ฯ, บริษัทบางกอกสตีลไวร์, บริษัทสยามไวร์อินดัสทรี, บริษัทระยองไวร์อินดัสตรีส์เป็นต้น

ขณะที่วัตถุดิบต้นน้ำเหล็กลวดคาร์บอนมีผู้ผลิต 1 รายในประเทศคือทาทา สตีลฯ แต่กลุ่มกลางน้ำหรือผู้ผลิต PC Wire 11 รายในประเทศยังมีทางเลือกการใช้วัตถุดิบนำเข้าจากจีน ซึ่งขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาขายในประเทศไทยได้ด้วยราคาที่ต่ำกว่าทาทา สตีลฯผลิต จึงเป็นที่มาของการร้องขอมาตรการ AD ดังกล่าว

แท็กติกจีนเลี่ยงภาษีนำเข้า

"ปิยุช กุปต้า" กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมทีมผู้บริหารของทาทา สตีลฯ เปิดห้องประชุมสำนักงานใหญ่บนตึกรสา ทาวเวอร์ อธิบายถึงที่มาที่ไปเรื่องนี้ว่า เหล็กที่ผลิตในประเทศเรียกว่าเป็น "เหล็กกล้าคาร์บอน" มีราคาขายในประเทศอยู่ระหว่าง 20,000-21,000 บาท/ตัน ถ้าหากนำเข้าตามประเภทนี้จะมีอัตราภาษี 5%

ขณะที่เหล็กนำเข้าจากจีนเป็นเหล็กที่เรียกว่า "เหล็กกล้าเจือ" ใช้เทคนิคนิดหน่อยด้วยการเติมอัลลอยเข้าไป ทำให้บางครั้งจะเรียกว่า "เหล็กอัลลอย" มีข้อแตกต่างจากเหล็กกล้าคาร์บอน คือเมื่อเป็นเหล็กกล้าเจือ ทำให้พิกัดภาษีศุลกากรนำเข้าเปลี่ยนเหลือ 0% ทันที

แท็กติกของสินค้าจีน คือโดยปกติเหล็กกล้าเจือที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีจะเติมอัลลอยที่มีโครเมียมในปริมาณ 1.1% แน่นอนว่าต้นทุนสูงขึ้น แต่สินค้าจีนเติมเพียง 0.3% เท่านั้น เป็นการแสดงเจตนาว่าต้องการเข้าพิกัดเหล็กกล้าเจือ เพื่อใช้ภาษี 0%

ขณะเดียวกัน เหล็กลวดคาร์บอนสูงที่ผลิตในประเทศจีนได้รับการยกเว้นภาษีส่งออกจากรัฐบาลจีนอยู่แล้ว 9% เมื่อนำเข้ามาขายในเมืองไทยเติมอัลลอยนิดหน่อยเพื่อให้เป็นเหล็กกล้าเจือ ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าจากรัฐบาลไทยอีก 5% เบ็ดเสร็จผู้ผลิตจีนได้ประโยชน์จากส่วนต่างของราคาสูงถึง 14%

"...เพราะฉะนั้น การที่รัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรการ AD เหล็กนำเข้าจากจีนจึงไม่ใช่การกีดกันการค้าแต่อย่างใด แต่เพื่อให้การแข่งขันในตลาดเป็นไปอย่างเป็นธรรม" คำกล่าวย้ำของ "ปิยุช กุปต้า"

แกะรอย "ตาอยู่" 11 ราย

คำถามต่อมา คือเมื่อรัฐบาลไทยประกาศ AD เหล็กกล้าเจือจากจีนแล้ว จะทำให้ราคาสินค้ากลางน้ำ-ปลายน้ำหรือเหล็ก PC Wire มีราคาแพงขึ้น จนทำให้ผู้ใช้ปลายน้ำคือโรงงานผลิตคอนกรีต เสาเข็มมีต้นทุนแพงขึ้นตามไปด้วย...จริงหรือไม่

ประเด็นนี้ "ศิโรโรตม์ เมธมโนศักดิ์"ผู้บริหารของทาทา สตีลฯ ยืนยันว่า

ตั้งแต่ช่วงที่มีสินค้าจีนเข้ามาดัมพ์ตลาดในเมืองไทย คือประมาณกลางปี 2555 ราคาลวดเหล็กกล้าคาร์บอนในประเทศอยู่ที่ 22,500 บาท/ตัน ณ ตอนนั้นเหล็ก PC Wire มีราคาขายอยู่ที่ 31,700 บาท/ตัน หรือเท่ากับมีส่วนต่างกำไรอยู่ที่ 9,200 บาท/ตันอยู่แล้ว
 
ต่อมาเมื่อเหล็กกล้าเจือจากจีนเริ่มนำเข้ามา ส่งผลให้มีการดัมพ์ราคา โดยราคานำเข้าอยู่ระหว่าง 18,400-20,200 บาท/ตัน ในช่วงเดือนสิงหาคม 2555-กรกฎาคม 2556 โดยราคาต่ำสุด

เป็นสถิติการนำเข้าเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ตั้งราคาขาย 18,400 บาท/ตัน และในเดือนเดียวกันนั้นเอง ราคาเหล็ก PC Wire ขายที่ 30,900 บาท/ตัน นั่นหมายความว่า ส่วนต่างกำไรขยับสูงขึ้นจาก 9,000 บาท/ตัน เพิ่มเป็น 12,500 บาท/ตัน เท่ากับว่า ส่วนต่างกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้นไปเพิ่มอยู่กับผู้ผลิต PC Wire ซึ่งมีอยู่ 11 รายในประเทศไทย เท่ากับว่า ถึงแม้จะใช้ลวดเหล็กกล้าคาร์บอนของผู้ผลิตในประเทศ คือทาทา สตีลฯ เหล็ก PC Wire ก็มีกำไรอยู่แล้ว ตันละประมาณ 9,000 บาท
 
นั่นหมายความว่า ถ้าเปลี่ยนมาใช้ลวดเหล็กกล้าเจือนำเข้าจากจีน กำไรของผู้ผลิตเหล็ก PC Wire จะเพิ่มทันที เป็นตันละ 12,000 บาท อย่างต่ำ

ดังนั้น การประกาศ AD เหล็กกล้าเจือนำเข้าจากจีนในอัตราจัดเก็บภาษี 16.14% เพื่อให้มีราคาขายในประเทศไทยเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับเหล็กกล้าคาร์บอนที่ผลิตในประเทศ จะทำให้ราคาเหล็ก PC Wire แพงขึ้นจริงหรือไม่...ในเมื่อกำไรคาอยู่ตั้งแต่ตันละ 9,000-12,000 บาทดังกล่าว

คำตอบสุดท้าย คงต้องไปถามจากผู้ผลิต PC Wire ทั้ง 11 รายโดยตรง เพราะเป็นผู้ที่รับ "ทั้งขึ้น-ทั้งล่อง" ไม่ว่าจะ "มี-ไม่มี" มาตรการ AD สำหรับสินค้าตัวนี้

 

ที่มาจากประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 25 ก.ย. 2556