ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
04 มิ.ย.2561

แก้คอขวดรถไฟลอยฟ้า “ตากสิน” เลื่อนยาว-ติด EIA

Line
          โยนกันวุ่น - นโยบายขยายรางรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีตากสิน จากรางเดี่ยวเป็นรางคู่ คุยกันมาหลายปียังไม่มีข้อยุติ ปัญหาหลักไม่สามารถหาเจ้าภาพรับภาระลงทุน 1,100 ล้านและทำ EIA

 

 

          กทม.ย้ำชัดไม่รับภาระขยายรางสถานีสะพานตากสิน มูลค่า 1.1 พันล้าน ลั่นให้เร่งดำเนินการปีนี้ ด้านบีทีเอสยังแบ่งรับแบ่งสู้ เผยโครงการเลื่อนสร้างยาว ติดทำอีไอเอ

          พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ได้เจรจากับบริษัท ระบบขนส่งกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายปัจจุบัน ให้รับภาระค่าก่อสร้างขยายรางรถไฟฟ้าสถานีสะพานตากสินทั้งหมด 1,100 ล้านบาทแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้ที่ประชุมสภา กทม. พิจารณา เนื่องจาก กทม.จะไม่นำเงินงบประมาณที่ได้จากภาษีประชาชนมาดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มสร้างได้ภายในปี 2561


          “ที่ผ่านมามีการต่อรองกับบีทีเอสซีมาโดยตลอด ตั้งแต่ขอให้ กทม.ออกค่าก่อสร้างทั้งหมด เพื่อจ้างให้บีทีเอสซีดำเนินการก่อสร้าง ต่อมาก็มีการต่อรองให้ กทม.ออกค่าก่อสร้างครึ่งหนึ่ง เราก็ยืนยันกลับไปทุกครั้งว่า งบประมาณส่วนนี้แม้แต่สลึงหนึ่งก็จะไม่ออก ส่วนเขาจะไปจ้างใครมาก่อสร้างก็เรื่องของเขา จะบ่นว่างบประมาณที่ต้องใช้สูงก็เรื่องของเขา เมื่อเป็นหน้าที่ต้องไปทำมาให้จบ เราจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ แต่ถ้าเราต้องออกเงินก่อสร้างให้ก็จบเหมือนกัน คือไม่ต้องทำ” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

          นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการ กทม. เปิดเผยว่า แบบก่อสร้างเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไม่มีข้อขัดข้องที่ กทม.จะทุบสะพานสาทรออกข้างละ 1.8 เมตร เพื่อขยายรางรถไฟสร้างเป็นทางคู่ให้ขบวนรถสามารถวิ่งสวนทางกันได้ โดยจะมีการสร้างชานชาลาเพิ่มเติมด้วย จะใช้เงินก่อสร้าง 1,100 ล้านบาท ใช้เวลาสร้าง 3 ปี ในระหว่างก่อสร้างจะไม่มีการปิดสถานีสะพานตากสิน เพราะเป็นสถานีที่มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เมื่อสร้างเสร็จพื้นที่บริเวณนี้จะเป็นศูนย์คมนาคมครบวงจรต่อเชื่อมการเดินทางทั้งทางรถ ราง และเรือ รองรับการเดินทางไปยังย่านธุรกิจอย่างสาทรและบางรัก

          อย่างไรก็ตาม ในแผนเดิมจะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค. 2561 แต่ตอนนี้ยังติดปัญหาเจรจากับบีทีเอส เรื่องค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง เนื่องจาก กทม.ในฐานะเจ้าของสัมปทาน ต้องการให้บีทีเอสออกค่าก่อสร้างทั้งหมด แต่การเจรจาก็ยังไม่ได้ข้อยุติ หากตกลงกันไม่ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อตกลงร่วมกัน ประกอบไปด้วย ตัวแทนบีทีเอส 2 คน กทม. 2 คน และจะร่วมกันคัดเลือกกรรมการกลางขึ้นมาอีก 3 คน เพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป

          นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกับ กทม.ถึงเรื่องค่าก่อสร้าง อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งนี้ยังมีเวลาดำเนินการ เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีหนังสือมาที่ กทม.ว่า การขยายสถานีสะพานตากสินจะต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยังไม่รู้ว่าจะสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
(วันที่ 4 มิถุนายน 2561)