ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
17 ต.ค.2559

เร่งสร้างอุโมงค์-วางท่อใหม่ แก้ "น้ำรอระบาย" ซ้ำซาก

Line

        จากพายุฝนที่กระหน่ำลงมาหนักหน่วง ทำให้หลายพื้นที่ลุ่มต่ำเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ไม่เว้น "กรุงเทพมหานคร" เมืองหลวงของประเทศไทย แม้มวลน้ำยังมาไม่ถึง แต่ก็เกิดปรากฏการณ์ "น้ำรอระบาย" หลายพื้นที่

        "สมพงษ์ เวียงแก้ว" ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม.จะไม่ซ้ำรอยปี 2554 เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังสูงไม่ถึง 3,500-4,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อีกทั้งหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา กทม.ได้เสริมคันกั้นน้ำให้รองรับน้ำได้อีก 50 ซม. โดยสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 2.80-3.50 เมตร ระยะทางรวม 77.8 กม. ขณะนี้แล้วเสร็จ 77.6 กม. เหลือประมาณ 200 เมตรที่ยังเป็นฟันหลอ จะเร่งให้เสร็จในปีนี้

ทุ่ม 2.5 พันล้านวางท่อใหม่

        เมื่อปี 2558 ได้งบประมาณดำเนินการโครงการป้องกันน้ำท่วมกว่า 2,399 ล้านบาท และปี 2559 อีกกว่า 2,683 ล้านบาท ล่าสุดได้รับงบฯก่อสร้างท่อระบายน้ำในถนนสายหลัก แก้ปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตก 16 โครงการ วงเงินกว่า 2,525 ล้านบาท จะเป็นมาตรการระยะสั้นที่จะทำให้เสร็จ 1-2 ปีนี้

        แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 มี 11 โครงการ วงเงิน 2,227.40 ล้านบาท ได้แก่ ถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี), ถนนศรีอยุธยา และถนนพระรามที่ 6, ถนนพหลโยธินบริเวณแยกเกษตรศาสตร์, ซอยสุขุมวิท 31 และซอยสวัสดี

        ถนนสุขุมวิท 63 (เอกมัย) ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง, ซอยสุขุมวิท 4 (นานาใต้), ซอยสุขุมวิท 14, ซอยสุขุมวิท 39, ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู และซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา 

        ส่วนระยะที่ 2 มี 5 โครงการ วงเงิน 298 ล้านบาท ได้แก่ ถนนอู่ทองนอก 71 ล้านบาท, ถนนเพชรบุรี บริเวณสถานทูตอินโดนีเซีย, บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์, ถนนจันทน์ และถนนสุวินทวงศ์

       "เป็นการสร้างท่อระบายน้ำอยู่ใต้ผิวถนน ขนาด 1.50-2 เมตร ซึ่งจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ช่วยแก้ปัญหาจุดพื้นที่น้ำท่วมขังซ้ำซากมีกว่า 20 จุด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 322 ตร.กม. จะเริ่มงานตั้งแต่ปี 2560-2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างประมูลหาผู้รับเหมา เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยระบายน้ำเร็วขึ้นจากเดิม 2-3 ชั่วโมงเหลือไม่ถึง 1 ชั่วโมง"

เร่งรื้อผู้บุกรุก-สร้างอุโมงค์ยักษ์ 

        ส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาว นายสมพงษ์กล่าวว่า เร่งรื้อย้ายผู้บุกรุกริมคลองทั้งคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรให้เสร็จภายใน 3-5 ปี รวมถึงสร้างอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่เพิ่ม 6 แห่ง ความยาวรวม 44.08 กม. เงินลงทุนประมาณ 23,027 ล้านบาท จะมีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 260 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาท

        แยกเป็นฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง ได้แก่ 1.อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ความยาว 6.4 กม. 

        ค่าก่อสร้าง 2,422.5 ล้านบาท แนวเส้นทางเริ่มจากถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตร.กม. แก้ปัญหาพื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต ปัจจุบันกำลังก่อสร้าง จะแล้วเสร็จต้นปี 2560

        2. อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ความยาว 9.4 กม. เริ่มจากบริเวณบึงรับน้ำหนองบอนลอดใต้คลองหนองบอน คลองตาช้าง ถนนอุดมสุข สุขุมวิท 101/1 คลองบางอ้อ ออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบริษัทไม้อัดไทย ครอบคลุมพื้นที่ 85 ตร.กม. แก้ปัญหาพื้นที่เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง ค่าก่อสร้าง 4,925 ล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะเสร็จปี 2562

        3. อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร ความยาว 13.5 กม. เริ่มจากคลองบางบัวลอดใต้คลองวัดหลักสี่ คลองเปรมประชากร ถนนรัชดาภิเษก ถนนวงศ์สว่าง ไปออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใต้สะพานพระราม 7 ครอบคลุมพื้นที่ 109 ตร.กม. แก้ปัญหาพื้นที่เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และจตุจักร อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบเบื้องต้น ค่าก่อสร้าง 7,300 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มภายในปี 2561-2564

       4. อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว130เพื่อขยายความยาวอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบเดิมออกไปตามแนวคลองแสนแสบเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บางส่วนของเขตบางกะปิสะพานสูงบึงกุ่มและคันนายาวความยาว3.80กม. ค่าก่อสร้าง 1,526 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบฯ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2561-2563

        ขณะที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามี 2 แห่ง คือ อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองทวีวัฒนาให้ระบายน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โครงการแก้มลิง คลองมหาชัย-คลองสนามชัย แม่น้ำท่าจีน และลงสู่อ่าวไทย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งธนบุรี ความยาว 2.03 กม. ค่าก่อสร้าง 2,274.20 ล้านบาท ออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างของบฯจากรัฐบาล คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2560-2563

        และอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งธนบุรี และรับน้ำจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาผ่านคลองภาษีเจริญ และระบายน้ำลงสู่โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย ความยาว 8.95 กม. ค่าก่อสร้าง 4,580 ล้านบาท ปัจจุบันศึกษาความเหมาะสมโครงการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างของบฯออกแบบ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2560-2564 

เพิ่มแก้มลิงโซนตะวันออก

        นอกจากนี้ ได้จัดหาและก่อสร้างพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงเพิ่มเติมจากปัจจุบันมีอยู่ 25 แห่ง สามารถรองรับน้ำชั่วคราวได้ 13.04 ล้านลูกบาศก์เมตร

        ขณะนี้กำลังก่อสร้าง 2 แห่งในหมู่บ้านสัมมากร เขตสะพานสูง เก็บน้ำได้ 227,000 ลูกบาศก์เมตร แล้วเสร็จปี 2559 และสวนเสรีไทย เขตคันนายาว เก็บน้ำได้ 89,700 ลูกบาศก์เมตร แล้วเสร็จปี 2560 รวมเก็บน้ำได้ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร

        และจะจัดหาเพิ่มเติมอีก 12 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ 6.187 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอาจจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน
 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
( 17 ตุลาคม 2559 )