ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
16 ม.ค.2557

โมเดิร์นเทรดโตไม่หยุดแข่งซื้อวัสดุเต็มโกดัง หวั่นขาดตลาดชี้

Line

"ปีนี้โมเดิร์นเทรดวัสดุหลักทั้ง 4-5 รายข้างต้น น่าจะขยายสาขารวมกันอย่างน้อย 30-40 แห่ง เฉพาะแค่สินค้าที่ต้องโชว์หน้าร้านและเก็บในคลังสินค้าแต่ละสาขาก็มากมายมหาศาล ปีนี้น่าจะมีปัญหาต่อเนื่อง" 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2554-2555 ที่ผ่านมา  มีศูนย์โมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านรายใหญ่ได้ขยายสาขาเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยปีละ 8-10 สาขา ได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้วัสดุก่อสร้างบางรายการเกิดปัญหาขาดแคลน หรือต้องรอสินค้าเป็นเวลานาน เนื่องจากโมเดิร์นเทรดวัสดุเหล่านี้มีคลังเก็บสต๊อกสินค้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการในกลุ่มรับสร้างบ้านต้องปรับแผนสั่งซื้อวัสดุใหม่

โดยกลุ่มโมเดิร์นเทรดที่ขยายสาขาเป็นจำนวนมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ "โฮมโปร" ของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปีที่ผ่านมาขยายสาขาไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง ปัจจุบันมี 64 สาขา และปีนี้คาดว่าจะเปิดสาขาอีก 8-10 แห่ง "ไทวัสดุ" ของกลุ่มเซ็นทรัล ปีที่ผ่านมาประกาศแผนเปิดสาขาถึง 13 แห่ง รวมสิ้นปีมีประมาณ 36 สาขา และปีนี้คาดว่าจะเปิดอีก 10 สาขา "โกลบอลเฮ้าส์" ที่มีครอบครัวสุริยวนากุลและเอสซีจีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ปีที่ผ่านมาเปิด 9 สาขา ถึงสิ้นปีมี 27 สาขา และปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 15 สาขา รวมเป็น 42 สาขา

แหล่งข่าวจากบริษัทรับสร้างบ้านรายใหญ่เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาบริษัทต้องวางแผนสั่งซื้อวัสดุบางรายการใหม่ เน้นสั่งของล่วงหน้าเพื่อไม่ให้กระทบกับการสร้างบ้าน โดยเฉพาะวัสดุ 3 รายการ ได้แก่ 1)อิฐมวลเบาแบรนด์อินทรีซุปเปอร์บล๊อกและแบรนด์คิวคอน 2)ปูนซีเมนต์ถุงตราเสือ (ปูนฉาบ) และ 3)กลุ่มกระเบื้องหลังคา ได้แก่ หลังคาคอนกรีตซีแพค หลังคาคอนกรีตแผ่นเรียบแบรนด์นูสไตล์ และหลังคาเซรามิกแบรนด์เอ็กเซลล่า หลังคารอนาน 1-3 เดือน โดยอิฐมวลเบาทั้ง 2 แบรนด์และปูนซีเมนต์ถุงตราเสือจากปี 2555 ไม่เกิน 3 วันได้สินค้า ปี 2556 ต้องรอนาน 1-3 สัปดาห์ ส่วนสินค้ากลุ่มกระเบื้องหลังคาบางช่วงต้องรอนาน 1-3 เดือน กรณีหลังคาซีแพคเฉดสีทั่วไปรอ 1-1 เดือนครึ่ง หลังคาคอนกรีตแบบแผ่นเรียบรอ 2-3 เดือน และหลังคาเซรามิกรอตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป วิเคราะห์ว่าสาเหตุหนึ่งเกิดจากศูนย์โมเดิร์นเทรดวัสดุ ได้แก่ โฮมโปร ไทวัสดุ โกลบอลเฮ้าส์ ดูโฮม และเมกาโฮมในเครือโฮมโปร เร่งขยายสาขาพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมากและสาขาแต่ละแห่งก็มีคลังสินค้าขนาดใหญ่นับหมื่นตารางเมตร

"ปีนี้โมเดิร์นเทรดวัสดุหลักทั้ง 4-5 รายข้างต้น น่าจะขยายสาขารวมกันอย่างน้อย 30-40 แห่ง เฉพาะแค่สินค้าที่ต้องโชว์หน้าร้านและเก็บในคลังสินค้าแต่ละสาขาก็มากมายมหาศาล ปีนี้น่าจะมีปัญหาต่อเนื่อง"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ถึงแม้บริษัทมีสถานะเป็นลูกค้าหลักรายใหญ่ โดยปีที่ผ่านมามียอดสั่งซื้ออิฐมวลเบาแบรนด์อินทรีซุปเปอร์บล๊อกของกลุ่มปูนซีเมนต์นครหลวงกว่า 1 แสนตารางเมตร หรือกว่า 20 ล้านบาท ปูนซีเมนต์ถุงตราเสือ (ปูนฉาบ) กว่า 2.8 แสนถุง หรือประมาณ 30 ล้านบาท และหลังคาคอนกรีตแบบลอน-แบบแผ่นเรียบกว่า 2.2 แสนแผ่น หรือประมาณ 6 ล้านบาท แต่ก็ต้องรอสินค้าเป็นเวลานาน

เพราะเท่าที่ทราบโมเดิร์นเทรดวัสดุบางรายใช้วิธีสั่งซื้ออิฐมวลเบาด้วยเงินสดและมีปริมาณการสั่งซื้อจำนวนมากจึงมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านโดยทราบว่าร้านไทวัสดุสั่งอิฐมวลเบาแบรนด์อินทรีซุปเปอร์บล๊อก มีปริมาณสั่งซื้อเฉลี่ยเดือนละ 3-4 แสนก้อน

"สิ่งที่กังวลคือนับจากนี้ไปอย่างน้อยถึงปี 2558 ปัญหาวัสดุขาดแคลนต้องรอนานจะยังไม่คลี่คลาย" แหล่งข่าวกล่าว ปูนอินทรี-SCG รับผลิตไม่ทัน

นางสาวจันทนา สุขุมานนท์ ที่ปรึกษา บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปูนอินทรีซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอินทรีซุปเปอร์บล๊อก เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาผลิตอิฐมวลเบาไม่ทันกับความต้องการตลาดจริง ปัจจัยมาจากมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นโดยเข้าไปทดแทนอิฐมอญ ประกอบกับกลุ่มโมเดิร์นเทรดวัสดุซึ่งมีสัดส่วนการขาย 20-30% ของทั้งหมด มีการขยายสาขาปีที่ผ่านมาจำนวนมาก

"คาดว่าสถานการณ์ปีนี้น่าจะดีขึ้นบ้างเพราะปีที่แล้วบริษัทได้เข้าซื้อกิจการโรงผลิตอิฐมวลเบาที่จังหวัดราชบุรี จากกลุ่มพิบูลย์คอนกรีต หรือพีซีซี มีกำลังผลิตปีละเกือบ 3 ล้านตารางเมตร"

แหล่งข่าวจากบริษัท เอสซีจีซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ในเครือเอสซีจี เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาอิฐมวลเบาคิวคอนมีปัญหาผลิตไม่ทันเป็นช่วง ๆ ต้องรอสินค้าประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากการเปิดโรงงานใหม่ที่จังหวัดสระบุรีล่าช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย ส่วนกรณีการเพิ่มจำนวนสาขาของโมเดิร์นเทรดวัสดุอย่างรวดเร็วรายละ 8-10 สาขาต่อปี และตั้งข้อสังเกตว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้อิฐมวลเบาขาดแคลน คิดว่าไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะร้านโมเดิร์นเทรดจะสั่งสินค้าเป็นจำนวนมากในช่วงเปิดร้านเท่านั้น หลังจากนั้นจะทยอยสั่งเพิ่ม

ส่วนสินค้ากระเบื้องหลังคาคอนกรีตอาจมีปัญหาต้องรอนาน 2-3 เดือนจริง แต่เฉพาะกับรุ่นเฉดสีพิเศษที่ผลิตน้อย ขณะที่ปัญหาหลังคาเซรามิกที่รอสินค้านาน ยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงเนื่องจากกำลังผลิตเต็ม แต่ปีนี้น่าจะคลี่คลายเพราะเพิ่งขยายโรงงานใหม่แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ลงวันที่ 16 มกราคม 2557
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1389848464