ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวประชาสัมพันธ์
Line
23 ก.ย.2560

ใครทำประกันสุขภาพได้เฮ ครม. อนุมัติลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่น

Line

           ที่ผ่านมาประกันสุขภาพถูกตีความว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประกันชีวิต จึงไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ทำให้ทางเลือกของประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพากับระบบประกันสุขภาพของภาครัฐทั้งในรูปแบบบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณของประเทศในการขับเคลื่อน โดยในแต่ละปีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันดูแลรักษาตัวเอง ไม่เป็นภาระกับงบประมาณของประเทศ เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จึงมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ โดยให้นำค่าใช้จ่ายสำหรับการประกันสุขภาพ มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

ลดหย่อนได้ 1.5 หมื่นบาท จ่ายเบี้ยตั้งแต่ 1 ม.ค. 60

           ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ เพื่อเป็นการยกเว้นเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับการประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
ทั้งนี้เมื่อรวมกับ 1.การทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดเวลา ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป 2.การฝากเงินตามข้อตกลงโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ฝากเงินและมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และ 3.เบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ ซึ่งเสนอเพิ่มเติมในครั้งนี้ รวมกัน 3 ประเภท ต้องไม่เกิน 1 แสนบาท

ประกันสุขภาพ 4 แบบ เข้าเกณฑ์

มาตรการดังกล่าวได้กำหนดให้การประกันสุขภาพ หมายถึง 
1. การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ 
2. การประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 
3. การประกันภัยโรคร้ายแรง 
4. การประกันภัยการดูแลระยะยาว

 
 

มาตรการใหม่ช่วยภาครัฐลดรายจ่ายด้านสุขภาพ

           มาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่จะช่วยสร้างหลักประกันสุขภาพและช่วยลดภาระในด้านค่ารักษาพยาบาลของผู้มีเงินได้ รวมทั้งมีส่วนในการลดภาระทางการคลังของภาครัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชน ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจประกันมีโอกาสเติบโตขึ้นด้วย จึงถือว่าเป็นมาตรการที่เกิดประโยชน์กับหลายฝ่าย ทั้งผู้ทำประกัน บริษัทประกัน และรัฐบาล

รายจ่ายด้านสุขภาพคนไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง

           ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการรักษาพยาบาลมากกว่าการส่งเสริมสุขภาพ จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ค่ายา ค่ารักษา) ต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด (GDP) ปี 2559 ค่าใช้จ่ายสุขภาพ อยู่ที่ 381,387.4 ล้านบาท แบ่งเป็นค่ายา 162,917 ล้านบาท และค่ารักษา 218,470.4 ล้านบาท

           ถือเป็นมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนในการลดหย่อนภาษี ส่งเสริมให้มีการทำประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และลดรายจ่ายของภาครัฐ เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 3 ตัว


ที่มา : http://www.ddproperty.com
(วันที่ 22 กันยายน 2560)