ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
06 ต.ค.2557

วงการอสังหาฯยุคใหม่ ถึงเวลาสู่ยุค ไร้ใยหิน

Line

          แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏ และได้รับการสรุปแล้วโดย กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดขึ้นจาก "แร่ใยหิน" ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมถึงกว่า 50 ประเทศทั่วโลกที่เลิกใช้แล้วก่อนหน้านี้ มีข้อสรุปตรงกันว่า "แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์" ซึ่งมีผลให้กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4

          แต่ก็ยังมีความพยายามตอบโต้ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนให้ยกเลิกและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งสุดท้ายหนีไม่พ้นที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจอสังหาฯ ในอนาคตแน่นอน

          น.พ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่ากว่า 50 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการใช้อย่างสมบูรณ์ ข้อเท็จจริงคือ การที่องค์กรสากลระหว่างประเทศ ทั้ง WHO และ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีผลสรุปตรงกันว่าจะระงับการใช้แร่ใยหินอย่างชัดเจน ทางกระทรวงสาธารณสุขเองจะเข้าไปทำการดูแลแรงงานในช่วงระยะเวลาที่รอการยกเลิก ซึ่งมีความชัดเจนเป็นคำสั่งจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยจะทำทั้งการเข้าไปตรวจสอบวินิจฉัย และติดตามผู้ป่วย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในด้านข้อมูลต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ที่สำรวจโดยหลายสถาบันและนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย และข้อมูลล่าสุดยืนยันได้ว่าในประเทศไทย พบผู้ป่วยแล้ว 4-6 ราย

          เช่นเดียวกับที่ "สมบุญ สีคำดอกแค" ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย หรือ TBAN ได้กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงพบว่า ทั้ง WHO และองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้เคยเข้าร่วมประชุมกับกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2555 โดย Dr.Maureen E.Birmingham ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และ Ms.Ingrid Christnesen  จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ก็ยืนยันชัดเจนว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นอันตราย เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในมนุษย์ โดยระบุด้วยว่า ผู้คนราว 107,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตเพราะโรคปอดที่มีสาเหตุจากแร่ใยหิน และแต่ละปีผู้คนหลายพันคนเสียชีวิตเนื่องจากสัมผัสกับแร่ใยหิน โดยราว 125 ล้านคนทั่วโลกมีความเสี่ยงจากการสัมผัสกับแร่ใยหินในชีวิตประจำวัน และเห็นตรงกันในการสนับสนุนและผลักดันให้ไทยยกเลิกการใช้แร่ใยหิน

          จึงป่วยการที่จะต้องถกเถียงกันว่า "แร่ใยหิน" นั้นมีอันตรายจริงหรือไม่?

          นำไปสู่เสียงสนับสนุนและตอบรับโดยภาคเอกชน และภาค อสังหาฯ ของไทย "สาธิต สุดบรรทัด" บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วหากภาครัฐจะมีการให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากสินค้าที่ใช้แร่ใยหินอยู่ที่ประมาณไม่ถึง 40% และมีเครื่องจักรที่ใช้ผลิตสินค้าที่ใช้แร่ใยหินอยู่ 5 เครื่อง ถ้าต้องปรับปรุงเครื่องจักร ให้สามารถผลิตสินค้าที่ไม่ใช้แร่ใยหินจะใช้เงินลงทุนต่อเครื่องละ 50 ล้านบาท หรือทั้งหมดประมาณ 250 ล้านบาท โดยแผนของบริษัทนั้นในปี 2560 ต้องการมีรายได้จากสินค้าที่ใช้แร่ใยหินให้ไม่ถึง 5%

          เช่นเดียวกับ "พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์" นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า เมื่อในต่างประเทศมีข้อมูลชัดเจนแล้วว่าแร่ใยหินเป็นสารตั้งต้นการก่อมะเร็งก็ควรจะมีความพยายามที่จะลดการใช้ ทางสมาชิกของสมาคมฯ ก็มีความพยายามที่จะลดการใช้ลง โดยในปัจจุบันกลุ่มที่ผลิตบ้านเดี่ยวนั้น มีการยกเลิกการใช้ไปแล้ว เหลือแต่กลุ่มผู้ประกอบการบ้านขนาดเล็ก อย่างทาวน์เฮาส์ ที่ยังคงมีใช้กันอยู่

          "ส่วนการจะยกเลิกทั้งหมดหรือไม่นั้น คงต้องไปถามทางผู้ผลิต เพราะปัจจุบันสมาชิกของสมาคมฯ ได้ลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ และเรื่องนี้หากจะต้องมีการรณรงค์ก็ควรจะรณรงค์ผ่านทางสถาปนิก เพราะหากแบบของทางสถาปนิกระบุไม่ให้มีวัสดุส่วนผสมแร่ใยหินอยู่ในแบบ หรือระบุในแบบเป็นสินค้าที่เป็นสารทดแทน ทางเจ้าของโครงการก็อาจใช้ผลิตภัณฑ์ตามแบบนั้นๆ แทน โดยเฉพาะในกรณีถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากสารทดแทน แล้วมีต้นทุนที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์เดิมไม่มาก ก็สามารถที่จะยกเลิกทั้งหมดได้" ด้าน "สิทธิพร สุวรรณสุต" นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ในประเทศไทยยังเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันระหว่างสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผลักดันให้ยกเลิกและไม่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน นำโดยผู้ประกอบการและนักวิชาการ ในฐานะผู้บริโภคถ้าเป็นอันตรายจริง ก็จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการยกเลิก ในปัจจุบันบทบาทสมาชิกสมาคมฯ พยายามเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินอยู่แล้ว

          "นอกจากนี้ ปัจจุบันการซื้อวัสดุก่อสร้างหรือผู้ประกอบการซัพพลายส่วนหนึ่งก็เลิกใช้ไปด้วยบทบาทของความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น กลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะต้องมีแนวทางการเลิกใช้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้สินค้าที่ผลิตให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯ ก็ต้องยกเลิกไปโดยปริยาย ทางสมาคมฯ เองก็เลี่ยงที่จะไม่ใช้ ในเบื้องต้นก็ปฏิบัติกันแบบนี้"

          แม้ว่าข้อโต้แย้งเกี่ยวกับพิษภัยและอันตรายจากแร่ใยหินจะยังคงดำเนินต่อไป แต่ส่วนหนึ่งของข้อมูล และการเตรียม พร้อมของภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ที่เป็นภาคธุรกิจสำคัญ ซึ่งเกี่ยวพันกับการ "ยกเลิก-ไม่ยกเลิกแร่ใยหิน" น่าจะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเกี่ยวกับอนาคตของการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงจุดสิ้นสุดของมหากาพย์แร่ใยหิน

          เมื่อทุกภาคส่วนมีมุมมองในเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แห่งวงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำลังเดินหน้าไปสู่ยุคใหม่

          "ยุคอสังหาฯ ไร้ใยหิน"

ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์