ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
14 ม.ค.2562

กรุงเทพฯ พื้นที่เสี่ยง 'บ้านทรุด' โยธาฯ เตรียม 'เข้ม' กันเกิดซ้ำ

Line

          จากข่าวครึกโครมที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ย่านรามคำแหงเมื่ออาคาร 2 ชั้น บริเวณ ซ.รามคำแหง 51/2 เกิดการทรุดตัว จนทำให้ผู้ที่สัญจรผ่านบริเวณนั้นบาดเจ็บถึง 2 ราย แม้ว่าในเบื้องต้นสาเหตุจะมาจากการรื้อถอนเพื่อก่อสร้างแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และปัจจุบันถูกระงับการรื้อถอน เพื่อตรวจสอบโครงสร้างแล้ว แต่ปัญหา ‘อาคารทรุด’ หรือ ‘บ้านทรุด’ ก็เป็นสิ่งที่เกิดให้เห็นซ้ำซาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งทุกครั้งที่เกิดขึ้นก็สร้างความเสียหายไม่ใช่น้อย โดยปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากการทรุดตัวของพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ส่วนใหญ่คือการละเลยการตรวจสอบอาคาร >>วิธีตรวจสอบโครงสร้างง่าย ๆ ก่อนบ้านทรุด



 
          พื้นที่ขอบเขตดินเหนียวอ่อนกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นทะเลมาก่อน, Zone A-F แสดงความหนาของชั้น ดินเหนียวอ่อนจากน้อยไปมาก (เชิดพันธ์ และวรากร, 2553)

          พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เคยเป็นทะเลมาก่อนเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว โดยชั้นดินบนสุดจะเป็นดินตะกอนในน้ำทะเล ทำให้ดินมีความอ่อนตัวมาก เรียกว่า ชั้นดินเหนียวอ่อน มีความหนาประมาณ 8-12 เมตร หากนับเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามภาพด้านบน ถือว่ามีชั้นดินเหนียวอ่อนที่มีความหนาแน่นสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ถึงแม้จะมีความหนาแน่นแต่ก็ไม่สามารถรับน้ำหนักอาคารได้โดยตรง จำเป็นจะต้องถมดินเพิ่ม และตอกเสาเข็มเพื่อถ่ายน้ำหนักอาคารลงไปสู่ชั้นดินด้านล่างที่แข็งแรงกว่า >>รู้เรื่องที่ดินก่อนสร้างบ้าน อาจจะประหยัดงบประมาณได้อีกเป็นล้าน

          จากการศึกษาของภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีการเกิดแผ่นดินทรุดตัวเฉลี่ยปีละประมาณ 1 เซนติเมตร และมีระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 1.8 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนของแผ่นดินอีกทั้งเมืองยังมีการขยายตัวทำให้แผ่นดินเกิดการทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 พื้นที่รามคำแหงถือเป็นพื้นที่ที่เกิดการทรุดตัวมากที่สุดคือ กว่า 2 เซนติเมตร >>“ที่ดินทรุด” ปัญหาโลกแตกที่เช็กและแก้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

กรมโยธาฯ เตรียมเข้มตรวจสอบอาคาร
          ปัญหาที่เกิดกับอาคารส่วนใหญ่มักเกิดจากการดัดแปลง ต่อเติมอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงการละเลยการตรวจสอบอาคาร สำหรับปัญหานี้ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังอยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบอาคาร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของสภาพอาคารในปัจจุบันมากขึ้น ได้แก่
  1. ทบทวนประเภทอาคารที่เข้าข่ายจะต้องจัดให้มีการตรวจสอบ โดยอาจเพิ่มเติมประเภทอาคารที่มีประชาชนเข้าไปใช้สอยจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนกวดวิชา หอพัก ฯลฯ
  2. เพิ่มเติมคำนิยามและข้อกำหนดให้เกิดความชัดเจนว่า การตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร
  3. เพิ่มเรื่องจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและการพัฒนาทางด้านวิชาชีพ อาจต้องกำหนดระดับของผู้ตรวจสอบอาคาร ขีดความสามารถในการทำงานของผู้ตรวจสอบอาคารระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล
  4. กำหนดให้มีผู้ดูแลอาคารสำหรับอาคารบางประเภท เพื่อการบำรุงรักษา เช่น ลิฟต์ บันไดหนีไฟ ดูแลอย่างไร
  5. กำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การตรวจสอบ ป้องกันการใช้ดุลพินิจ ขั้นตอนการออกใบรับรอง คู่มือการตรวจสอบ

          การตรวจสอบอาคารแบ่งเป็นการตรวจสอบประจำปี และการตรวจสอบใหญ่ทุก ๆ 5 ปี ปัจจุบันมีอาคารที่เข้าข่ายการตรวจสอบประมาณ 20,000 อาคาร ซึ่งประเภทอาคารที่กำหนดให้ต้องมีการตวจสอบมี 9 ประเภท ได้แก่
  1. อาคารชุมนุมคน (พื้นที่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือจุคนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป)
  2. อาคารสูง (สูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป)
  3. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (พื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป)
  4. โรงมหรสพ
  5. โรงแรม (ห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป)
  6. โรงงาน (สูงกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป)
  7. สถานบริการ (พื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป)
  8. อาคารอยู่อาศัยรวม หรืออาคารชุด (พื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป)
  9. ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งป้าย (สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารมีพื้นที่ตั้งแต่ 25 เมตรขึ้นไป)
          หากเจ้าของอาคารฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการตรวจสอบอาคารมีโทษ ดังนี้
  1. จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ปรับเป็นรายวัน วันละไม่เกิน 10,000 บาท
  3. ถูกระงับการใช้อาคาร

          จะเห็นได้ว่าปัญหา ‘อาคารทรุด’ หรือ ‘บ้านทรุด’ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นไกลตัว และส่วนใหญ่เกิดจากการละเลยของเจ้าของอาคารหรือที่อยู่อาศัย ดังนั้น การจะต่อเติม หรือดัดแปลงอาคาร ควรให้ความสำคัญกับความแข็งแรง มั่นคงเป็นหลัก เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น


ขอบคุณภาพจาก จส.100
ที่มา : ddproperty.com