ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
21 ธ.ค.2559

“ประยุทธ์” ใช้ ม.44 เพิ่มนครพนม-กาญจน์ เขต ศก.พิเศษ ต่อเวลาคืนคลื่นวิทยุอีก 5 ปี

Line

          นายกรัฐมนตรีเผยถก ครม.ร่วม คสช. ปมใช้ ม.44 โฆษกรัฐบาลเผยที่ประชุมเห็นชอบออก 3 ฉบับ เพิ่ม “นครพนม-กาญจนบุรี” เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ่อผุดมาตรการช่วยต่อ ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ระงับสรรหา กสทช.เกษียณ ให้คนที่เหลือทำงานต่อจนกว่าจะเหลือ 6 คน หรือ กม.องค์กรจัดสรรความถี่เสร็จ พร้อมขยายเวลาคืนคลื่นวิทยุไปอีก 5 ปี ขยายงวดทีวีดิจิตอลจ่ายค่าประมูล ให้กองทุนวิจัย กสทช.สนับสนุนค่าใช้จ่ายสังสัญญาณ ปีละ 875 ล้าน
       
          วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าการประชุมวันนี้มีวาระสำคัญ 3-4 เรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน รวมถึงแก้ไขปัญหาในอดีตที่ผ่านมาโดยจะออก ม.44 3 เรื่อง ประมาณ 3 ฉบับ โดยวัตถุประสงค์ที่ออกก็เพื่อแก้ปัญหาให้คนที่เดือดร้อน และขออย่าสร้างปัญหาให้ตนอีกแล้วกัน
       
          ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในวันเดียวกันนี้มีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อระดมความคิดและความเข้าใจร่วมกันก่อนออกคำสั่งมาตรา 44 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันออกคำสั่งมาตรา 44 จำนวน 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 คำสั่ง คสช. เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช.ที่ 17/2558 ว่าด้วยการกำหนดพื้นที่ของการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้เพิ่มจังหวัดนครพนม และจังหวัดกาญจนบุรี และได้มีการลงไปดูพื้นที่แล้ว เมื่อนำมาจัดทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะไม่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากนัก อาจจะมีผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ
       
          พล.ท.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ต่อมาเป็นการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ในเรื่องระงับการคัดเลือกบุคคลและสรรหาเพื่อเสนอเป็นกรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจากในปัจจุบันกรรมการกสทช.ด้านกฎหมาย จะพ้นจากการดำรงตำแหน่ง เพราะอายุครบ 70 ปี ทาง พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวยังสามารถทำงานขับเคลื่อนไปได้ และเพื่อให้สอดคล้องกับการสรรหาคณะกรรมการในส่วนอื่น จึงออกคำสั่งมาตรา 44 ให้คณะกรรมที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน 9 คนทำหน้าที่ต่อไป โดยไม่ต้องคัดเลือกและสรรหาใหม่ จนกระทั่งพ้นสภาพและเหลือไม่ถึง 6 คนจึงจะสรรหาบุคคลเข้ามาเพิ่ม หรือจนกว่ากฎหมายองค์กรจัดสรรความถี่ปี 2553 ที่ขณะนี้ปรับแก้ไขอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วเสร็จ และประกาศใช้
       
          โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า และคำสั่งมาตรา 44 อีกเรื่อง ที่เกี่ยวกับ กสทช.ในเรื่องมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยในส่วนของวิทยุ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ปี 2555 กำหนดให้คลื่นความถี่วิทยุ ของหน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานรัฐต้องส่งคืน กสทช. ภายในเดือน เม.ย. 2560 เพื่อพิจารณาจัดสรรใหม่ ดังนั้น คสช.จึงขอขยายระยะเวลาแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ปี 2555 ออกไปอีก 5 ปี แทนการใช้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ปี 2560
       
          “ในส่วนของโทรทัศน์ ในช่วงที่ผ่านมามีการประมูลแข่งขันการทำโทรทัศน์ดิจิตอลสูงมาก ในสภาวะเศรษฐกิจที่มีการช่องโทรทัศน์ออกอากาศเป็นจำนวนมากและมีผู้สนับสนุนรายการโฆษณาเท่าเดิม ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนในเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้น คสช.จึงออกคำสั่งมาตรา 44 ส่งเสริมช่วยเหลือ ดูแลผู้ประกอบการสามารถดำเนินการต่อไป ไม่เจ๊งไปตั้งแต่ต้น คือ ใบอนุญาตในการประมูลราคาขั้นต่ำจากเดิมกำหนด 4 งวดๆ ละ 1 ปีชำระแล้ว 3 งวด เหลืออีก 1 งวด คสช.จึงขยายเวลาให้ยื่นการชำระแบ่งเป็น 2 งวด เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี สำหรับราคาส่วนเกิน กำหนดให้จ่าย 6 งวด จ่ายไป 3 งวด เหลือค้างอีก 3 คสช.จึงขยายระยะเวลาในการชำระออกไปแบ่งเป็น 6 งวด ในระยะเวลา 6 ปี ดอกเบี้ย 1.5 ต่อปีเช่นกัน” พล.ท.สรรเสริญกล่าว
       
          พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ให้กองทุนวิจัยกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่ให้บริการภาคพื้นดินให้บริการ 27 ช่อง ปีละ 875 ล้านบาท เพราะถ้าผู้ประกอบการล้มหายตายจากไป จะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลพยายามมองภาพกว้างของประเทศเป็นหลัก ไม่ได้จำกัดช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเดียว 

ที่มา : MGR Online
( วันที่ 21 ธันวาคม 2559)