ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
21 ส.ค.2560

พ.ร.บ.ใหม่ เพิ่มเงินออมไว้ใช้ยามแก่

Line
พ.ร.บ.ใหม่ เพิ่มเงินออมไว้ใช้ยามแก่

          แม้ว่าปัจจุบันจะมีเงินกองทุนประกันสังคมที่ให้ลูกจ้างได้ออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ หรือพูดง่าย ๆ ว่ายามแก่ตัวไปจะได้มีเงินใช้ แต่จำนวนเงินหากคำนวณกันดีๆ แล้ว พบว่าจะได้ใช้จ่ายเพียงเดือนละ 7,500 บาท ซึ่งจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันเมื่อถึงเวลานั้นขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าจะเพียงพอหรือไม่ ทางกระทรวงการคลังจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. ขึ้น ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับวัยหลังเกษียณ

กองทุนฯ หลักประกันผู้สูงอายุมีรายได้หลังเกษียณ
          การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีจุดประสงค์เพื่อให้มีระบบประกันรายได้ในวัยหลังเกษียณ จากปัจจุบันที่มีแรงงานในระบบทั้งหมดเกือบ 20 ล้านคน จาก 30 ล้านคน ที่ยังไม่มีระบบประกันรายได้เพื่อการยังชีพในวัยหลังเกษียณ ซึ่งในอีก 10-15 ปีข้างหน้า หากไมมีระบบดังกล่าวมารองรับ จะทำให้ประเทศต้องเสียงบประมาณ 6-7 แสนล้านบาทในการดูแลคนกลุ่มนี้

          โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จะช่วยสร้างความมั่นใจและความมั่นคงให้ผู้สูงอายุ เป็นการประกันรายได้ในวัยหลังเกษียณ โดยกำหนดให้แรงงานในระบบเข้ามาออม ซึ่งลูกจ้างใส่เป็นเงินสะสม และนายจ้างใส่เป็นเงินสมทบ และมีความเชื่อมโยงกับกองทุนประกันสังคม เพื่อให้แรงงานในระบบที่มีประกันสังคมอยู่แล้วมีหลักประกันรายได้จากกองทุนบำเหน็จบำนาญเพิ่มเข้าไปในวัยหลังเกษียณ ทำให้มีรายได้อย่างน้อย 50% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย

รวม 2 กองทุน มีรายได้ 50,000 บาท/เดือน
          จากปัจจุบันถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมอย่างเดียว และใส่เงินสะสมตั้งแต่อายุ 20-55 ปี จะมีรายได้หลังเกษียณ เดือนละ 7,500 บาท แต่เมื่อเข้าระบบของกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยหากเริ่มออมตั้งแต่อายุ 15-60 ปี จะมีรายได้หลังเกษียณเพิ่มมาอีกประมาณ 40,000 บาท/เดือน รวมกันแล้วเกือบ 50,000 บาท/เดือน ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตในวัยหลังเกษียณ

หลักประกันผู้สูงอายุ ให้มีรายได้หลังเกษียณ

เบื้องต้น หัก 3-7% จากเงินเดือน
         สำหรับอัตราเงินสะสม เบื้องต้นจะกำหนดให้ลูกจ้างที่อยู่ในระบบต้องจ่ายเงินสะสมเข้าระบบการออม โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ามาด้วย เบื้องต้นกำหนดที่ 3% ใน 3 ปีแรก จากนั้นจะเป็น 5% และ 7% ตามลำดับ ส่วนอัตราที่แน่นอนจะมีการพิจารณารายละเอียดกับคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับกองทุนประกันสังคม และไม่ให้เป็นภาระกับลูกจ้างมากเกินไป

        คาดว่า พ.ร.บ.การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จะทันใช้ได้ในปี 2561 โดยจะเริ่มกับบริษัทขนาดใหญ่ก่อน ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็กจะทยอยเข้าสู่ระบบทั้งหมดภายใน 7 ปี หลังจากกฎหมายบังคับใช้



ที่มา : ดีดี พรอพเพอร์ตี้ วันที่ 21 สิงหาคม 2560