ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
31 ส.ค.2559

"สมคิด" ชงไฮสปีดกรุงเทพฯ-ระยอง รับ EEC แสนล้าน

Line

        "สมคิด" บูมเขตเศรษฐกิจตะวันออก เอกชนขอขยายสัมปทานไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-ระยอง เป็น 50 ปี เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์พันไร่ กนอ.เคลียร์ที่ดิน 3 หมื่นไร่ รับลงทุนแสนล้าน

        เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังประชุมโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง และการจัดการอสังหาริมทรัพย์พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ว่า ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน EEC ได้นำเสนอรายละเอียดความคืบหน้ารูปแบบครบวงจรของโครงการ EEC ต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีพอใจเป็นอย่างมาก โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะนำข้อสังเกตของนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมในรายละเอียด และจะใส่ไว้เป็นแผนแม่บทและบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งคณะทำงาน 1 ชุด เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติ โดยให้ทยอยนำโครงการต่าง ๆ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติ เช่น โครงการรถไฟฟ้า ท่าเรือและสนามบิน

        รายงานความคืบหน้าครั้งนี้ได้ให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นำไปเป็นเครื่องมือประกอบการเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปประเมินแผนแม่บทว่าจะต้องมีระบบไฟแนนซ์ซิ่งอย่างไร อาทิ งบประมาณและภาระหนี้ในอีก 10 ปีเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ ไม่เป็นภาระงบประมาณ โดยมีภาครัฐและภาคเอกชนทำงานร่วมกัน

        การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามผลการดำเนินงาน หลังจากนายกรัฐมนตรีให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และคณะทำงาน ไปศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในโครงการรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นตะวันออก (กรุงเทพฯ-ระยอง) กรุงเทพฯ-โคราช กรุงเทพฯ –หัวหิน และกรุงเทพฯ-พิษณุโลก มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง กี่สถานี พื้นที่ใดบ้างเพื่อพัฒนาพื้นที่ ในเรื่องอัตราการตอบแทนด้านการเงินเป็นอย่างไร เนื่องจากต้องออกประกาศทีโออาร์เพื่อเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีให้ข้อสังเกต สนข.ให้ไปศึกษาการพัฒนาในพื้นที่แนวดิ่งด้วยนอกเหนือจากแนวราบ อาทิ ตึกสูง ซึ่งจะเป็นตัวเพิ่มรายได้ในอนาคตข้างหน้า

        นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ ฯ-ระยอง เป็นเครื่องมือตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ในโครงการ EEC อย่างมาก โดยเส้นทางดังกล่าวเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี แต่จากการรับฟังจากภาคเอกชนได้เสนอขอเพิ่มระยะเวลาสัมปทานเป็น 50 ปี ซึ่ง สนข.ก็เห็นด้วย เนื่องจากระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวมีมูลค่าโครงการสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาระยะยาวเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน

        นอกจากนี้ภาคเอกชนยังเสนอขอขยับสถานีไปในพื้นที่ที่มีเนื้อที่จำนวนมากขนาดตั้งแต่ 1 พันไร่ขึ้นไป เพื่อที่จะสามารถพัฒนาได้ในระยะยาว เนื่องจากพื้นที่เวนคืนตามแนวทางที่ สนข.ศึกษาไว้เป็นสถานีเดิมตามเส้นทางของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีเนื้อที่จำนวนไม่มาก ทำให้เอกชนมองว่าผลตอบแทนทางธุรกิจมีน้อยและไม่คุ้มทุน เช่น บางสถานีมีพื้นที่โดยรอบ 20-30 ไร่ ถึงแม้จะพัฒนาพื้นที่ในแนวดิ่งแล้วก็ตาม

        อย่างไรก็ตาม เมื่อยึดตามแนวเส้นทางเดิมของ ร.ฟ.ท.รัฐจึงไม่ต้องเวนคืน แต่หากเอกชนเสนอขอปรับแนวเส้นทางจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแนวจากเส้นทางเดิม และทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มและกระทบกับมูลค่าโครงการเดิมที่กำหนดไว้เพราะรัฐต้องไปจ่ายค่าเวนคืนซึ่งราคาค่อนข้างแพง ซึ่งจะทำให้โครงการไม่มีความเป็นไปได้ นอกจากนี้ยังต้องวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่

        "เป็นเรื่องของเอกชนที่จะเป็นผู้เสนอมา แต่ สนข.มีเพียงข้อมูลให้ว่าเส้นทางเดิมมีกี่สถานี พื้นที่ขนาดเท่าไร เพื่อให้เอกชนไปคำนวณความคุ้มค่า ถ้ามองว่าไม่คุ้มค่าจะขอปรับเส้นทางสถานีออกมาเล็กน้อย เช่น สถานีพัทยา โดยเอกชนเป็นผู้จัดหาพื้นที่เองและสร้างเมืองเองก็เป็นเรื่องของเอกชน แต่รัฐไม่สามารถเป็นคนเสนอได้เพราะรัฐต้องการต้นทุนที่ต่ำที่สุด"

        ดังนั้นจึงได้เสนอกต่อที่ประชุม ว่าหลักการการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกับการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการ สามารถทำควบคู่กันได้เพราะจะลดภาระการลงทุนของภาครัฐแต่ควรให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินโครงการและได้ผลประโยชน์ตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน

        "ส่วนข้อเสนอของเอกชนให้ปรับเปลี่ยนเส้นทางจะทำให้โครงการดำเนินได้ตามแผนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเอกชนในการจัดหาพื้นที่ อย่างไรก็ตามโครงการนี้มีแผนก่อสร้างเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมกับโครงการ EEC ทั้งนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP จะเป็นผูู้ตัดสินใจ รวมถึงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน"

        นอกจากนี้ สนข.มีแนวคิดต้องการเชื่อมโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ให้เข้ากับแอร์พอตร์ลิงค์เพื่อเชื่อมกันสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมืองและปลายทางไปถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา

        ทั้งนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับ ร.ฟ.ท.จากการเช่าพื้นที่และค่าธรรมเนียมมูลค่าเป็นแสนล้านภายในระยะเวลา 30 ปี

        ด้านนายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบแผนและให้ไปเร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนให้เป็นไปตามแผนโครงการ EEC สำหรับพื้นที่ที่ กนอ.รับผิดชอบ คือ พื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม 5 ปีแรก จำนวน 3 หมื่นไร่ คิดเป็นปีละ 6 พันไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นิคมที่พร้อมให้เอกชนเข้ามาลงทุนได้ทันที 1.5 หมื่นไร่ ซึ่งนักลงทุนต่างจากต่างประเทศจะเดินทางมาสำรวจพื้นที่ประมาณปลายเดือนกันยายนนี้ อีกพื้นที่เป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาสาธารณูปโภคอีก 1.5 หมื่นไร่ คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาและพร้อมให้เอกชนเข้ามาลงทุนประมาณ 1 ปี นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาต่อหลังจาก 5 ปี อีก 8 หมื่นไร่
 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
( วันที่ 31 สิงหาคม 2559 )