ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
06 ส.ค.2561

ธอส. เปิดเกมให้มากกว่าแบงก์ ติดเทอร์โบ ดิจิทัลเซอร์วิสแบงกิ้ง

Line

          แม้ ธอส.หรือธนาคารอาคาร สงเคราะห์ จะถูกจำกัดให้เป็นแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่มีภารกิจหลักในการทำให้คนไทยมีบ้าน โดย ธอส.สามารถรับฝากเงินและการปล่อยสินเชื่อบ้านเท่านั้น แต่ว่าในโลกดิจิทัลแบงกิ้ง กลับทำให้ธนาคารแห่งนี้สามารถสยายปีกให้บริการทางการเงินได้มากขึ้น กว่านั้น

​          เส้นทางดิจิทัลเซอร์วิสแบงกิ้ง ถูกกรุยทางมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วางระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับตามแผนยุทธศาสตร์ "Transformation to digital service" ที่เอ็มดีหนุ่ม "นายฉัตรชัย ศิริไล" กรรมการผู้จัดการ ธอส. ได้มุ่งมั่นทำมาอย่าง ต่อเนื่อง หลังจากเข้ามานั่งเบอร์หนึ่งใน ธอส. ในช่วงกว่า 2 ปีแล้ว

​          และวันนี้ "เขา" ได้ประกาศว่า จะเห็น ธอส.เดินเครื่อง "ดิจิทัลเซอร์วิสแบงกิ้ง" เต็มรูปแบบภายในครึ่งปีหลังนี้แน่นอน หลังจากที่ธนาคารได้นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้ทุกส่วนของธุรกิจ การยกระดับการทำงานภายในองค์กรครอบคลุมถึงนวัตกรรมการเงินและช่องทางต่าง ๆ ของการให้บริการดิจิทัล เพื่อพลิกโฉมภาพเดิม ๆ ที่จะเห็นลูกค้ามายืนรอออเต็มหน้าเคาน์เตอร์เพื่อชำระค่าผ่อนงวดบ้านโดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือนของทุกเดือนที่ล้นออกมา ซึ่งที่ผ่านมา โครงการ Payment Gateway ได้ทยอยออกมาให้บริการบ้างแล้ว

​          โดยปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ธอส.นำเครื่องรับชำระหนี้อิเล็กทรอนิกส์ หรือ LRM มาให้บริการ "ชำระกี่บัญชี ก็นาทีเดียว" และภายในเดือนกรกฎาคม 2561 จะวางเครื่อง LRM เพิ่มขึ้นเป็น 170เครื่องเพื่อลดปัญหาการกระจุกตัวในการชำระหนี้ช่วงสิ้นเดือน และที่สำคัญช่วยลดปริมาณการทำธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์ของ ธอส.ด้วย

​          และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งนำ QR Non Cash Payment หรือเครื่องชำระเงินกู้ไร้เงินสด มาให้บริการรับลูกสังคมไร้เงินสด (cashless society) ตามนโยบายรัฐบาล โดยลูกค้า ธอส.สามารถจ่ายหนี้เงินกู้ ธอส.ง่ายขึ้น เพราะเลือกใช้ โมบายแอปพลิเคชั่นของธนาคารใดก็ได้ ในการโอนเงินเพื่อจ่ายหนี้ ธอส. เพียงแค่ระบุเลขที่บัญชีเงินกู้และเลือกบัญชีของธนาคารนั้น ๆ จำนวนเงินที่ต้องการชำระผ่านเครื่องนี้ หลังจากนั้นเครื่องนี้จะสร้าง QR code เฉพาะการชำระหนี้เงินกู้ครั้งนั้น ๆ ด้านลูกค้าก็ไม่ต้องไปถอนเงินสดมาจ่าย ธอส.ให้ยุ่งยาก ขณะนี้ มีเครื่อง QR Non Cash Payment ให้บริการราว 20เครื่อง โดยจะติดตั้ง ที่สาขา กทม.และปริมณฑลภายในเดือน ก.ค.นี้

​          "เครื่อง QR Non Cash Payment นี้จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระหนี้เงินกู้ของลูกค้าแบบค่อยเป็นค่อยไป จากเดิมใช้เงินสดผ่านหน้าเคาน์เตอร์ หรือตู้ LRM มาเป็นแบบ ไม่ต้องใช้เงินสด" เอ็มดีหนุ่ม ธอส.กล่าว

​          นอกจากนี้ยังได้จัดทำ "เครื่องรับฝากเงินประชารัฐ" หรือ Mobile Deposit Machine เป็นเครื่องรับฝากเงินให้บริการนอกสถานที่แก่ลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยตามชุมชนต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้เข้าถึงบริการที่รวดเร็ว มั่นใจ และปลอดภัย สร้างวินัยการเงิน และเสริมความเข้มแข็งในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อการมีบ้านในอนาคตด้วย ซึ่งเริ่มให้บริการ 200 เครื่องภายในเดือน ก.ค.นี้เช่นกัน

​          อีกโปรเจ็กต์ใหม่ที่กำลังจะออกมาในไตรมาส 3/61 นี้ คือ โมบาย แอปพลิเคชั่น ชื่อว่า "GHB ALL" ที่รวมบริการทุกอย่างของ ธอส.ไว้ในมือถือ ซึ่งคนทั่วไปสามารถโหลดแอปนี้ไว้บนมือถือได้ ถึงจะไม่เป็นลูกค้า ธอส.ก็ใช้บริการได้ ซึ่งจะต่างจากแบงก์พาณิชย์อื่น ๆ เพราะแอปนี้ไม่ใช่มีแค่ ธอส. แต่จะมีการรวมขายทรัพย์ของแบงก์รัฐ อื่น ๆ มาใส่ในแอปนี้ด้วย
โดยในส่วนบริการของ ธอส. ใน แอปนี้จะมีทั้งสมัครยื่นขอสินเชื่อเข้ามา หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป ขณะเดียวกันผู้ยื่นสมัคร สามารถถ่ายรูปบ้านและเอกสารทางการเงิน แบงก์ สเตตเมนต์ โดยแบงก์จะมี GPS ในการประเมินหลักประกันให้ ตรวจสอบประวัติข้อมูลลูกค้า และนำเอกสารมาทำ KYC (พิสูจน์ตัวตน) ของผู้กู้ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่สามารถทำได้ผ่าน แอปบนมือถือ

​          "แอปนี้จะกวาดเร็กคอร์ดของลูกค้า รวมทั้งเปิดให้ลูกค้าสามารถขอกู้เพิ่มได้ด้วย การประนอมหนี้ก็ทำผ่านแอปได้ นอกจากนี้ จะรวมข้อมูล NPA (ที่รอการขาย) ของแบงก์รัฐต่าง ๆ เข้ามาทั้งหมด ให้ดูในแอปนี้ได้ด้วย ซึ่งจะมีประมาณหลายหมื่นยูนิต ซึ่งเราจะเอาศูนย์ข้อมูลอสังหาฯทั้งของ SAM (บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท) และ BAM (บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์) มารวมทั้งหมด ถ้าเข้าไปจะเห็นข้อมูลแบงก์รัฐทั้งหมด ทรัพย์ของกรมบังคับคดี ก็เอามาอยู่ในแพลตฟอร์มบ้านมือสองของศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ โดยรวม ๆ จะทำให้บ้านมือสองเป็นอีกทางเลือกของประชาชน ซึ่งจะได้ทั้งราคา ทำเลที่ดีกว่าบ้านมือหนึ่ง" นายฉัตรชัยกล่าว

​          แอป GHB ALL จะให้บริการครบวงจรตั้งแต่จองคิว ติดต่อเจ้าหน้าที่ แจ้งความจำนงขอสินเชื่อ สอบถามสถานะการพิจารณาสินเชื่อ การแจ้งผลอนุมัติ การนัดทำนิติกรรม ชำระหนี้เงินกู้ โอนเงิน ใบเสร็จรับชำระหนี้ และแจ้งเตือนชำระหนี้เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แอปนี้จะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในสิ้นปีนี้แน่นอน

​          "เราตั้งเป้าหมายว่า ภายในสิ้นปีนี้ ธนาคารจะมีจำนวนธุรกรรมชำระหนี้เงินกู้ผ่านเพย์เมนต์เกตเวย์ ทั้ง 3 ช่องทาง เป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 40% ของจำนวนธุรกรรมที่มาชำระเงินกู้ที่หน้าเคาน์เตอร์ของเรา" นายฉัตรชัยกล่าว

​          ส่วนคำถามที่ว่า แล้ว ธอส.จะลดสาขาที่มีอยู่ 200 สาขาหรือไม่นั้น เขายืนยันว่า ธอส.ยังไม่มีนโยบายลดคนและลดสาขา แต่จะมีการปรับบางสาขาให้มีขนาดเล็กลง ส่วนพนักงานที่อยู่ในส่วนของเงินฝากก็จะย้ายเป็นอยู่ฝ่ายสินเชื่อ พร้อมกับบอกว่าปัจจุบันมีพนักงานอยู่ราว 5,000 คน ถือว่ากำลังดี และสาขา 220 สาขา อาจมีการขยายสาขาในบางพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ชายแดนภาคใต้ เช่น อ.เบตง จ.ยะลาด้วย

​          หลังจากนี้ จะเห็น ธอส.ยุค 4.0 ฟูลเวอร์ชั่น เปิดให้บริการลูกค้าที่ทำได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการ จำกัดเฉพาะลูกค้าแบงก์นั้น ๆ
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
(วันที่ 6 สิงหาคม 2561)