ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
21 ก.ค.2559

ตลาดรับสร้างบ้านกำลังซื้อ “ซึมยาว” คาดปีนี้หดตัว 3%

Line

        นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน “สิทธิพร สุวรรณสุต” ประเมินสถานการณ์ตลาด “รับสร้างบ้าน” ทั้งปีหดตัว 3% กำลังซื้อผู้บริโภคซึมยาว ระบุไตรมาส 3 คาดการณ์ยาก มองไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน

        นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA) เปิดเผยว่า สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 3 นี้ ยอมรับว่าคาดการณ์ยาก อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่เตรียมพร้อมและปรับตัวรับมือไว้ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าคงได้รับผลกระทบไม่มาก ส่วนรายที่ปรับตัวไม่ทันอาจยากลำบาก เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์กำลังซื้อผู้บริโภคที่ซึมยาว และการแข่งขันของรายผู้นำตลาดที่มีความได้เปรียบหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะชื่อเสียงของแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคมากกว่า การบริหารได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า

        โดยก่อนหน้านี้ สมาคมฯ คาดการณ์ตลาด “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศ มีมูลค่าราวๆ 8-9 หมื่นล้านบาท และประเมินว่าตลาด “รับสร้างบ้าน” โดยกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านมีแชร์ส่วนแบ่งประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2559 ทั้งนี้จากสถานการณ์ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ตลาดรับสร้างบ้านยังไม่คึกคักเท่าที่ควร ดังนั้น สมาคมฯ จึงปรับประมาณการแชร์ส่วนแบ่งกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านลดลง 3% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท โดยตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มชะลอตัวมากที่สุด

        แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 3 นี้ ผู้ประกอบการมีมุมมองและความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งมองว่ากำลังซื้อผู้บริโภคจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยจับสัญญาณได้จากความต้องการสร้างบ้านที่เพิ่มขึ้นในช่วงท้ายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กอปรกับในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปี บรรดาผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มักจะมีการโหมจัดกิจกรรมการตลาดกันคึกคัก จึงเชื่อว่าตลาดรับสร้างบ้านมีโอกาสขยายตัว

       ส่วนอีกด้านหนึ่งประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัว ได้แก่ ผลกระทบ Brexit ตามที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรปหรืออียู ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและการเมือง ภัยธรรมชาติ ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำและเกษตรกรส่วนใหญ่รายได้ลดลง ปัญหานักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตหรือหนีไปลงทุนประเทศอื่น รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หากผ่านประชามติทุกอย่างก็เดินหน้าตามกระบวนการ แต่หากไม่ผ่านก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าการเมืองประเทศไทยจะไปทางใด ด้วยเพราะรัฐบาลปัจจุบันก็ยังไม่มีการประกาศแนวทางที่ชัดเจน

 
ที่มา : http://www.ddproperty.com
( วันทีี่ 20 กรกฎาคม 2559 )