ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
18 มิ.ย.2556

กานต์ ตระกูลฮุน เมกะดีล SCG เทกโอเวอร์ "โกลบอลเฮ้าส์" ต่อยอดโมเดิร์นเทรดค้าวัสดุไทยทะลุเออีซี

Line

1-2 ครั้งต่อปีที่ "ประชาชาติธุรกิจ" จะมีนัดสัมภาษณ์พิเศษ "กานต์ ตระกูลฮุน" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเอสซีจี จุดเน้นตอนนี้คือผ่านมาเกือบครึ่งทางของปี 2556 จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะร่วมกันเปิดมุมมองแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในมุมยักษ์วัสดุก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ไม่เพียงแต่เอสซีจีจะบุกหนักผ่านธุรกิจโมเดิร์นเทรดค้าวัสดุ ด้วยการเทกโอเวอร์ "สยามโกลบอลเฮ้าส์" เพื่อต่อจิ๊กซอว์บุกตลาดต่างจังหวัดและภูมิภาคอาเซียน จังหวะที่น่าสนใจยังรวมถึงประเทศไทยโดย "รัฐบาลเพื่อไทย" อยู่ระหว่างขับเคลื่อนและผลักดันแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนระบบรางเป็นหลัก และ 2.9 แสนล้านบาทเพื่อลงทุนโปรเจ็กต์น้ำ

- มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

ตอนนี้ยังไม่จบเดือน 6 (มิถุนายน) เศรษฐกิจไทยเราอยู่ในหลายเซ็กเตอร์ ช่วงไตรมาส 2 เราเริ่มเห็นซอฟต์ลงนิดหน่อยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก คิดว่าบาทแข็งคงเป็นประเด็นแน่ ๆ หลายธุรกิจที่เราดีลด้วย ส่งออกดร็อป อิเล็กทรอนิกส์ต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ฟู้ดเซ็กเตอร์พอไหว

ตลาดซีเมนต์ในภูมิภาคยังแข็งแกร่ง เดือนเมษายนตัวเลขน้อยลงตามปกติ พฤษภาคมดีขึ้น เติบโตสองดิจิต แต่เมื่อ (ค่า) บาทแข็ง เห็นการนำเข้าพวกนี้เหมือนกัน...กระทบเหมือนกัน เพราะมีไม่กี่วันที่อัตราแลกเปลี่ยน 28 บาทนิด ๆ เราก็นำเข้ามาเหมือนกัน

ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งเพราะรีเสิร์ฟ (ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ) มีมาก เรามีเกษตรกรรม 9-10% ของจีดีพี ถ้าพืชผลราคาดีก็จะส่งผลดี อุตสาหกรรมก็มี 9-10% ภาคบริการก็โตขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ 50% แล้ว ท่องเที่ยวก็ดีเหลือเกิน สนามบินเที่ยวบินแน่นมาก ไฟแนนเชียล เซ็กเตอร์ก็ดี บาทมีแนวโน้มจะค่อยแข็งเรื่อย ๆ แต่ไม่อยากให้แข็งเร็ว ส่วนตัวถ้าค่าเงินบาทอยู่ในเกณฑ์ 30.4-30.5 บาทกำลังดี

- เป้าหมายเทกโอเวอร์โกลบอลเฮาส์

เรามองว่าการมูฟจากพวกเทรดิชั่นนอลไปพวกแวร์เฮาส์...สินค้าบริการพวกโฮมโซลูชั่นจะมามากขึ้น ตอนนี้ดีลเลอร์ของเราที่มีโฮมโซลูชั่นยอดขายโตขึ้นเป็น 100% พวกรูฟเซ็นเตอร์ยอดขายจะดีมาก มากกว่าร้านที่ไม่ได้มี ซึ่งเราก็ติดที่กำลังผลิตของเราเหมือนกัน

อยากเรียนว่า ของเราเมื่อเราเข้าไปในโกลบอลเฮาส์ก็ไม่ได้ตีกันกับ (ดีลเลอร์) ของเรา เพราะคนละกลุ่มลูกค้า โฮมโซลูชั่น จะขึ้นไปหาลูกค้าไฮเอนด์อีกหน่อย แต่สิ่งที่เห็นคือสินค้าของเราจะเป็นโซลูชั่นมากขึ้น

ซึ่งเราปรับไปก่อนหน้านี้แล้ว เหตุหนึ่งที่เรารวมซีเมนต์กับเรดดี้แมทีเรียลด้วยกันก็สาเหตุอันนี้ ทำให้มีความชัดเจนในการที่จะบริการลูกค้า เข้าไปในรีเทลที่จะตรงแชนเนลขึ้น รวมทั้งจะรีวิวตลาดภูมิภาค (เออีซี) ได้ชัดเจน

ผมเรียนว่าตลาดในภูมิภาคจะโตกว่าไทยแน่นอน เพราะว่าโอกาสมันเยอะ เหตุผลข้อหนึ่งคือเบส (พื้นฐาน) เรายังเล็ก มีโอกาสขยายได้อีกเยอะ คู่แข่งที่เราแข่งด้วยคิดว่าพอโอเค เพราะในเมืองไทยทุกตัวสินค้าเราก็มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดและมุ่งที่สินค้าไฮแวลู (HVA-High Value Added) มากขึ้น ๆ อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ในการซื้อกิจการจะต้องมีผลตอบแทน 15%

- ภาพก่อนและหลังยุบรวมโครงสร้างบริหาร

องค์กรเราจัดโครงสร้างอย่างนี้มา 90 กว่าปีแยกซีเมนต์ก็คือซีเมนต์ เรดดี้แมทีเรียล ดิสทริบิวชั่น 2 ปีที่ผ่านมาผมเรียนว่าทำงานก็ประสานกันอยู่แล้ว เป็นโปรเจ็กต์เบสที่ประสานกันในหลายเรื่อง (เน้น) เพราะคนเอสซีจีมองผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งแน่นอน พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มจะไม่เท่ากัน บางทีกลุ่มโน้น-กลุ่มนี้เป็นคนเสียสละ แต่ทำมาได้เพราะความเป็นคนของเอสซีจีที่เอื้อเฟื้อต่อกัน มันก็ยังมีขีดคั่นของความเป็นไซโลมาบล็อกอยู่ จบง่าย ๆ คือทลายไซโลซะ จัดองค์กรใหม่เลย โดยเอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง

เมื่อก่อนนี้คนนี้ดูแล ให้อีกคนมาเป็นตัวเสริม ยังไม่ว่างนะ พอเราจัดใหม่ เราแบ่งไปเลยให้เป็นเรื่องของทีมสตรักเจอร์ เรื่องของโครงสร้างก็ไปอีกทาง นี่คือตลาดในประเทศทั้งหมด จะชัดเจน

ตอนที่เราทำเวิร์กช็อปจะรวมโครงสร้างได้มาเยอะมาก ก็ยังมีความกังวลว่า เอ๊ะ งานตัวเองจะน้อยลง เป็นธรรมดา ไม่มีทางที่ทุกคนจะทำงานเท่าเดิมเป๊ะ คนนี้อาจจะดูว่าตัวเองลดความสำคัญหรือเปล่า

พี่กานต์ก็เดินสาย ผมบอกเขาว่าถ้างานของตัวเองลดลงหรือเหลือศูนย์เลย นั่นคือสุดยอดเลย ไปหาเรื่องทำที่มีคุณค่ามากกว่าอย่างพี่กานต์วัน ๆ ทำไมถึงได้เดินทางเยอะ ไม่ค่อยได้ทำงานอะไร (ยิ้ม) ก็เพราะว่าส่งผ่านงานให้ผู้อื่นเขาทำต่อได้ และไปหาเรื่องที่มีคุณค่า ไปครีเอตงานใหม่พอรวม (โครงสร้างองค์กร) ซินเนอร์ยี่ก็เกิดขึ้นได้ การทำ 3 คนก็เหลือ 2 คนพอ อีกคนไปเซิร์ฟลูกค้าได้ และออกมาอย่างนั้นจริง ๆ เลย โอ้โห...Opportunity ที่จะทำอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีก

ฉะนั้นเรียนว่า ลึก ๆ องค์กรที่เราจัดขึ้นมาใหม่ เป็น Market Serfing แท้ ๆ เอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง ยกตัวอย่าง กระเบื้องหลังคาเรามีอยู่ 3 ตัว เรามีกระเบื้องเซรามิกที่ทำแพงสุด มัน ๆ สวย ๆ กระเบื้องซีแพคโมเนียเป็นกระเบื้องคอนกรีตที่ราคากลาง ๆ และถูกสุดคือกระเบื้องไฟเบอร์ เมื่อก่อนนี้ 3 ธุรกิจนี้คือ 3 บริษัทนะฮะ แต่ดีลเลอร์ก็รายเดียว เซลส์ 3 คนวิ่งไปเยี่ยมดีลเลอร์รายเดียวกัน อาซ้อก็ตัดพ้อ...คุณกานต์ ที่มีแค่นี้เซลส์มาหา 3 คนจะแบ่งกันยังไง (หัวเราะ) เพราะตัวเองมีเป้ายอดขายของตัวเอง

แต่กรณีนี้กลุ่มกระเบื้องมุงหลังคาเขาปรับตัวเองแล้วสัก 2 ปี ทำเป็นโปรเจ็กต์รวมกันภายใน เลือก ผจก. (ผู้จัดการ) คนเดียวเลย

อย่างตอนที่เราจะทำเรื่องช้าง (รวมแบรนด์) พบว่าช้างมี 16 ลีลา โอ้โห...แบรนด์ของหนู โลโก้ของหนู ไม่ยอม สุดท้ายทุบเลย พี่กานต์คุยเรื่องนี้เกือบจะสองปีบอก...จบแล้ว

เบื้องต้นอย่างที่เรียน ตอนนี้ 3 รายนั้นแบ่งชัดเจน คุณตลาดบน กลาง ล่าง เวลาไปเจอลูกค้าคุณมีบัดเจตแค่นี้ใช่ไหม เหมาะกับสินค้าตัวไหน เซ็กเมนเตชั่นจะชัดเจนมาก ๆ เลยฮะ (เน้นเสียง) มาถึงระดับล่างดูแล้วเหมาะกับตัวนี้ก็ไป

อย่างไรก็ตาม จะเป็นอย่างนี้พนักงานจะต้องมีความเชี่ยวชาญในสินค้าหลายตัวมากขึ้น ก็คือมีเรื่องของทั้งความกว้างและความลึก

- โฮมมาร์ทจะเป็นยังไงต่อไป

โฮมมาร์ทกับดีลเลอร์เราก็จะดี เราจะเริ่มมีโซลูชั่นมากขึ้น ขายเป็นระบบ ตอนนี้มีทั้งระบบบาธรูม รูฟวิ่ง (หลังคา) ยังไม่ได้มีทั้งหมด ดีลเลอร์เรามี 400 กว่ารายไม่ได้มีครบทั้งหมด เรื่องของคิตเช่นก็จะมาแล้ว เป็นตัวที่เราภูมิใจเสนอ ผมไปดูมาแล้วคนไทยชอบครัวปูนมาก ๆ ปลอดปลวก เขาได้รับรางวัลดีไซน์ด้วยนะ เหมือนเป็นตัวต่อ Lego ตัวบล็อกทำไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วไปประกอบหน้างานคิตเช่นเราลงทุนเป็นโรงงาน มูลค่าลงทุนหลักร้อยล้านบาท จะไปวางจำหน่ายเป็นโซลูชั่นอยู่ในโฮมมาร์ททั้งหลาย

- กลุ่มเป้าหมายวางยังไง

ถ้าเป็นคิตเช่นยังเน้นไปที่ไซซ์ขนาดเล็กอยู่ พวกคอนโดฯ จากนั้นจะเริ่มไปที่กลุ่มเฮาซิ่งมากขึ้น เพราะคอนโดฯจะไปได้ทั้งสองอย่างคือชุดครัวปูนกับ MDF (ไม้สังเคราะห์)

- โซลูชั่นยังจะมีอะไรอีก

ก็มีวอล ฟลอร์ ซีลลิ่ง แยกเป็นระบบ ๆ เลย อย่างรูฟก็มีโซลูชั่นชัดเจน กระเบื้องหลังคาก็มีแยกชัดเจน ผมแนะนำถ้าบ้านอย่างน้อยต้องปู 12 นิ้ว (ตัวกันความร้อน) อย่าไปทำนิ้ว-สองนิ้ว

- การปรับโครงสร้างนิ่งหรือยัง

ก็นิ่งแล้วนะ อาจจะขยับอะไรอีกนิดหน่อย ตอนนี้โครงสร้างการบริหารค่อนข้างจบ อย่างเคมิคอลเขาก็ปรับตลอดไม่ได้ กระดาษก็ปรับตลอด ต้องเฟรชตลอด

- ล่าสุดซื้อโตโต้กลับมา

เราซื้อคืนกลับมาเกือบ 100% เพราะโตโต้ก็มีแบรนด์ของเขา มีแนวทางของตัวเอง ทำให้เรามีพื้นที่เยอะมากที่จะเข้ามาในภูมิภาค เมื่อก่อนมีข้อตกลงกันว่าเราจะเข้าตลาดนั้นได้-ไม่ได้ ตอนนี้เต็มที่จะไปซื้อกิจการแบรนด์ไหนในโลกก็ได้แล้วตอนนี้

 

ที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์18 มิ.ย. 2556