ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
21 ก.ย.2559

"บิ๊กตู่"รื้อใช้ที่ดินรัฐ3ล.ไร่ ชะลอให้"สัมปทาน"-พันแปลงค้างเติ่ง

Line
        นายกฯตู่ออกคำสั่งพิเศษดึงบิ๊ก คสช.คุมที่ดินรัฐ ทั้งป่าสงวนฯ ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ ที่ดินกองทัพ ที่ราชพัสดุ สั่งมหาดไทยสำรวจพื้นที่ถูกบุกรุกนำมาบริหารจัดการใหม่ ชะลอ "ให้สัมปทาน ขออนุญาตใช้ประโยชน์ ต่อสัญญาเช่า" ชั่วคราว เอกชน-ราชการยื่นคำขอกิจการเกษตร-เหมืองแร่ค้างกว่าพันแปลง

        แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งพิเศษ ให้มีการจัดการระบบถือครอง และการอนุญาตการใช้ที่ดินของรัฐใหม่ทั้งระบบ โดยสั่งให้มีการชะลอการขออนุญาตจากส่วนราชการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, เอกชนที่ต้องการใช้ที่ดินของป่าสงวนแห่งชาติ, ที่ดินกรมป่าไม้ และที่ดินประเภทอื่นทั้งหมดไว้ก่อน จนกว่าการวางระบบการบริหารจัดการการถือครองใหม่แล้วเสร็จ

จัดระบบใช้ที่ดินรัฐ

        ทั้งนี้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการตามคำสั่งพิเศษครั้งนี้ประกอบด้วยพล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรองประธาน คสช., พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่ปรึกษาและเลขานุการ คสช. และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้บัญชาการทหารบก

        "นายกรัฐมนตรีต้องการเร่งรัดการจัดการที่ดินของประเทศใหม่ทั้งระบบ ทั้งที่ดินที่เป็นป่าอนุรักษ์, ป่าชุมชน, ป่าเศรษฐกิจ, ป่าสงวนฯ, ที่ดินของกองทัพ, ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ที่ถูกบุกรุกซึ่งขณะนี้มหาดไทยได้สำรวจไว้แล้ว โดยจะนำมารวบรวม แล้วบริหารจัดการการถือครองใหม่ ทำข้อตกลงการใช้ใหม่ทั้งหมด เช่น การต่อสัญญาเช่า, สัญญาสัมปทาน, การอนุญาตประกอบการเพื่อธุรกิจ และเพื่อราชการ" แหล่งข่าวกล่าว

 


 

ขอใช้ประโยชน์พันแปลงติดล็อก

        แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ดังนั้นระหว่างที่มีการจัดรูปที่ดินใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้บรรดาส่วนราชการ เอกชน ที่ขออนุญาตใช้ที่ดินทั้งหมด ให้ชะลอการพิจารณาไว้ก่อนโดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนฯ ที่มีการขออนุญาตใช้มากที่สุด โดยขั้นตอนจากนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สำรวจที่ดินที่มีการบุกรุก ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 เพื่อพิสูจน์สิทธิและให้ย้ายออก จากนั้นจะนำเสนอบัญชีรายการที่ดินต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ และนำเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมการจัดการที่ดินแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

        สำหรับที่ดินที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตการใช้งาน ณ กันยายน 2559 ทั้งสิ้น 1,047 รายการ แบ่งเป็นส่วนราชการ 610 รายการ ภาคเอกชน 437 รายการ ส่วนใหญ่เป็นกิจการเหมืองแร่, การปลูกปาล์ม ยาง เป็นต้น

เปิดโพยรัฐ-เอกชนใช้พื้นที่ป่า

        ส่วนที่ดินที่ได้รับการอนุมัติการใช้งานประเภท"ป่าสงวนแห่งชาติ"ณสิ้นเดือนสิงหาคม2559มีทั้งสิ้น8,919 ราย จำนวนที่ดิน 3,795,337 ไร่ ซึ่งต้องขออนุญาตต่อสัญญาสัมปทาน โดยกลุ่มที่ขอใช้ที่ดินมากที่สุด 10 อันดับ คือ 1.คำขอจากกรมชลประทาน 1,736 รายการ 570,152 ไร่ 2.คำขอเพื่อกิจการเหมืองแร่ 1,529 รายการ 310,417 ไร่ 3.กิจการการศึกษา 1,129 รายการ 75,892 ไร่ 4.เพื่อสร้างวัด สถานปฏิบัติธรรม 1,013 รายการ 47,633 ไร่ 5.การสร้างถนน-ทาง 862 รายการ 125,320 ไร่

        6.จัดสร้างสถานที่ราชการ 802 รายการ 349,478 ไร่ 7.สร้างกิจการไฟฟ้า 436 ราย 73,781 ไร่ 8.เพื่อที่อยู่อาศัยของประชาชน 405 รายการ 1,463,015 ไร่ 9.ปลูกสร้างส่วนป่า ยางพารา ปาล์ม 308 รายการ 439,141 ไร่ 10.ทำนากุ้ง ที่ทิ้งขยะ อื่น ๆ 164 รายการ 39,483 ไร่

ตั้งซูเปอร์บอร์ดคุมที่รัฐวิสาหกิจ

        ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า นายกฯมีนโยบายให้พิจารณานำที่ดินที่รัฐได้จากการเวนคืนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย ครม.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเวนคืน ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถนำที่ดินที่ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยเคารพสิทธิของผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดินด้วย เช่น อาจเปิดให้ประชาชนที่ถูกเวนคืนขอที่ดินที่รัฐยังไม่ได้ใช้ประโยชน์กลับคืนได้ในระยะเวลาหนึ่ง สมมุติ 10 ปี เป็นต้น แต่หากรัฐใช้ประโยชน์ต่อเนื่องก็นำไปใช้ได้ แต่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการระดับชาติที่ให้คลังพิจารณาแต่งตั้งขึ้น

        นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ครม.มีนโยบายให้ตั้งคณะกรรมการเหมือน "ซูเปอร์บอร์ด" ขึ้น ทำหน้าที่พิจารณาการนำที่ดินที่มีในมือรัฐวิสาหกิจไปใช้ประโยชน์ อาทิ ที่ดินของ ร.ฟ.ท. ที่ดินการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นต้น

ส่งตีความที่ดิน "มักกะสัน"

        ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีที่ดิน ร.ฟ.ท.บริเวณมักกะสันนั้น ปัจจุบันกรมธนารักษ์ยังอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ เนื่องจากคลังกังวลว่าการนำที่ดินมักกะสันมาแลกกับหนี้ รวมถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ อาจจะขัดกับกฎหมายเวนคืน ที่มีการระบุวัตถุประสงค์การเวนคืนที่ดินเอาไว้ว่าจะนำมาใช้ในกิจการอะไร หากเวนคืนก่อนปี 2521 อาจจะดำเนินการได้ แต่หลังจากนั้นมีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าทำไม่ได้ หากกฤษฎีการะบุว่า ไม่สามารถแลกกับหนี้กว่า 6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้คลังนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ทาง ร.ฟ.ท.ก็อาจจะต้องพัฒนาที่ดินมักกะสันเชิงพาณิชย์เอง จากนั้น ร.ฟ.ท.ค่อยนำรายได้มาชำระหนี้

เปิดรายละเอียดมติ ครม.ปี′41

        รายงานข่าวจากกรมป่าไม้เปิดเผยว่า มติ ครม.เมื่อ 30 มิถุนายน 2541 ให้ความเห็นชอบมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ 2 ด้าน 1) ด้านการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ จำแนกพื้นที่เป็น 3 ประเภท คือ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย และป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. พื้นที่อื่น ๆ ที่สงวนหรืออนุรักษ์ไว้เพื่อกิจการป่าไม้ 2) ด้านการป้องกันพื้นที่ป่าและอื่น ๆ

        มาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และเขตอนุรักษ์ป่าชายเลน กำหนดให้ 1.กรมป่าไม้สำรวจพื้นที่ที่มีการครอบครอง และขึ้นทะเบียนผู้ครอบครอง นำมาใช้เป็นข้อมูลในการจัดการเพื่อการอนุรักษ์ และพัฒนาอย่างยั่งยืน 2.ให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามแผนจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ระดับพื้นที่ (มติ ครม. 16 กันยายน 2540)

        แนวทางดำเนินการให้มีการสำรวจตรวจสอบขอบเขตป่า การใช้ประโยชน์ การถือครอง ผู้ใช้ประโยชน์ผู้ถือครอง รวมทั้งสภาพพื้นที่ป่า สภาพปัญหา โดยตรวจสอบสภาพการใช้ที่ดินจากภาพถ่ายทางอากาศครั้งแรกหลังประกาศเป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมาย สำรวจวางแผนกำหนดความเหมาะสมของที่ดิน ร่องรอยการทำประโยชน์ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐาน จากนั้นจะตรวจพิสูจน์โดยมีแนวทางดำเนินการดังนี้

        1.กรณีเป็นพื้นที่ที่อยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้และไม่เป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศจะออกหนังสืออนุญาตสิทธิทำกิน(สทก.)ให้อยู่อาศัยทำกินต่อไป2.กรณีที่อยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ แต่เป็นพื้นที่ล่อแหลม ให้ผู้ถือครองย้ายไปในพื้นที่ที่เหมาะสม 3.อยู่อาศัยภายหลังการประกาศเป็นพื้นที่ป่าให้ออกจากพื้นที่ ฯลฯ

 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
( วันที่ 21 กันยายน 2559 )