ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
14 พ.ย.2559

ธปท.ลั่นหนี้เน่าพีกไตรมาสแรกเผยเอ็นพีแอลสิ้นกันยายนสูงสุด5ปี-บัตรเครดิตพุ่ง

Line

          ธปท.คาดปีหน้าเอ็นพีแอลแบงก์ทั้งระบบถึงจุดสูงสุดไตรมาสแรกปีหน้า สอดรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นและสินเชื่อขยายตัวมากขึ้น หลังยอดสะสมไตรมาส 3 ทำสถิติสูงสุด 5 ปี แตะ 3.93 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้เสียเอสเอ็มอี-บัตรเครดิต ยังเพิ่มไม่หยุด

          นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมาโดยตลอด คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และถึงจุดสูงสุดได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2560

          สำหรับไตรมาส 4 ธนาคารพาณิชย์จะอยู่ในช่วงการบริหารจัดการหนี้ โดยจะเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการตัดขายหนี้ออก ซึ่งเป็นปกติที่จะเห็นเอ็นพีแอลในไตรมาสสุดท้ายปรับลดลง แต่จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและสินเชื่อที่ไม่ได้ขยายตัวมากนัก รวมถึงตัวเลขเอ็นพี  แอลในไตรมาส 3 ที่ยังส่งสัญญาณ เพิ่มขึ้น ทำให้เอ็นพีแอลที่ผ่านมายังคงเพิ่มขึ้น

          "ตัวเลขเอ็นพีแอลจะเห็นว่าต่ำมาตลอด แต่เพิ่งจะกลับมาปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากดูทิศทางเศรษฐกิจและภาวะสินเชื่อคาดว่าจะเห็นเอ็นพีแอลถึงจุดพีกได้ในปีหน้า แต่เชื่อว่าจากการฟื้นตัวของสินเชื่อบางประเภทจะช่วยลดแรงกดดันของเอ็นพีแอลได้" นายดอนกล่าว

          ส่วนผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่า คุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลงอย่าง เห็นได้ชัดจากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.89% โดยคิดเป็นหนี้เอ็นพีแอล คงค้างอยู่ที่ 3.93 แสนล้านบาท จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.72% คิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 0.17% หรือประมาณ 1.99 หมื่นล้านบาท นับว่าสูงสุดในรอบ 5 ปีอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2554 ที่เคยอยู่ในระดับ 2.95%

          ขณะที่หนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็น พิเศษ (SM) มีอัตราก้าวกระโดดในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยหนี้จัดชั้นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 2.38% คิดเป็นยอดคงค้างอยู่ที่ 3.24 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 2.17% หรือประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลและหนี้จัดชั้นรวมกันในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 5.27% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 4.89%

          ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นเอ็นพีแอลยังคงเป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพิ่มจาก 3.77% ในไตรมาสที่ 2 มาอยู่ที่ 4.04% ในไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ดี จะพบว่าสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีอัตราเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลและหนี้จัดชั้น โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นสูงสุดใน 11 ปี นับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูลในปี 2548 จากระดับ 4.25% มาอยู่ที่ 5.10%

          นายดอน กล่าวว่า เอ็นพีแอลของบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่ง มาจากธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการจัดชั้นหนี้ผิดพลาด แต่ภายหลังที่ ธปท.เข้าไปตรวจสอบ ทำให้อัตราหนี้ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตคิดเป็นแค่ 1.7% ของสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ 11 ล้านล้านบาท

          แนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลและหนี้จัดชั้นที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์กันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากระดับ 161.3% เป็น 161.6% ถือเป็นอัตราที่สูงสามารถรองรับหนี้ได้อีกมาก แต่การตั้งสำรองดังกล่าวจะมีผลต่อกำไรจากการดำเนินงานปรับลดลงติดลบอยู่ที่ 9.8% จากไตรมาสก่อนขยายตัวที่ 3.1% และกำไรสุทธิที่ปรับลดลงจาก 5 หมื่นล้านบาท เหลืออยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท

          ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ 3.5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี แนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมในอนาคตมีทิศทางปรับลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากบริการโอนเงินรูปแบบใหม่ (Promptpay) ที่จะมีผลต่อรายได้จากธุรกรรมการโอนเงิน แต่ในทางกลับกันธนาคารพาณิชย์จะมีต้นทุนบริหารเงินสดลดลงเช่นกัน

          นายดอน กล่าวว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว โดยไตรมาสที่ 3 ขยายตัวเพียง 2.4% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.3% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ

          ประกอบกับดูสัญญาณการใช้วงเงินภาคธุรกิจจะพบว่ายังอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ย 50% ของวงเงิน จากในปี 2554-2555 อัตราการใช้วงเงินอยู่ที่ 60%  ดังนั้นมองว่าทั้งปีอัตราการขยายตัวสินเชื่อเกินกว่าจีดีพีที่ 3% อาจจะค่อนข้างยาก เพราะต้องปล่อยสินเชื่อใหม่สูงถึง 3 แสนล้านบาท จากปีก่อนปล่อยอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท จึงคาดว่าสินเชื่อน่าจะสามารถเติบโตได้เกิน 2.4% แต่ไม่ถึง 3%
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
( วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 )