ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
05 ส.ค.2560

ระเบียบแรงงานต่างด้าว กับทิศทางอสังหาฯ ในอนาคต

Line


          ปัจจุบันต้องยอมรับว่าด้วยปัจจัยเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับการเกิดภาวะหนี้ครัวเรือนมาตั้งแต่นโยบายรถคันแรก จึงส่งผลให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องประสบกับการเผชิญตลาดโอเวอร์ซัพพลาย รวมถึงการเกิดภาวะสต็อกที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ แม้หลายผู้ประกอบการจะหาทางออกด้วยกลยุทธ์ต่างๆ อย่างการจับกล่มผู้บริโภคระดับบน หรือจับมือกับนักลงทุนชาวต่างชาติเพื่อพัฒนาโครงการให้มีความทันสมัย รวมทั้งเป็นการเพิ่มทุน แต่ถึงกระนั้นกับต้องมาเจอปัญหาแรงงานต่างด้าว ที่ทางภาครัฐได้มีการจัดระเบียบใหม่ ด้วยการให้ขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตการทำงาน หากฝ่าฝืนบรรดานายจ้างจะต้องสูญเสียเงินไปกับค่าปรับเป็นหลักแสน และถึงแม้ ณ ขณะนี้ภาครัฐได้ชะลอมาตรการดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ในปี 61 แต่ถึงกระนั้นหลายภาคส่วนต่างจับตามองถึงผลกระทบอันสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแรงงานขาดแคลน หรือแม้กระทั่งการปรับต้นทุน ราคาขายโครงการอสังหาฯ ให้สูงขึ้น


แรงงานต่างด้าวกับอสังหาฯ

          ปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความต้องการแรงงานต่างด้าวค่อนข้างสูง โดยมีการเผยข้อมูลจากสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรพบว่า แรงงานส่วนใหญ่จะมีสัญชาติเมียนมา รองลงมาคือกัมพูชาและลาว ทั้งนี้พบว่าสัดส่วนประชากรแรงงานต่างด้าวในไซต์งานมีถึง 80-85% หรือบางไซต์สูง 95% หรือแทบไม่มีแรงงานไทยเลยก็มี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะด้วยปัจจัยค่าตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำหรือเฉลี่ยประมาณ 220 บาท/วัน ต่อมาเมื่อปี 58 คณะรัฐบาลปัจจุบันได้ทำการเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานใหม่เป็น 300 บาท จนทำให้เกิดการเรียกร้องจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้เพิ่มขึ้นอีกเป็น 360 บาท จนในที่สุดเมื่อประมาณวันที่ 1 มกราคม 2559 รัฐบาลได้เสนอนโยบายปล่อยค่าแรงลอยตัว จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่าผู้ประกอบการอย่างมาก สืบเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการงบประมาณต้นทุนโปรเจกต์ต่างๆ ของอสังหาฯ
 

ครม. ออกพระราชกำหนด บริหารจัดการคนต่างด้าว

          ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 โดยภายในมีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการจัดระเบียบควบคุมแรงงานดังกล่าว ด้วยการให้แรงงานต่างด้าวทุกคนต้องขึ้นทะเบียน เพื่อขอใบอนุญาตในการทำงาน ภายในวันที่ 24 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม 2560 หากฝ่าฝืนนายจ้างจะถูกปรับในอัตราสูงสุดถึง 800,000 บาท ซึ่งหลังจากประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้เกิดปรากฎการณ์การอพยพของกลุ่มคนต่างด้าวกลับสู่ประเทศบ้านเกิดของตน อันส่งผลกระทบอย่างมากต่อนายจ้าง จึงทำให้ทางภาครัฐได้ออกมาตรา 44 ชะลอผลบังคับใช้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวออกไปอีก 180 วัน โดยจะเริ่มบังคับใช้อีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2561
 

อนาคตของอสังหาฯ หลังจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

          ทั้งนี้แม้จะยืดเวลาของจัดระเบียบการขึ้นทะเบียนของแรงงานต่างด้าวออกไป แต่ถ้าหากมองอนาคตของภาคธุรกิจที่ใช้กลุ่มคนเหล่านี้มาเป็นแรงงานหลักอย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้หลายภาคส่วนเล็งเห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับความน่าจะเป็นในการเพิ่มต้นทุนก่อสร้างโครงการต่างๆ แม้ปี 60 นี้ยังไม่เห็นผลกระทบด้านราคา อันเป็นเพราะมาตรการดังกล่าวยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ประกอบกับต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างยังคงที่อยู่ แต่ในปี 61 คาดว่ามีการปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ปราการด่านแรกที่ได้รับผลกระทบจะเป็นฝั่งของผู้รับเหมา อันต้องแบกรับภาระทั้งอัตรค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียน ขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว รวมถึงการปรับค่าแรงใหม่ให้สูงขึ้น จากนั้นอีกฝ่ายที่ต้องเตรียมตัวรับผลกระทบดังกล่าว นั่นคือเหล่าดีเวลลอปเปอร์ที่ต้องแบกรับภาระทั้งอัตราราคาที่ดิน 50% และค่าก่อสร้างอีก 50% อันปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทั้งนี้จึงส่งผลให้จากเดิมโปรเจกต์แต่ละโครงการอสังหาฯ มีการตั้งราคาขายเพิ่มขึ้นจากต้นทุนเดิม 15% จำเป็นต้องปรับเพิ่มเป็น 20% ทั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบตามมาเช่นกัน นั่นคือกลุ่มผู้อยู่อาศัยนั่นเอง
 

          จากภาวะการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของภาครัฐ แม้จะเป็นกลุ่มชนชั้นแรงงานที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ถึงกระนั้นในมุมมองของดีเวลลอปเปอร์กับมองว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก หากเทียบกับปัจจัยที่หลายผู้ประกอบการต้องเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ นั่นคือปัญหาซัพพลายล้น และภาระหนี้ครัวเรือน อันจะส่งผลให้เกิดภาวะการชะลอตัวของโปรเจกต์อสังหาฯ ในปีหน้าอย่างแน่นอน

 

ที่มา : http://www.ddproperty.com
(วันที่ 5 กรกฎาคม 2560)