ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
25 ส.ค.2557

แอลเอชแบงก์แข่งสินเชื่อบ้าน ไม่ต้องดาวน์-ผ่อนต่ำ4พันบ.

Line

          ครึ่งปีหลัง "แอลเอชแบงก์" ลั่นกลองรบ ลุยสินเชื่อบ้าน งัดไม้เด็ดลูกค้าไม่มี เงินดาวน์ยื่นขอกู้ได้ เปิดช่องผ่อนแค่ล้านละ 4,000 บาท/เดือน

          นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มสินเชื่อ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากทิศทางการขยายตัว ของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของ ปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2558 จะฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้นตามลำดับ ทำให้จากนี้ไปธนาคารจะหันกลับมารุกตลาดสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยอีกครั้ง หลังชะลอการปล่อย สินเชื่อมาก่อนหน้านี้เพราะกังวลเรื่องคุณภาพสินเชื่อ

          โดยในช่วงครึ่งปีแรก สินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงมากถึง 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยจะเน้นเลือกลูกค้าที่มีคุณภาพระดับรายได้ประมาณ 100,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป หรือซื้อบ้านที่ราคาประมาณ 5 ล้านบาท เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อที่ดี ขณะเดียวกันยังจำกัดวงเงินสินเชื่ออยู่ที่สัดส่วน 90-95% ของราคาประเมิน

          "ครึ่งปีแรกสินเชื่อที่อยู่อาศัยในภาพรวมของระบบยังขยายตัวได้ แม้เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลง แต่เราเป็นคนเลือกที่จะไม่เติบโตเอง เพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ จึงเลือกที่จะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และเลือกที่จะไม่ปล่อยกู้เต็มวงเงินเหมือนผู้เล่นรายอื่น ๆ โดยให้ ลูกค้าจ่ายเงินดาวน์อย่างน้อย 5-10% จึงทำให้ลูกค้าหันไปใช้บริการกับแบงก์อื่นแทน" นางสุธารทิพย์กล่าว

          สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคาร.มองว่าถึงเวลาที่จะเริ่มเข้ามาบุกตลาด สินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างเต็มที่ โดยพร้อมจะอนุมัติสินเชื่อให้เต็ม 100% (สินเชื่อบ้านรวมกับสินเชื่อตกแต่ง) แต่เน้นกลุ่มที่เป็นลูกค้าของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) รายใหญ่ทั้ง 12 ราย โดยปีนี้ได้ตั้งเป้าขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท หรือเติบโต 3% จาก พอร์ตสินเชื่อที่มีประมาณ 30,000 ล้านบาท นั่นหมายถึงครึ่งปีหลังธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคาร ส่วนใหญ่ยังเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ เพราะส่วนใหญ่จะเน้นให้บริการลูกค้าในเครือบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ส่วนครึ่งปีหลังธนาคารจะเน้นกลุ่มลูกค้าบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ระดับราคา 3-5 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมราคา 2-3 ล้านบาทมากขึ้น ซึ่งธนาคารคิดอัตราการผ่อนชำระประมาณเดือนละ 4,000 บาทต่อราคาบ้าน 1 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ที่มีรายได้เริ่มต้น 20,000-25,000 บาทต่อเดือนก็สามารถซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้แล้ว แต่ภาระหนี้ในแต่ละเดือนของมูลหนี้ก้อนดังกล่าวนี้จะต้อง ไม่เกิน 50% ของรายได้

          นางสุธารทิพย์กล่าวถึงส่วนของสินเชื่อเอสเอ็มอีว่า ธนาคารเน้นจับกลุ่มลูกค้า ต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการขายวัสดุก่อสร้าง ดีลเลอร์ รถมอเตอร์ไซค์ สหกรณ์ ซึ่งจะเป็นการเข้าไปปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจให้เพิ่มเติม เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่ระดับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำและมีมาร์จิ้นดี และจะมีธนาคารที่ใช้บริการเป็นประจำ อยู่แล้ว

          "ลูกค้ากลุ่มนี้มีมาร์จิ้นในการทำ ธุรกิจสูง เช่น เช่าซื้อรถยนต์คิดดอกเบี้ย 20% แต่เราคิดดอกเบี้ยจากเขาประมาณ 7-8% แต่เราให้วงเงินแต่ละรายกับเขาไม่ได้มากนักประมาณ 15% ของวงเงินกู้จากเจ้าอื่น เช่น เขาได้วงเงิน 1,000 ล้านบาท เราก็จะเข้าไปปล่อยกู้เพิ่มเติมให้เขา 100-200 ล้านบาท โดยเราเชื่อว่าถ้าขยายฐานลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากขึ้นก็จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เราขยับขึ้นจากปัจจุบัน 2% กว่า เพิ่มเป็น 3% และทำให้สินเชื่อทั้งปี โตได้ 10%"

          ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารเดินหน้าปรับโครงสร้างสินเชื่อและเงินฝาก ให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยด้าน สินเชื่อจากเดิมที่เน้นเพียงสินเชื่อ รายย่อยหันมาให้ความสำคัญกับสินเชื่อ เอสเอ็มอีและสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ มากขึ้น โดยวางเป้าหมายให้สินเชื่อ รายย่อย สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อ รายใหญ่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน จาก ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย 30% สินเชื่อรายใหญ่ 45% สินเชื่อเอสเอ็มอี 19% ถือว่าสมดุลขึ้นจากเดิมที่ 80% จะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย

          ส่วนเงินฝากก็สามารถระดมเงินฝากจากลูกค้าทั่วไปผ่านสาขาในรูปแบบ ของ Microbranch ได้มากขึ้น ส่งผลให้สามารถลดภาระดอกเบี้ยจ่ายระยะยาว ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีสาขา 115 แห่ง คาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 118 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นสาขา ในต่างจังหวัด ถือเป็นไปตามยุทธศาสตร์ Outside in ที่เน้นการเติบโตจากรอบนอกสู่ศูนย์กลางกรุงเทพมหานคร

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ     ( 25 สิงหาคม 2557 )