ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
05 ก.ค.2560

ธนาคารพาณิชย์ ปล่อยสินเชื่อบ้านผู้สูงวัย สูงสุดรายละ 5 ล้าน!

Line

 

          ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง และความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น และแนวโน้มของโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2548 มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10.3% เพิ่มขึ้นเป็น 11.8% ในปี 2553 และในปี 2559 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุถึง 10,783,380 คน หรือ 16.5% ของประชากรทั้งประเทศ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 ที่คาดว่าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีก 20% ขณะที่ในปี 2579 จะมีผู้สูงอายุสูงถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ โดยในปี 2583 องค์การสหประชาชาติ ประเมินไว้ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุสูงที่สุดในอาเซียนถึง 33% การรับมือกับสังคมผู้สูงอายุจึงต้องทำตั้งแต่วันนี้ ด้านหนึ่งที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญ คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นทางด้านที่อยู่อาศัย อาทิ การสร้างชุมชนน่าอยู่ และการซ่อมหรือสร้างบ้านให้กับผู้สูงอายุ

สถิติเผย ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมากขึ้น รายได้ไม่เกิน 4 หมื่น/ปี

          จากรายงานการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย เมื่อปี 2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพังในครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2537 มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียว 3.6% และเพิ่มขึ้นเป็น 6.3%, 7.7% และ 8.6% ในปี 2545, 2550 และ 2554 ตามลำดับ และในปี 2557 มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวตามลำพังเพิ่มเป็น 8.7%

          โดยแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุเหล่านี้ ส่วนใหญ่ได้รับจากบุตร 36.7% รองลงมา คือรายได้จากการทำงาน 33.9% นอกนั้นมาจากเบี้ยยังชีพจากทางราชการ 14.8% เงินบำเหน็จ 4.9% คู่สมรส 4.3% และจากดอกเบี้ยเงินออมที่ผู้สูงอายุได้เก็บออม เงินออม การขายทรัพย์สินที่มีอยู่ 3.9% ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 25.2% มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 20,000-39,999 บาท รองลงมา 21.6% มีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 20,000 บาท

          ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่อาศัยในบ้านที่ตัวเองเป็นเจ้าของ 82.2% อยู่ในบ้านบุตร 9.8% อาศัยอยู่ในบ้านพี่น้องหรือญาติ 3% อาศัยอยู่ในบ้านพ่อแม่ 1.3% อาศัยอยู่กับบุตรเขยหรือลูกสะใภ้ 0.8% และอาศัยอยู่กับบุตรของบุตร 0.3%


 


กู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3 ปีแรกต่ำ ผ่อนนาน 30 ปี

          ธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทยมีความเห็นร่วมกัน สนับสนุนโครงการประชารัฐเพื่อสังคมของรัฐบาลในการออกสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย สามารถกู้เพื่อซื้อหรือปลูกสร้างที่อยู่ หรือเพื่อต่อเติมซ่อมแซมสำหรับผู้สูงวัยและประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่ร่วมกับบิดามารดา โดยบิดามารดาต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา และมีหลักฐานการหักลดหย่อนภาษีค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาจากกรมสรรพากรไม่น้อยกว่า 1 ปี 

          สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยผู้สูงวัย สมาคมธนาคารไทยจะปล่อยกู้ให้ลูกค้ารายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 30 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยกรณีที่กู้พร้อมทำประกันชีวิต 4.25% และกรณีไม่ทำประกันชีวิต 4.50% เฉลี่ย 3 ปีแรก

          ทั้งนี้ สมาชิกของสมาคมธนาคารไทย ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย รวม 15 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)

          โดยมีเป้าหมายปล่อยกู้รวมกันทุกธนาคารใน 6 เดือน จำนวน 10,000 ล้านบาท ผู้สนใจใช้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มได้ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทยทุกแห่ง ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นปี 2560
 
ที่มา : ddproperty.com
(วันที่ 5 ก.ค. 60)