ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
25 ส.ค.2557

เปิดไส้ใน NPL หนี้ครัวเรือน อสังหาฯ-บริโภค-รถ นำโด่ง

Line

             แบงก์ชาติเผยธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ยอดหนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบ 3.39 พันล้านบาท รองมาเป็นอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ระบุหนี้เพิ่มเกิดจากลูกหนี้ใหม่ก่อตัวในธุรกิจอุปโภคบริโภคและกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด ขณะเดียวกันกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์กลับมาเป็นรีเอ็นทรีใหม่

          รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ฝ่ายสถาบันการเงินของ ธปท.ได้ประกาศข้อมูลยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แยกตามประเภทธุรกิจของสถาบันการเงินทั้งระบบล่าสุดไตรมาส 2 ปี 57 พบว่า การเพิ่มขึ้นเอ็นพีแอลของทั้งระบบ 3.99 พันล้านบาท ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากปัจจุบันที่มียอดคงค้าง 2.84 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.28%ของสินเชื่อรวม โดยยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น อันดับแรกเป็นธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 3.39 พันล้านบาท

          ขณะที่ธุรกิจการผลิตมียอดเอ็นพีแอลลดลงมากที่สุด 3.48 พันล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีการเพิ่มขึ้นยอดเอ็นพีแอล ได้แก่ อุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 2.73 พันล้านบาท ธุรกิจขายส่งและการขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 2.38 พันล้านบาท และธุรกิจเหมืองแร่และเหมืองหิน 60 ล้านบาท

          ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนเอ็นพีแอลแต่ละธุรกิจ 3 อันดับแรก พบว่า อุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอยู่ที่ 28.81% ของเอ็นพีแอลรวม รองลงมาเป็นธุรกิจการผลิต 27.46% และธุรกิจขายส่งและการขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 15.37% ขณะที่เมื่อพิจารณาสัดส่วนเอ็นพีแอลกับสินเชื่อปล่อยออกไป อันดับแรกเป็นธุรกิจก่อสร้างมีสัดส่วน 5.46% ต่อสินเชื่อรวม ธุรกิจเกษตร ป่าไม้ และประมง 3.98% ผลิต 3.56% บริการ 3.32% อุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 2.45% ใกล้เคียงกับธุรกิจขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 2.4%

          เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสาเหตุการเพิ่มขึ้นเอ็นพีแอลแต่ละธุรกิจ พบว่า เอ็นพีแอลรายใหม่เกิดขึ้นในธุรกิจอุปโภคบริโภคมากที่สุด 3.04 พันล้านบาท และกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 1.76 พันล้านบาท ขณะที่หนี้เคยปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็นหนี้อีกครั้ง (รีเอ็นทรี) เพิ่มขึ้นในธุรกิจกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด 567 ล้านบาท ขณะที่อุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 240 ล้านบาท ขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 125 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากด้วยเหตุผลอื่นๆ ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นมากสุด 424 ล้านบาท

          สำหรับสาเหตุการลดลง พบว่า ธุรกิจเลือกวิธีปรับโครงสร้างหนี้ได้มากที่สุด คือ ธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 1.16 พันล้านบาท ส่วนเลือกวิธีอื่นให้หนี้ลดลงทั้งจากกรณีไม่ปรับโครงสร้างหนี้โอนเป็นหนี้ปกติ หรือการรับชำระหนี้ ตัดหนี้สูญของหนี้ที่หมดสิทธิเรียกร้อง รวมทั้งการขายหนี้ เป็นต้น ธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเลือกใช้วิธีนี้และหนี้ลดลงมากที่สุด 3.94 พันล้านบาท ตามมาด้วยธุรกิจการผลิต 3.17 พันล้านบาท

          การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียข้างต้น สอดคล้องกับรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 5/2557 ซึ่งได้เผยแพร่ล่าสุด กรรมการบางคนในบอร์ด กนง.แสดงความ เป็นห่วงและสั่งให้ ธปท.ติดตามภาวะหนี้ครัวเรือน ที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน เนื่องจากอัตราการก่อหนี้ใหม่ยังสูงกว่าการขยายตัวของรายได้

 

ที่มา : ASTVผู้จัดการรายวัน ( 22 สิงหาคม 2557 )