ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
23 มิ.ย.2557

ชำแหละ "แรงงานต่างด้าว" ในไซต์ก่อสร้าง ถูกหรือผิดกฎหมาย ทำไมมีแต่ปัญหา?

Line

แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานาน สำหรับวงการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ปี"55 สภาพปัญหาน่าจะหนักที่สุด เพราะหลังน้ำท่วมเกิดภาวะแรงงานคนไทยคืนถิ่นจนทำให้ไซต์ก่อสร้างอสังหาฯ ต้องเจอวิกฤตแรงงานถ้วนหน้า

ล่าสุดปัญหาปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ "คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" เดินหน้านโยบายจัดระเบียบแรงงานทำให้ต่างด้าวเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย พากันอพยพกลับถิ่นเกิด โดยเฉพาะชาวกัมพูชาที่แห่แหนกลับบ้านในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนคน ไม่ต่างอะไรกับนกแตกรังที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่าง "ถูกกฎหมาย" หรือ "ผิดกฎหมาย" ล้วนแต่สร้างปัญหาให้กับนายจ้าง หรือผู้ประกอบการด้วยกันทั้งนั้น

 

ก่อสร้างใช้ต่างด้าวอันดับ 1

แกะตัวเลขจาก "สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว" ของกระทรวงแรงงาน ณ ปี"55 สำรวจพบมีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย รวม 1,133,851 คน แบ่งเป็นแรงงานถูกกฎหมาย 940,531 คน ผิดกฎหมาย 193,320 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวจาก 3 ประเทศ รวมกันมีสัดส่วน 80-90% คือ "ลาว-เมียนมาร์-กัมพูชา"

เมื่อเจาะลงลึกรายละเอียดแล้วพบว่า สถิติปี"55 จำนวนของ 3 ประเทศนี้รวมกันเป็นแรงงานผิดกฎหมายรวม 167,881 คน

ประเด็นที่น่าสนใจคือประเภทกิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายพบว่า ภาคการก่อสร้างครองแชมป์สูงสุด รวม 42,936 คน แบ่งเป็นใช้ใน "กิจการก่อสร้าง" 39,601 คน "ผลิตหรือจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง" 3,325 คน (อันดับรองลงมาคือ ภาคเกษตรและปศุสัตว์ 30,235 คน, บริการต่าง ๆ 15,597 คน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 10,991 คน ฯลฯ)

"ประชาชาติธุรกิจ" ตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านมุมมอง 2 สมาคมหลัก ประกอบด้วย "อธิป พีชานนท์" นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กับ "วิสิษฐ์ โมไนยพงศ์" นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน รวมทั้งแหล่งข่าวไม่เปิดเผยนามพบว่า กระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย มีรายละเอียดที่เป็นอุปสรรคนานาประการ

ค่าใช้จ่ายหัวละ 2 หมื่น

เริ่มต้นจากประเด็นแรก คือ...ค่าใช้จ่ายสูง ตั้งแต่ 1.8-2.5 หมื่นบาท ถัวเฉลี่ยหัวละ 2 หมื่นบาท เช่น ค่าหัวคิวที่ต้องจ่ายให้กับนายหน้า ค่าทำพาสปอร์ต ค่าตรวจโรค ค่าเดินทาง ค่าขึ้นทะเบียน ฯลฯ ถือว่าสูงมาก

คำนวณค่าใช้จ่าย หากนำเข้าแรงงานต่างด้าว 100 คน เท่ากับจะมีค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาท กรณีไซต์งานก่อสร้างบ้านจัดสรร หากเป็นโครงการขนาดใหญ่อาจต้องใช้คนงานถึง 100 คน ถ้าเป็นคอนโดมิเนียมไฮไรส์สูงกว่า 20 ชั้นที่มีหลายไซต์ รวม ๆ กันอาจต้องใช้แรงงานถึง 1 พันคน แถมมีนายหน้าบางรายไปเรียกเก็บค่าหัวคิวเพิ่มกับแรงงานอีกต่อหนึ่งโดยใช้วิธีหักจากเงินเดือน ทำให้แรงงานต่างด้าวก็ไม่อยากขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ปัญหาไม่ได้จบที่ค่าใช้จ่ายเท่านั้น !

ทำถูกกฎหมายเจอแย่งซื้อตัว

สิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ในวงการอสังหาฯคือ การดึงตัวแรงงาน ถ้าผู้รับเหมาก่อสร้างหรือผู้ประกอบการต้องลงทุนต่อหัวถึง 2 หมื่นบาท แต่มาทำงานได้ 1-2 เดือน ก็ถูกแย่งตัวหายไปแบบไม่บอกกล่าว ย่อมไม่คุ้ม

คำถามคือ ถ้าไม่พึ่งพา "นายหน้า" จัดหาแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทำได้หรือไม่ ? ในทางทฤษฎีทำได้...แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างยาก เพราะเอกชนไม่รู้แหล่งช่องทางเข้าถึงตัวแรงงานต่างด้าว ไม่สามารถสื่อสารภาษากัมพูชาได้

ในขณะเดียวกันก็มีแรงงานส่วนหนึ่งที่เป็นชนกลุ่มน้อยในกัมพูชา ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ยอมเสี่ยงมาขุดทองต่างแดน ซึ่งกลุ่มนี้ถึงอยากขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ติดที่ไม่มีหลักฐานแสดงตนสะดุดตอห้ามทำงานข้ามเขต

ประเด็นถัดมาที่ทำให้ไซต์ก่อสร้างไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาแรงงานต่างด้าวนอกระบบได้ นั่นคือ...เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องทำงานภายในพื้นที่เขต หรืออำเภอที่ขอขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น โดยหลักการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจะต้องแจ้งชื่อ สังกัดที่ทำงาน และเขตพื้นที่ทำงาน

แต่ในทางปฏิบัติ "แรงงานก่อสร้าง" ไม่เหมือน "โรงงานอุตสาหกรรม" ที่ต้องย้ายสถานที่ทำงานไปตามไซต์ก่อสร้างใหม่อยู่เรื่อย ๆ ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมให้คนทำงานอยู่กับที่

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องแคมป์ที่พักคนงานอยู่คนละเขตกับไซต์ก่อสร้าง ปัญหาคือระหว่างเดินทางหากถูกเรียกตรวจก็ถือว่ามีความผิดแล้ว

ขณะที่ถ้าจะขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เมื่อย้ายสถานที่ทำงานไปอยู่ในไซต์ก่อสร้างใหม่อีกเขตหนึ่งก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมขออนุญาตอีกครั้ง กลายเป็นข้อจำกัดว่าทำไมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายยังดำรงอยู่

เหลือบหัวคิว-เงินใต้โต๊ะรุม

ปัญหาที่ลึกที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง คือ "ค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น" ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแสวงหาอนาคตใหม่ในเมืองไทย เหมือนตกอยู่ในภาวะหนีเสือปะจระเข้ ทั้งจากนายหน้าบางรายที่มีการหักเงินรายเดือนจากแรงงานต่างด้าวอย่างหน้าตาเฉยจากรายได้รายวัน เป็นต้น เรื่องนี้เป็นภาระของตัวแรงงานเอง ในเวลาเดียวกันยังมีค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นจากฟากผู้ประกอบการไทยหรือนายจ้าง อธิบายง่าย ๆ ก็คือเงินใต้โต๊ะนั่นเอง

ยกตัวอย่าง ถ้าต้องการจดทะเบียนให้ถูกกฎหมาย จะต้องผ่านด่าน 7-8 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงแรงงาน ตำรวจท้องที่ ตำรวจกองปราบปราม ตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานสาธารณสุข ฯลฯ เรียกว่ากว่าจะได้ตัวแรงงานต่างด้าวมาทำงานด้วยสักคน ใช้เวลากับหน่วยงานถึง 60-90 วัน ความล่าช้ายังไม่น่าหนักใจเท่ากับเมื่อลงมือทำงานแล้ว หน่วยงานจะขยันเข้ามาตรวจสอบในไซต์ก่อสร้างหรือสถานที่ทำงาน เฉลี่ยถี่เดือนละ 1-2 ครั้ง ว่ากันว่า...ถ้าไม่อยากเจอปัญหาจุกจิกพวกนี้ มีราคาเหมาจ่ายหัวละ 100 บาท/เดือน

เอกชนเสนอ 4 ข้อแก้ปัญหา

การใช้แรงงานต่างด้าวยังมีมุมมองจากเหรียญอีกด้าน นั่นคือปัจจุบันคนไทยยึดอาชีพแรงงานก่อสร้างน้อยลงเรื่อย ๆ ประเทศไทยจึงเข้าสู่ยุคการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในภาคก่อสร้างเต็มตัว จากการรวบรวมข้อเรียกร้องจากตัวแทนผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยสรุปมี 4 ข้อหลัก ๆ ด้วยกัน

1.เสนอจัดตั้งหน่วยงานบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ "วันสต็อปเซอร์วิส" เพื่อลดขั้นตอนขอขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้เหลือไม่เกิน 30 วัน 2.ค่าใช้จ่ายต่อหัวรวมแล้วไม่ควรจะเกิน 5,000 บาท เพื่อจูงใจให้เข้าสู่ระบบถูกกฎหมายมากขึ้น 3.ปลดล็อกปัญหาให้สามารถ "ทำงานข้ามเขต" ได้ เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาที่แท้จริง เนื่องจากไซต์ก่อสร้างมีเหตุผลในการเปลี่ยนสถานที่ทำงานไปตามโครงการที่จะก่อสร้าง ซึ่งเป็นเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ชัดเจน และ 4.ภาครัฐควรจะถือโอกาสจัดระเบียบอีกครั้ง ด้วยการเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกกฎหมาย

การใช้แรงงานต่างด้าวทั้งถูกและผิดกฎหมาย จึงเป็นเผือกร้อนที่รอ "คสช." แก้ไขให้ตรงจุดเพื่อปลดล็อกปัญหาอย่างถาวร

ที่มา :  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 23 มิ.ย. 2557 เวลา 13:12:27 น.
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1403504063