ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
13 ก.ค.2556

บ้าน-คอนโดฯ แพงขึ้นทั่วหน้า ผลพวงค่าแรง ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่ง

Line

ศูนย์ข้อมูลฯ ระบุครึ่งแรกของปี 56 ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทั้งห้องชุด บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ราคาปรับเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า เหตุมาจากปัจจัยค่าแรง และต้นทุนวัสดุก่อสร้างตัวเป็นหลัก เผยเฉพาะห้องชุดในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 7.2 ระบุห้องชุดที่ทำราคาต่ำกว่า 5 หมื่นบาทต่อ ตร.ม.เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.1 ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้นมากกว่าบ้านเดี่ยว
        
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รายงานตัวเลขดัชนีราคาห้องชุด ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว และดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ ประจำงวดครึ่งแรก ปี 2556 พบว่า ที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุด มีค่าความเปลี่ยนแปลงของดัชนีมากที่สุด โดยดัชนีราคาห้องชุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับงวดครึ่งแรกปี 2555 ส่วนในประเภทบ้านจัดสรร พบว่า ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้เริ่มจัดทำดัชนีราคาห้องชุดเป็นครั้งแรกในงวดประจำครึ่งแรกปี 2553 ส่วนดัชนีราคาบ้านเดี่ยว และดัชนีราคาทาวน์เฮาส์นั้น ได้เริ่มจัดทำเป็นครั้งแรกในงวดประจำครึ่งแรก ปี 2554 โดยใช้ราคาในครึ่งหลังปี 2552 เป็นปีฐานสำหรับดัชนีทั้ง 3 ประเภท

ทั้งนี้ ดัชนีราคาห้องชุดเป็นการประมวลผลจาการสำรวจโครงการอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯจังหวัดเดียว สำหรับดัชนีราคาบ้านเดี่ยว และดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ เป็นการประมวลผลจากการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยมีรายละเอียดได้นี้

ดัชนีราคาห้องชุดรวมทุกระดับราคา สำหรับครึ่งแรกของปี 2556 มีค่าดัชนีเท่ากับ 123.9 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2555 โดยเมื่อแยกพิจารณาในแต่ละช่วงราคา พบว่า

ห้องชุดที่มีระดับราคาต่ำกว่า 50,000 บาท/ตารางเมตร (ตร.ม.) มีค่าดัชนีเท่ากับ 129.5 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับครึ่งแรก ปี 2555
       
ห้องชุดที่มีระดับราคา 50,000-79,999 บาท/ตร.ม. มีค่าดัชนีเท่ากับ 123.5 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับครึ่งแรก ปี 2555
       
ห้องชุดที่มีระดับราคาตั้งแต่ 80,000 บาท/ตร.ม.ขึ้นไป มีค่าดัชนีเท่ากับ 110.8 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับครึ่งแรก ปี 2555
       
ทั้งนี้ หากแยกเป็นทำเลแล้วจะพบว่า ห้องชุดในระดับราคาต่ำกว่า 50,000 บาท/ตร.ม. มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าห้องชุดในระดับราคาอื่นๆ โดยเขตที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เขตวังทองหลาง (ถนนรามคำแหง) เขตคันนายาว (ถนนรามอินทรา) เขตประเวศ (ถนนศรีนครินทร์) เขตห้วยขวาง (ในซอยลึกเข้าไปจากถนนลาดพร้าว)
       
ส่วนห้องชุดระดับราคา 50,000-79,999 บาท/ตร.ม. เขตที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เขตห้วยขวาง (ถนนรัชดาภิเษก) เขตดินแดง (ถนนรัชดาภิเษก) เขตจตุจักร เขตบางกะปิ (ถนนรามคำแหง) และในเขตราษฎร์บูรณะ
       
และสำหรับห้องชุดระดับราคาสูงกว่า 80,000 บาท/ตร.ม. ปรับราคาเพิ่มขึ้นน้อยกว่าห้องชุดในระดับราคาต่ำกว่า เขตที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตราชเทวี เขตวัฒนา เขตพระโขนง และเขตสาทร
       
สำหรับดัชนีราคาบ้านเดี่ยว ในกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 112.8 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2555 โดยหากแยกพื้นที่ พบว่า เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และใน 3 จังหวัดปริมณฑลปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0
       
ดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ ในกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 118.4 ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2555 โดยหากแยกพื้นที่ พบว่า เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 และใน 3 จังหวัดปริมณฑลปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9
       
ดัชนีราคาห้องชุด ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว และดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ ต่างเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับรอบครึ่งปีที่ผ่านมาหลายงวดรายงาน สืบเนื่องจากห้องชุด บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ ที่เปิดขายใหม่ในครึ่งแรกของปีมีราคาสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรง และราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น.
       
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงบริษัทรับสร้างบ้าน ได้ประกาศปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัย 5-10% ซึ่งเป็นผลมาจากค่าแรงที่สูงขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล และปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ภาคการก่อสร้างกำลังประสบปัญหา ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหันไปลดต้นทุน โดยนำนวัตกรรมก่อสร้างสำเร็จรูป (พรีแฟบ) หรือชิ้นส่วนสำเร็จรูป หลังคาสำเร็จรูป มาช่วยการก่อสร้าง เพื่อร่นระยะเวลา และบริหารความเสี่ยงเรื่องแรงงาน อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลในบางโครงการ ได้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งออกมาตรการบริหารความเสี่ยงในด้านสินเชื่อพัฒนาโครงการ และสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อในระบบยังอยู่ในอัตราที่สูง

 

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 กรกฎาคม 2556