หน้าแรก / สาระน่ารู้ / รักษ์พลังงาน รักษ์โลก
รักษ์พลังงาน รักษ์โลก
หน้าแรก / รักษ์พลังงาน รักษ์โลก

วัสดุทดแทนไม้จริง ความสวยงามที่มาพร้อมการอนุรักษ์

Line

วัสดุทดแทนไม้จริง ความสวยงามที่มาพร้อมการอนุรักษ์

Line

การออกแบบและก่อสร้างในปัจจุบัน กระแสการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม กำลังเป็นเรื่องที่สังคมโลกและนักออกแบบรวมถึงเจ้าของบ้านให้ความสำคัญและได้รับการหยิบยกมาเป็นประเด่นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้ที่กำลังหมดไปอย่างน่าใจหาย

รวมถึงวงการก่อสร้างและออกแบบก็มีส่วนไม่น้อยในการใช้ไม้ ทั้งทำโครงสร้าง ตกแต่งภายใน หรือ เฟอร์นิเจอร์ จึงมีบริษัทหลากหลายผลิตสินค้าทดแทนการใช้ไม้ออกมาให้เราได้เลือกใช้อย่างมากมายหลายรูปแบบ ทั้งพื้น ผนัง เพดาน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ หรือ แม้แต่โครงสร้าง ก็ได้มีการพัฒนาวัสดุผสมที่มีความแข็งแรงเทียบเท่าหรือเหนือกว่าไม้ แต่ยังคงอารมณ์ของไม้เอาไว้ได้เป็นอย่างดี เป็นตัวเลือกที่ดีให้กับพวกเราที่จะหันมาเริ่มเปลี่ยนแปลงค่านิยมการใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่น้อยนิด หรืออาจจะเริ่มจากการลดเป็นบางอย่างก็ยังดีครับ เพื่อโลกของเราจะได้มีป่าไม้สวยๆ และอากาศบริสุทธิ์ไว้ให้เราได้หายใจกันนานๆ

คุณสมบัติของวัสดุที่จะมาทดแทนไม้ธรรมชาติ

แน่นอนที่สุด ถึงเราจะเรียกมันว่าวัสดุทดแทนไม้แต่เราก็อยากให้ได้ความรู้สึกว่า “เป็นไม้”  อย่างน้อยๆ ก็รูปลักษณ์ภายนอก ถ้าได้ผิวสัมผัสด้วยก็จะเจ๋งมาก นอกจากนี้วัสดุเหล่านี้ควรจะมีคุณสมบัติทางกายภาพใกล้เคียงหรือเหนือกว่าไม้ด้วย เช่น ต้องไม่เปื่อยยุ่ยเมื่อเจอน้ำ กันปลวกได้ ไม่สะสมความร้อนจากแสงอาทิตย์และเป็นฉนวนกันเสียงได้ ที่สำคัญคือต้องตัดและเลื่อยเป็นขนาดต่างๆที่ต้องการได้ รวมถึงสามารถตอกตะปูหรือใช้สกรูได้เหมือนไม้จริงนั่นเอง เหล่านี้ควรจะเป็นคุณสมบัติของวัสดุทดแทนไม้ที่เราควรให้ความใสใจในการเลือกซื้อ แน่นอนว่า วัสดุที่เราเลือกอาจไม่ได้มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบ แต่ก็ขอให้มีมากที่สุดก็พอครับ

การเลือกใช้วัสดุทดแทนไม้ให้ถูกที่ถูกทาง

เนื่องจากวัสดุทดแทนไม้นั้นมีหลากหลายรูปแบบและหลากหลายผิวสัมผัส แน่นอนว่าบางตัวก็ออกมาเหมือนไม้มากแม้แต่ผิวสัมผัสก็ใกล้เคียง แต่บางชนิดอาจจะออกมาใกล้เคียงแค่ลายและสีของไม้แต่ผิวสัมผัสยังดูไม่เนียนนัก ข้อแนะนำในการเลือกใช้ง่ายมากๆ ครับคือ เราควรจะเลือกใช้วัสดุที่มีผิวสัมผัสคล้ายไม้ที่สุดในบริวณที่นำไปใช้งานจริงเช่น ระเบียงไม้ ผนังไม้ชั้นล่าง ระแนงสระว่ายน้ำ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้งานยังคงรับรู้อารมณ์ของไม้ได้มากที่สุด ในขณะที่พื้นที่ไหนที่การสัมผัสเป็นเพียงแค่การสัมผัสด้วยสายตาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ลูบคลำหรือสัมผัสหรือเราอาจจะเห็นมันในระยะไกล เช่น ผนังอาคารชั้นสูงๆ ระแนงหลังคา ฝ้าเพดาน ตำแหน่งพวกนี้เราสามารถใช้วัสดุที่ มีความเหมือนไม้ น้อยลงมาอีกนิดแต่อาจเบาหรือราคาถูกกว่ามาใช้งานแทนได้นั้นเองครับ คราวนี้เรามาลองดูกันซิว่าเราจะเปลี่ยนไปใช้อะไรได้บ้างและมันดีกว่าหรือทดแทนไม้ได้อย่างไรกัน


1. ไม้ลามิเนต (Laminate Floor) คำว่า ลามิเนต หมายถึงกระบวนการ ในการนำเอาวัสดุมากกว่า 2 ชิ้น มาบีบอัดติดกันเป็นชั้นๆนั่นเอง สำหรับไม้ลามิเนตคือการนำเอาวัสดุทดแทนต่างๆที่เป็นวัสดุ รีไซเคิล เช่น ชานอ้อย เศษไม้อัด ขี้เลื่อย เศษไม้ หรือ MDF มาผสมกับเรซิ่นหรือวัสดุยึดติดชนิดอื่นๆ แล้วอัดจนเป็นแผ่น แล้วสุดท้ายก็เอาแผ่นไม้จริงชนิดต่างๆ ที่เป็นแค่ฟิล์มแผ่นบางๆ มาอัดบนผิวหน้า เป็นอันพร้อมใช้งาน ความหนาที่มีในท้องตลาดก็เช่น 8 มม. 12 มม. เป็นต้น  พื้นไม้ลามิเนตจะให้อารมณ์ของความเป็นไม้ค่อนข้างมาก เพราะมันเอาไม้จริงมาเป็นผิวหน้า วิธีติดตั้งคือการเข้าลิ้นแบบพื้นไม้จริงๆ นั่นเองครับ

 
 

ข้อดี ได้อารมณ์ของความเป็นพื้นไม้ทั้งผิวสัมผัส กลิ่น และลวดลาย อีกทั้งยังหาซื้อง่ายมาก รวมถึงมีแบบให้เลือกมากมาย ราคามีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหลายๆพันให้เลือกซื้อตามกำลัง ติดตั้งง่าย และ สามารถเลื่อยตัดได้เหมือนไม้จริง
ข้อเสีย ถึงแม้จะมีรูปลักษณ์และผิวสัมผัสเหมือนไม้แค่ไหน แต่มันก็เป็นเพียงผิวหน้าเท่านั้น แผ่นไส้ด้านในยังคงเป็นวัสดุทดแทนที่จะมีความทนทานไม่เท่าวัสดุไม้ จึงไม่ทนน้ำและความชื้น ทำให้ใช้ได้เฉพาะภายในอาคารเท่านั้น มีคุณสมบัติกันปลวกได้ในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นในระยะยาวปลวกก็สามารถขึ้นได้เหมือนไม้จริง
 

2. Engineer wood ลักษณะโดยรวมของวัสดุตัวนี้เหมือน พื้นลามิเนต รวมถึงกระบวนการอัดแผ่นด้วย แต่ความแตกต่างคือวัสดุที่นำมาใช้จะมีมาตฐานและความคงทนมากกว่า นั่นคือแผ่นไม้จริงด้านบนจะหนาอย่างน้อย 5 มม. โดยมีแผ่น PDF หรือ HDF เป็นฐานตัวไม้จึงมีความทนทานแข็งแรงมากกว่าพื้นไม้ลามิเนต รวมทั้งมองภายนอกเหมือนไม้จริงมาก และดูหรูหรากว่า แต่วัสดุตัวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุนำเข้าทำให้ราคาค่อนข้างสูง

 

ข้อดี ได้อารมณ์ของความเป็นพื้นไม้เต็มๆ ทั้งผิวสัมผัส กลิ่นและลวดลาย สามารถเลื่อยตัดได้เหมือนไม้จริง และผิวมีความทนทานมาก
ข้อเสีย มีความทนทานกว่าพื้นไม้ลามิเนต แต่ก็ยังไม่ทนน้ำและความชื้น จึงใช้ได้เฉพาะภายในอาคารเท่านั้น มีคุณสมบัติกันปลวกได้ในระดับหนึ่ง มีบางรุ่นที่ทนน้ำและใช้ภายนอกอาคารได้แต่ราคาสูง ซึ่งอาจจะสูงกว่าไม้จริงเสียอีก
 

3. ไม้เทียมจากไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fiber cement wood) Fiber cement นับเป็นวัสดุทดแทนไม้ที่คนไทยคุ้ยเคยมานาน เพราะมีการนำมาใช้ในประเทศไทยเกิน 10 ปีแล้ว วัสดุที่นำมาทำก็คือ เยื่อไม้โดยนำมาผสมกับซีเมนต์ แล้วผ่านกรรมวิธีอัดขึ้นรูปตามขนาดและความหนารวมถึงรูปทรงที่ต้องการ ซึ่งมีขนาดมาตฐานเดียวกับขนาดและความหนาของไม้จริงนั่นแหละครับ และมีคุณสมบัติทางกายภาพเหมือนวัสดุไม้เกือบ 100 % จะต่างกันบ้างก็คือผิวสัมผัส ซึ่งแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ที่ได้เปรียบกว่าการใช้ไม้จริงก็คือ ความคงทน สามารถตัดแต่งหรือเลื่อยได้เหมือนไม้ทั่วไป ที่สำคัญปลวกไม่กิน 100 % และสามารถนำมาใช้งานภายนอกที่เจอฝนเจอแดดได้อย่างสบายๆ จึงเป็นที่นิยมในการนำมาทำพื้นระเบียงภายนอกอาคาร หรือรั้วบ้าน เรียกได้ว่าไม้ทำอะไรได้เจ้านี้ก็ทำได้เช่นกัน และยังสามารถย้อมสีเป็นสีไม้ต่างๆตามต้องการได้ด้วย

 

ปัจจุบันไฟเบอร์ซีเมนต์ ถูกผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่นำมาใช้งานได้โดยไม่ต้องแปรรูปหรือแม้แต่ต้องทาสีทับอีก เช่น ไม้พื้น ไม้เชิงชาย ไม้ระแนง ไม้ระแนงฝ้าเพดาน เป็นต้น จึงเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในการก่อสร้าง ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ในตลาดบ้านเราก็เช่น เฌอร่า , คอนวูด หรือ SCG เป็นต้น

ข้อดี มีความทนทานมาก ตัด,เลื่อย หรือ เจาะได้ มีขนาดสำเร็จรูปให้เลือกใช้ ทนต่อน้ำและความชื้น ปลวกและแมลงไม่กิน หาซื้อได้สะดวกตามร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป 
ข้อเสีย ผิวสัมผัสแตกต่างจากไม้นิดหน่อย มีลายไม้ให้เลือกไม่เยอะ เปราะและแตกหักได้ง่ายกว่าวัสดุทดแทนตัวอื่นๆ

4. ไม้เทียมจากพลาสติกผสมเส้นใยไม้ (Wood plastic composite) เป็นการนำพลาสติก (โพลิเมอร์) มาผสมกับเส้นใยไม้ หรือแม้แต่ขี้เลื้อยก็นำมาทำได้ หลังจากนั้นจึงนำมาอัดและขึ้นรูปเลียนแบบขนาดไม้จริง ทั้งคุณสมบัติและรูปลักษณ์ก็จะดูเหมือนพลาสติกมากกว่าไม้ โดยมีทั้งแบบที่ภายในกลวงและตันทั้งชิ้น สามารถนำมาตัดเลื่อยหรือตอกตะปูได้เหมือนไม้ และมีความยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อความชื้นและน้ำ อายุการใช้นานยาวนาน และยังสามารถเอามาใช้งานได้อย่างหลากหลายเช่น พื้น ประตู รั้ว หรือ แม้แต่โครงสร้าง

ข้อดี ทนทานต่อความชื้น ปลวกและเมลงไม่กิน ตัด เลื่อย หรือตอกตะปูได้  ทนทานต่อแสง UV ทำให้สีซีดจางได้ช้า
ข้อเสีย ความแข็งแรงของเนื้อสู้วัสดุไม้ไม่ได้ บิดงอได้น้อยทำให้นำมาทำงานที่มีรูปทรงโค้งมนได้ยาก รูปลักษณ์และผิวสัมผัสไม่เหมือนไม้นัก


5. กระเบื้องพิมพ์ลายไม้ ( Wood tile) กระเบื้องลายไม้เป็นวัสดุที่เลียนแบบแค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่ในส่วนประกอบก็คือกระเบื้องนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตออกมาให้เลือกใช้งานกันอย่างมากมายทั้งลวดลายและสีสรร ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ลายขั้นสูง (HD) ทำให้ลายเหล่านั้นออกมาเหมือนไม้มากหากมองจากระยะไกล และในบางรุ่นยังทำผิวสัมผัสให้เป็นลายนูนคล้ายลายไม้อีกด้วย ทำให้สามารถเพิ่มการยึดเกาะ สามารถใช้งานในที่เปียกและภายนอกอาคารได้โดยตัวกระเบื้องไม่ลื่นมาก

 


 

กระเบื้องลายไม้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการการดูแลรักษาน้อย ข้อจำกัดของกระเบื้องคือสามารถใช้ได้เฉพาะพื้นและผนังเท่านั้น เอามาทำเป็นส่วนประกอบอื่นๆของอาคารไม่ได้ แล้วก็ต้องยอมรับเรื่องรอยต่อที่จะมีเยอะเนื่องจากข้อจำกัดในการผลิตแผ่น ส่วนเรื่องการติดตั้งก็เหมือนกับการติดตั้งกระเบื้องทั่วไป

ข้อดี ทนทาน กันน้ำต้องการการดูแลรักษาน้อย มีให้เลือกหลายขนาดและลวดลาย หาซื้อได้ง่าย สามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกบ้าน สีซีดจางยาก
ข้อเสีย ความรู้สึกและผิวสัมผัสจะไม่ได้ความรู้สึกของไม้มากนัก แต่หากนำไปติดตั้งในพื้นที่ๆใช้สายตาสัมผัสเพียงอย่างเดียวก็จะลดความรู้สึกแบบนี้ไปได้ระดับหนึ่ง การติดตั้งลำบากมีงานฝุ่นและงานเปียก มีขนาดให้เลือกจำกัด

6. กระเบื้องยางลายไม้ ( Vinyl tile ) เป็นวัสดุที่เลียนแบบไม้จริงด้วยลวดลายเท่านั้น แต่ผิวสัมผัสจะเป็นไวนิล ผลิตโดยการหลอมเม็ดพลาสติกเป็นแผ่นฐานก่อน แล้วจึงนำลายไม้มาประกบอัดเข้าด้วยกันอีกครั้ง มีทั้งแบบผิวเรียบและผิวนูนเลียนแบบผิวไม้ แต่จะได้ในเรื่องของราคาที่ถูกกว่าไม้จริงมาก ดูแลรักษาง่าย ติดตั้งบนพื้นด้วยกาวทำให้การติดตั้งรวดเร็ว และตัดปัญหาเรื่องการผุไปได้เลย แต่ก็ต้องระวังเรื่องความชื้นที่จะทำให้แผ่นหลุดร่อนออกมาจากพื้นได้ จึงทำให้ใช้งานได้เฉพาะงานภายในอาคารเท่านั้น  ความหนาของวัสดุเพียง 2-3 มม. จึงสามารถปูทับลงบนวัสดุเดิมได้เลยโดยไม่ต้องปรับแต่งระดับ

ข้อดี  ไม่ผุ ปลวกไม่กิน ประหยัดเวลาและเงิน สามารถซ่อมแซมเบื้องต้นได้เองและรื้อออกได้ง่าย
ข้อเสีย ไม่ได้ความรู้สึกแบบวัสดุไม้จริงๆ
 

ที่มา : forfur.com
( วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 )

ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line