ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
31 ม.ค.2561

สคช.ห่วงการบริโภค-กำลังซื้อฟื้นช้า ธปท.ใช้นโยบายดบ.ผ่อนคลาย กระตุ้นศก.เชื่อดีต่ออสังหาฯ

Line

           สคช. มั่นใจเศรษฐกิจไทยขยายตัวระยะยาว สอดคล้องเศรษฐกิจโลก คาดปีนี้จีดีพีโต 4.1% ชี้ยุโรป อเมริกา ลดมาตรการ QE สัญญาณเศรษฐกิจโลกขยายตัวชัด ระบุแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นไม่กระทบอสังหาฯ กังวลรายได้-ความสามารถผ่อนชำระประชาชนยังต่ำ เพราะการบริโภคในประเทศ และกำลังซื้อฟื้นตัวช้า ธปท.ย้ำใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบผ่อนคลาย ชี้ดีต่ออสังหาฯ

           นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สคช.) กล่าวอภิปรายเรื่อง "แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ ตลาดเงินและ ตลาดทุนของโลกและไทย และผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2561" ว่า สคช.ประมาณการ จีดีพี ปีนี้จะขยายตัวที่ 4.1%โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกที่คาดว่ายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยว โดยในปีนี้อุตสาหกรรมการผลิตจะเป็นเครื่องจักรสำคัญ ในการผลักดันให้ จีดีพี ขยายตัวได้ดี เพราะการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินลดลง

           ขณะเดียวกันการลงทุนภาครัฐในโครงการที่เลื่อนออกไปในปีที่แล้ว พร้อมกับการอนุมัติโครงการใหม่ที่จะออกมา 5-6 โครงการจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในส่วนของภาคเอกชน นอกจากนี้ฐานรายได้ของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดี และการจ้างงานในภาคเกษตร และอุตสาหกรรมจะดีขึ้น แม้ภาคการเงินและตลาดทุนจะยังมีความผันผวนบ้าง หลังจากเงินบาทแข็งค่า และมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนี่อง ตามแนวโน้มดอกเบี้ยในตลาดโลกขาขึ้น

           ทั้งนี้ แนวโน้มดอกเบี้ยที่อยู่ในขาขึ้น ภายหลังการลดมาตรการ QE ของกลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐฯ ไม่ใช่ปัจจัยที่น่ากังวลสำหรับภาคอสังหาฯ แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ รายได้และความสามารถในการผ่อนชำระของผู้บริโภค ซึ่งแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่น่าห่วง ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การเร่งการกระจายการเติบโตเศรษฐกิจไปในทุกภาคธุรกิจ จึงมีความสำคัญ เพราะช่วยผลักดันอัตราการเติบโตรายได้ประชาชน

           ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากข้อมูลการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในปี 60 ที่ผ่านมาพบว่า หนี้ NPL มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันหนี้ NPL ใน กลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามการปรับตัวสูงขึ้นของหนี้ NPL นั้นถือว่าผ่านจุดสูงสุดมาแล้วในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับตัวลง ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลกจะปรับตัวขึ้น แต่ในส่วนของทิศทางดอกเบี้ยในประเทศนั้น ธปท. จะยังคงนโยบายผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนของการขยายตัวของภาคการบริโภค การลงทุน และการผลิตในประเทศ ดังนั้นทิศทางดอกเบี้ยในประเทศยังคงเป็นบวกต่อตลาดอสังหาฯ
 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
(วันที่ 31 มกราคม 2561)