หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

รู้สักนิดถ้าคิดจะปลูก "ต้นไม้ใหญ่"

Line

รู้สักนิดถ้าคิดจะปลูก "ต้นไม้ใหญ่"

Line

 

          คำถามเริ่มต้นสำหรับคนรักต้นไม้และอยากปลูก “ต้นไม้ใหญ่” ไว้ที่บ้าน เช่น ต้นใหญ่ไปไหม? จะปลูกได้หรือเปล่า? ปลูกแล้วจะมีปัญหากับโครงสร้างหรือไม่? ต้องมีเนื้อที่แค่ไหนถึงจะปลูกต้นไม้ใหญ่ได้? ฯลฯ มาไขปัญหาเหล่านี้ด้วยคำแนะนำด้านล่างดูค่ะ



ต้นใหญ่ไปไหม?

          ลักษณะของต้นไม้จะแยกตามขนาดของทรงพุ่มและลักษณะเรือนยอด ซึ่งมีรายละเอียดเหมาะสมกับขนาดพื้นที่ ดังนี้

          - พื้นที่แคบ เช่น พื้นที่สวนริมรั้ว หรือพื้นที่หลังบ้านเล็กๆ ขนาดกว้างประมาณ 2.50 – 3 เมตร สามารถเลือกใช้ ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2.50 – 6 เมตร และมีลักษณะเรือนยอดสัมพันธ์กับพื้นที่ คือ เรือนยอดแคบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่มไม่เกิน 6 เมตร เช่น อโศกอินเดีย ศรีตรัง จำปี

          - พื้นที่ขนาดกลาง ได้แก่ สวนในบ้านจัดสรรที่มีเนื้อที่ 70 – 120 ตารางวา อาจเป็นสวนหน้าบ้าน สวนหลังบ้าน หรือบริเวณลานจอดรถสามารถเลือกใช้ ไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 6 – 15 เมตร และมีขนาดเรือนยอดปานกลาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 – 10 เมตร เช่น ปีบ แคนา สุพรรณิการ์ อินทนิล ประดู่ ตีนเป็ดน้ำ น้ำเต้าต้น

          - พื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น บ้านที่มีพื้นที่กว้างกว่า 120 ตารางวา สวนสาธารณะหรือไม้ริมถนน สามารถเลือกใช้ ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป และมีเรือนยอดกว้าง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 10 เมตร เช่น หางนกยูงฝรั่ง หูกระจง สัตบรรณ

 


ควรกะระยะปลูกอย่างไรดี?

          โดยปกติไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกทั่วไปจะมีขนาดทรงพุ่มเมื่อโตเต็มที่กว้างประมาณ 7 – 8 เมตร ดังนั้นระยะปลูกควรอยู่ห่างจากอาคารอย่างน้อยประมาณ 5 เมตร เพื่อป้องกันรากดันตัวโครงสร้างของอาคาร และกิ่งก้านที่แผ่ดันหลังคาหรือรางน้ำ หากปลูกชิดกำแพงมากเกินไป ลำต้นจะเอนหาแสงทำให้รูปทรงไม่สวยงาม หากปลูกริมรั้วหรือแนวกำแพง ควรปลูกห่างจากกำแพงอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อป้องกันระบบรากดันคานหรือเสารั้วจนเกิดควาเสียหาย โดยเฉพาะไม้ที่มีเรือนยอดขนาดใหญ่และมีระบบรากแข็งแรง เช่น จามจุรี ชมพูพันธุ์ทิพย์ หางนกยูงฝรั่ง ไทร ยางอินเดีย และทองหลาง ไม่ควรเลือกปลูกชิดรั้วหรือตัวอาคารโดยเด็ดขาด


 


 
อยากได้ไม้ใหญ่แต่มีพื้นที่จำกัดต้องทำอย่างไร?

          หากต้องการปลูกต้นไม้ชนิดนั้นจริงๆ หนทางที่พอทำได้คือจำกัดการเจริญเติบโตของต้นไม้ได้ ดังนี้

           1. ควบคุมการเจริญเติบโตของราก สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

           1.1 การปลูกต้นไม้แบบฝังกระถาง สำหรับไม้ที่ไม่ใหญ่มากสามารถเลือกฝังเลย หรือทุบก้นกระถางออกก่อนก็ได้ เพื่อไม่เป็นการจำกัดการเจริญเติบโตมากจนเกินไป

          1.2 การสร้างกระบะปลูกต้นไม้ สำหรับไม้ที่ใหญ่เกินกว่าจะปลูกลงในกระถาง เพื่อให้ต้นไม้เจริญได้เฉพาะตำแหน่งและพื้นที่ที่กำหนดไว้ สามารถทำได้ทั้งการก่อกระบะบนผิวดินและฝังไว้ใต้ดิน โดยทั่วไปแล้ว การเจริญเติบโตของทรงต้นจะสัมพันธ์กับการแตกทรงพุ่ม ทำให้เราสามารถบังคับทรงพุ่มให้มีขนาดที่ต้องการได้

 

 

          2. การตัดแต่งทรงต้น เบื้องต้นนั้นเมื่อต้นไม้ถูกตัดกิ่งด้านข้างออก อาหารที่สะสมอยู่จะไปเลี้ยงส่วนที่เหลือคือส่วนยอด ต้นก็จะเจริญตามความสูงได้ดีขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อต้นถูกตัดส่วนยอดออก อาหารก็จะถูกส่งไปเลี้ยงที่กิ่งด้านข้าง ต้นก็จะเจริญเติบโตทางด้านข้างมากขึ้น ผู้ปลูกจึงสามารถบังคับการเจริญเติบโตของต้นไม้ให้มีขนาดหรือรูปทรงต่างๆ ได้ตามต้องการ โดย

          2.1 การตัดแต่งเพื่อบังคับรูปทรง เช่น ตะแบก เสลา อินทนิลน้ำ ขณะที่ยังมีขนาดเล็ก ต้นจะแตกกิ่งก้านจำนวนมาก ลำต้นไม่แข็งแรง จำเป็นต้องตัดกิ่งทางด้านข้างออกให้หมด เพื่อให้โคนต้นโปร่ง เหลือเฉพาะกิ่งด้านบน และเรือนยอดจะได้รูปทรง ส่วนบางต้น เช่น ประดู่ ชมพูพันธุ์ทิพย์ ขณะต้นยังเล็กจะเจริญตามความสูงค่อนข้างมากและไม่ค่อยแตกกิ่งก้านด้านข้าง ซึ่งมีผลทำให้ต้นสูง วิธีแก้ไขคือ ตัดยอดให้ได้ความสูงตามที่ต้องการ จากนั้นต้นก็จะแตกกิ่งทางด้านข้างเพิ่มขึ้น

          2.2 การตัดแต่งกิ่งเพื่อบังคับขนาด กรณีที่ปลูกไม้ต้นในพื้นที่จำกัด เช่น ริมถนนที่มีสายไฟหรือบริเวณสิ่งก่อสร้าง เมื่อต้นไม้มีขนาดใหญ่เกินไปจนก่อให้เกิดความเสียหาย เราสามารถตัดแต่งให้ได้ทรงพุ่มตามขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งนี้ควรคำนึงถึงชนิดของต้นไม้ด้วย และควรปฏิบัติในช่วงฤดูหนาวหรือขณะที่ต้นกำลังผลัดใบ จะช่วยให้เห็นกิ่งก้านที่ต้องการตัดได้ชัดเจนและสะดวกต่อการปฏิบัติงาน

 
ที่มา : home.sanook.com
(วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560)
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line