ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวประชาสัมพันธ์
Line
22 พ.ค.2555

แฟรนไชส์รับสร้างบ้าน ประตูสู่ความสำเร็จ “พีดีเฮ้าส์”

Line

              “สิทธิพร สุวรรณสุต” เปิดใจตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษ ที่บุกเบิกแฟรนไชส์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ ถือเป็นบทพิสูจน์ความจริงและลบความเชื่อที่กล่าวกันว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านที่มีความสลับซับซ้อนนั้น ผู้ไม่มีประสบการณ์ไม่อาจทำได้สำเร็จ ให้เปลี่ยนมาเป็น “คุณก็ทำได้ โดยไม่ต้องมีประสบการณ์มาก่อน ด้วยระบบแฟรนไชส์พีดีเฮ้าส์”
  
               “คุณสิทธิพร”     บอกว่าทฤษฎีเก่าที่ว่า ต้องมีประสบการณ์มาก่อน ได้ถูกลบล้างลงจากการที่บริษัทฯ ได้นำเอา “ระบบงาน” ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 20 ปี มาสร้างเป็น “คู่มือการปฏิบัติงาน” เพื่อถ่ายทอดสู่ “ผู้ลงทุน” ที่มีความตั้งใจจะเป็นเจ้าของธุรกิจเอง บวกกับการสนับสนุนการจัดการและปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ ดังนั้นผู้ลงทุนที่ไม่เคยมีประสบการณ์งานสร้างบ้านมาก่อน ก็สามารถเป็นเจ้าของและบริหารธุรกิจได้เหมือนๆ กับเรา โดยนำระบบแฟรนไชส์มาใช้เป็นหลักเพื่อสร้างพื้นฐานการจัดการธุรกิจ

               ที่ผ่านมามีผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจรับสร้างบ้าน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี และมักจะทำธุรกิจแบบที่เรียกว่าลองผิดลองถูก ตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ  ซึ่งการแข่งขันลักษณ์ดังกล่าวเหมาะสำหรับการทำธุรกิจในอดีต แต่ในอนาคตธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ต้องเผชิญกับการเปิดเสรีทางการค้าและแข่งขันกันในระดับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ฉะนั้นถ้ายังเป็นเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจด้วยแนวคิดแบบเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา ก็คงอยู่บนเวทีการแข่งขันอย่างลำบาก

              “จุดเด่นของแฟรนไชส์รับสร้างบ้านคือ สามารถสร้างเป็นเครือข่ายให้เข้มแข็งและก้าวไปด้วยกัน ซึ่งกำลังจะพิสูจน์ในสเต็ปต่อไปว่าการสร้างเครือข่ายนั้น มีประโยชน์อย่างไร สำหรับผู้ประกอบการในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้าน ทั้งในส่วนที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์และผู้มาลงทุนซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์”

              นอกจากนี้ในแง่ของการพัฒนาตลาดรวมรับสร้างบ้าน ทำให้เกิดมาตรฐานของธุรกิจ มาตรฐานของผู้ประกอบการ มาตรฐานของสินค้าระดับกลาง มาตรฐานระดับราคา รวมไปถึงการการทำธุรกิจของผู้ประกอบการที่เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง เช่น การเข้าสู่ระบบภาษี กฎหมายก่อสร้าง ฯลฯ เป็นต้น ที่ผ่านมาคำว่ามาตรฐานเป็นแบบ “ของใคร ของมัน” ไม่มีตัวกำหนดที่ชี้ชัดเจนว่า แนวทางของใครที่เป็นมาตรฐานยอมรับได้ แต่ในส่วนแฟรนไชส์พีดีเฮ้าส์ ถูกนำมาต่อยอดและสร้างเป็นรูปแบบ ฉะนั้นบริษัทรับสร้างบ้านที่เกิดขึ้นหรือเข้ามาใหม่ จะยึดถือหรือใช้แนวทางและมาตรฐานนี้ในการทำธุรกิจ รวมไปถึงมาตรฐานในแง่ของฝีมือหรือผลงาน บุคลากร การให้บริการ และการดูแลรับประกัน ดังที่ลูกค้าที่มาใช้บริการท่านหนึ่งกล่าวว่า

                “การใช้บริการรับสร้างบ้านกับพีดีเฮ้าส์ ก็เหมือนเป็นการซื้อรถยนต์แล้วได้ประกันภัยชั้น 1 และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอีกด้วย นี่คือสิ่งที่ลูกค้าเปรียบเทียบและบอกให้เราฟังว่า ทำไมจึงเลือกสร้างบ้านกับพีดีเฮ้าส์ ก็เพราะได้ออฟชั่นครบทั้งคุณภาพบ้านและบริการ ได้การรับประกันนาน 3 ปี ได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม และนี่ก็คือการมุ่งสู่มาตรฐานของอุตสาหกรรมรับสร้างบ้านในอนาคต ที่ผมเคยบอกไว้ว่า “วันหนึ่ง ธุรกิจรับสร้างบ้านจะเปลี่ยนจากภาคธุรกิจบริการ ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมสร้างบ้าน”

 ยึดหลักสร้างบ้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
                แนวทางการสร้างบ้านของพีดีเฮ้าส์ ที่ยึดหลักการมาตลอดคือ สร้างบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ฉะนั้นหากมองย้อนกลับไปจะเห็นว่า ถ้าไม่มีเครือข่ายแฟรนไชส์พีดีเฮ้าส์ ก็คงมีบริษัทรับสร้างบ้านหลักๆ ที่ก้มหน้าก้มตาทำเรื่องนี้อยู่รายเดียวก็คือ ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป แต่หลังจากที่มีแฟรนไชส์รับสร้างบ้านเกิดขึ้น ก็ทำให้มีผู้ประกอบการที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน พร้อมทั้งมีการรวมกลุ่มกันในหลายๆ บริษัทร่วมทำงาน เพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกันและเพิ่มความชัดเจนมากขึ้น โดยมีรูปแบบการวัดมาตรฐานบ้านอนุรักษ์พลังงาน ทั้งในส่วนของภาคอกชนอย่าง สมาคมไทยรับสร้างบ้าน และภาครัฐที่ส่งเสริมและสนับสนุนอย่าง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน นี่คือสิ่งที่บริษัททำมาหลายปีต่อเนื่อง

               “พีดีเฮ้าส์” ตั้งเป้าขยายสาขาให้ได้ครบ 50 สาขา ภายในปี 2556 ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องให้บริการที่ครอบคลุมได้มากกว่า 50 จังหวัดขึ้นไป นั่นคือเป้าหมายที่กำหนดไว้ ณ ปัจจุบันพีดีเฮ้าส์มีจำนวน 26 สาขาแล้ว ที่ร่วมเป็นเครือข่ายแฟรนไชส์ ฉะนั้นยังมีเวลาอีก 2 ปีที่จะต้องก้าวไปถึงจุดนั้น นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผน 2 ที่จะเปิดตัวแบรนด์รับสร้างบ้านใหม่ โดยจะเน้นเจาะตลาดบ้านระดับราคา 2 ล้านบาทลงมา ภายใต้แบรนด์ “AQ Home”

เปิดแบรนด์ใหม่ “เอคิวโฮม” ก่อนบุกอาเซียน
              ทั้งนี้ “สิทธิพร” ยืนยันความเป็นพีดีเฮ้าส์ในสายตาของผู้บริโภคคือ เป็นบริษัทรับสร้างบ้านชั้นแนวหน้า ที่เน้นคุณภาพทั้งวัสดุก่อสร้าง ฝีมือ และการบริการ และระดับราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป แต่กลุ่มลูกคาที่มาใช้บริการมากที่สุด เฉลี่ยจะอยู่ที่ 4-6 ล้านบาท จึงมีแนวคิดที่จะขยายไปในกลุ่มลูกค้าฐานใหญ่ที่มีงบประมาณต่ำกว่า 2 ล้านบาท ที่ผ่านมามีลูกค้าให้ความสนใจจะให้พีดีเฮ้าส์ สร้างบ้านในราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาทเป็นจำนวนมาก แต่บริษัทฯ ยังไม่มีโปรดักส์ที่จะตอบสนอง จึงเป็นเรื่องที่จุดประกายให้เกิดแนวคิดที่จะเปิดตัวแบรนด์ AQ Home นั่นเอง

             “การเพิ่ม ศูนย์รับสร้างบ้าน AQ Home ก็เหมือนกับการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าฐานใหม่ ที่มีงบประมาณจำกัด คือ 2 ล้านบาทลงมา ขณะนี้เรากำลังรอสถานการณ์และช่วงเวลาที่ความเหมาะสมเพื่อจะเปิดตัว เพราะติดอยู่ 2 เรื่อง คือ ปัญหาเรื่องน้ำท่วม กับเรื่องของการจดลิขสิทธิ์การค้าและตราสินค้า ซึ่งตอนนี้ใกล้จะเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเตรียมตัวเล็กๆ น้อยๆ นี่คือแผนปีนี้และปี 2555 ที่จะขยายเข้าสู่ตลาดฐานใหม่ รวมทั้งปีหน้าจะขยายเพิ่มอีก 10 สาขา ส่วนในปี 2556 จะเริ่มเซ็ทอัพระบบเพื่อเตรียมความพร้อม ตามแผนการขยายออกสู่ตลาดอาเซียนอย่างจริงจังในปี 2558 โดยปี 2555 เป็นต้นไปจะเป็นการสำรวจตลาดเพื่อดูทิศทาง วัฒนธรรม ดูกำลังซื้อของตลาดประเทศเพื่อนบ้านและพันธมิตรที่จะเอื้อในการทำธุรกิจแฟรนไชส์รับสร้างบ้าน

             “สิทธิพร” อธิบายต่อว่า จะพยายามสร้างฐานภายในประเทศให้เข้มแข็งก่อน เพราะในปี 2556 ถ้าสามารถขยายครบ 50 สาขาตามเป้าที่วางไว้ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่า พีดีเฮ้าส์ นั้นมีความแข็งแกร่งพอในระดับหนึ่ง สำหรับตลาดรับสร้างบ้านในประเทศ หรือหากยังไม่พร้อมก็ยังมีเวลาในการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนสัดส่วนตลาดในประเทศให้มั่นใจที่สุดก่อน พร้อมๆ กับมีแบรนด์ใหม่อีก 1 แบรนด์คือ AQ Home เข้ามาเสริมทัพก่อนจะบุกตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบเสรีทางการค้าในประเทศภูมิภาคแถบนี้หรือเออีซี ซึ่งนั่นจะเป็นการออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีความพร้อมและหนักแน่นมากขึ้น
 
เร่งพัฒนาบุคลากรก่อนสู่ตลาด
                “สิทธิพร” กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่จะต้องมีการปรับตัวเพิ่มเติม คือ เรื่องของภาษาที่จะใช้ในการติดต่อทางธุรกิจ โดยจะมุ่งเน้นไปยังทีมงานและเหล่าบุคลากรของบริษัททั้งหมด เพื่อให้มีทักษะในเรื่องของภาษาสู่การพัฒนาธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ รองรับกับการขยายตัวทางธุรกิจตามแผนแม่บทที่ได้วางไว้ในอนาคต บริษัทฯ จะมีการพัฒนาหลักสูตรนี้อย่างจริงจัง ร่วมกับสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เกี่ยวกับภาษาที่ใช้เพื่อธุรกิจรับสร้างบ้าน สำหรับในประเทศและต่างประเทศ “ส่วนเรื่องเซ็ทอัพก็คงเป็นเรื่องจัดทำคู่มือปฏิบัติงานและสัญญาภาษาอังกฤษ ทีมผู้ฝึกสอนภาคภาษาอังกฤษ ฯลฯ เป็นต้น นี่คือแผนที่จะทำในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะให้ความสำคัญกับแฟรนไชส์ในประเทศก่อน เพราะถ้าในประเทศไม่แข็งแกร่งพอ แล้วออกไปบุกต่างประเทศก็คงเปล่าประโยชน์และอาจประสบปัญหาได้”

                ในแง่ของการตอบรับจากเหล่าผู้ประกอบการด้วยกัน “สิทธิพร” บอกว่าในช่วงแรก ๆ มีผู้ประกอบการในภาคธุรกิจแฟรนไชส์ ตั้งข้อสงสัยและตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่าจะทำได้อย่างไร เพราะหลายคนยังไม่เข้าใจและมองว่าธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นอะไรที่สลับซับซ้อน แต่เมื่อได้เห็นการพัฒนาและความก้าวหน้าของ พีดีเฮ้าส์ จาการขยายและเปิดตัวสาขา โดยที่ไม่มีชื่อเสียงในทางลบกลับมา และไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานอย่าง สมาคมแฟรนไชส์และไลน์เซนส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมการส่งออก ตามที่บริษัทฯ เป็นสมาชิกกับหน่วยงานเหล่านี้ ต่างก็ให้การยอมรับแฟรนไชส์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์และสมาคมไทยรับสร้างบ้าน รวมไปถึงการสื่อสารข้อมูลของพีดีเฮ้าส์ เองก็ตรงไปตรงมาชัดเจน และการสื่อสารเป็นการเลือกใช้สื่อที่เป็น Mass หรือเป็น Top Lick ต่างกับแฟรนไชส์รายอื่นๆ ที่ใช้สื่อแบบเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นทำให้การรับรู้เกี่ยวกับพีดีเฮ้าส์เป็นไปอย่างทั่วถึงในวงกว้าง พีดีเฮ้าส์จึงกลายเป็นที่จับตามองและติดตามความเคลื่อนไหวของหน่วยงานต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น ถึงความสำเร็จที่ได้มา
               
               ทั้งหมดเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยจากการที่ได้รับการยอมรับ ในแง่ของความเป็นมาตรฐานของธุรกิจแฟรนไชส์ โดยบริษัทมีการประเมินผลตามสถิติ ผ่านระบบมาตรฐานมาตลอด 3 ปี และยังได้รางวัลดีเด่นทางด้านการบริหารจัดการ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปีนี้พีดีเฮ้าส์ได้เป็นคู่ชิงหรือคู่แคนดิเดต ที่จะคว้ารางวัลแฟรนไชส์ยอดเยี่ยมประจำปี 2554 ซึ่งคะแนนการประเมินของบริษัทฯ ออกมาสูงมาก คือ 96 % เพียงแต่ยังขาดในเรื่องอายุของแฟรนไชส์ที่น้อยกว่าแฟรนไชส์ที่คว้ารางวัลปีนี้คือ เชสเตอร์กิลล์ ซึ่งเป็นธุรกิจอาหารที่มีมานานกว่า 10 ปี เป็นการพลาดตำแหน่งไปอย่างฉิวเฉียด “อย่างไรก็ดี 28 สาขา จากที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ หรือ 26 สาขาในปัจจุบัน ก็ทำเอาบรรดาผู้ประกอบการแฟรนไชส์ด้วยกันต้องเฝ้าจับตา เนื่องจากว่าเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องลงทุนด้วยเงินล้าน ซึ่งต้องบอกว่าในธุรกิจปฟรนไชส์ที่ต้องลงทุนเงินล้านในประเทศไทยและเป็นแฟรนไชส์สัญชาติไทย ณ วันนี้ยังมีสาขาไม่มากทั้งที่ทำมานานหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 20 สาขา แต่บริษัทฯ ขยับขึ้นมาขนาดนี้และยังแตกต่างจากเขาอีกด้วย คือ เราสามารถขยายสาขาออกไปได้ทั่วประเทศ ในขณะที่ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดจากระบบที่เราสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนแฟรนไชส์  เนื่องด้วยเราค่อนข้างพร้อมในแง่ของการลงทุน งบประมาณ และในแง่ของบุคลากร ลักษณะแฟรนไชส์ของพีดีเฮ้าส์ ไม่ใช่การเน้นขายสินค้าผ่านแฟรนไชส์ซี แต่จะขายระบบ  ขาย Know How ล้วนๆ ฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีปัญหากับแฟรนไชส์ซี ในแง่ของการมองว่าถูกเอาเปรียบ”

ภาครัฐแนะให้จับตา“แฟรนไชส์ดาวรุ่ง”
                ภายหลังจาก “พีดีเฮ้าส์” ก้าวเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์  ได้มีหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจ Sme ไทยได้ให้ความสนใจแฟรนไชส์รับสร้างบ้านเป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ท่านรองอธิบดีกรมพัฒนาการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจแฟรนไชส์บ้านเราส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอาหาร แต่วันนี้มีธุรกิจแฟรนไชส์รับสร้างบ้าน ให้ทุกคนจับตามองว่าจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ในบ้านเรามีการขับเคลื่อนอย่างไม่ธรรมดา ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่คาดคิดว่ามันจะเป็นไปได้  “หากจะมีการมบรางวัลแฟรนไชส์ยอดเยี่ยมประจำปี เป็นไปได้หรือไม่ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะมอบให้ธุรกิจอะไรที่ไม่ใช่ธุรกิจอาหาร ได้คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากหน่วยรัฐไปบ้างได้หรือเปล่า แล้วปีหน้าเราคงต้องพิสูจน์กัน” เป็นคำกล่าวของท่านอธิบดีกรมพัฒนาการค้า

เปิดตลาดอาเซียน “ใครได้ใครเสีย” 
               “สิทธิพร” ฉายภาพธุรกิจรับสร้างบ้านหลังเปิดเสรีการค้า AEC ในปี 58 ว่า ผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการ ต้องมองภาพรวมก่อนว่า คงได้รับผลทั้งด้านบวกและด้านลบ แน่นอนว่าคนที่ปรับตัวได้ เตรียมตัวพร้อมก็คงเป็นไปในแง่บวก แต่ที่ดำเนินการช้าหรือปรับตัวช้าก็คงได้รับผลกระทบในด้านลบ ซึ่งคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ เศรษฐกิจใหม่ในแง่ของผู้ประกอบการ แน่นอนว่าการแข่งขันจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการแข่งขันในตลาด AEC ด้วยกัน ที่จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้าออกในตลาดมากขึ้น คนละสัญชาติและในตลาดเดียวกัน นี่คือการแข่งขันที่มันหลากหลายมากขึ้น อาจจะไม่ใช่แค่แข่งขันในตลาด แต่อาจจะเป็นการร่วมมือหรือจับมือกัน ถ้าผู้ประกอบการไทย จับมือกับผู้ประกอบการเวียดนามมันก็คือความเข้มแข็งที่จะไปสู่กับภูมิภาคอื่น ทำให้เกิดความเข้มแข็งในภูมิภาคนี้มากขึ้น  “ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคิดจะแข่งขันกันเอง ผมก็ไปจัดตั้งบริษัทก่อสร้างหรือรับสร้างบ้านในเวียดนาม และผมก็แข่งกับคนในท้องถิ่นเพราะเป็นตลาดเสรี แต่อีกมุมหนึ่งผมจับมือกับผู้ประกอบการในเวียดนามขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์นี่คือความร่วมมือ และอาจขยายต่อไปภูมิภาคอื่นๆ ที่มีความสามารถไปได้ไกลและง่ายกว่า” 
              
               ถ้าพูดถึงโมเดลของพีดีเฮ้าส์ “สิทธิพร” กล่าวว่า น่าจะเป็นการไปจับมือ เพราะ 1.การบุกเข้าไปทำธุรกิจโดยไม่มีพันธมิตรก็จะเหนื่อย 2.เราจะถูกกฎเกณฑ์ที่ AEC ไม่สามารถครอบคลุมหรือเปิดได้จริง ฉะนั้นการจับมือหรือแตะมือมันจะง่ายขึ้น และนั่นจะเป็นวิธีการของเราที่จะขาย Know How และไม่คิดจะไปแข่งและไปแย่งงานเขา แต่จะไปช่วยเขาสร้างงานสร้างธุรกิจโมเดลใหม่

 

 


ตลาดเสรีผู้บริโภคเกิดมีตัวเลือกมากขึ้น
                AEC เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง มาจากต้นทุนแฝงที่มาจากฐานการผลิตของแต่ละประเทศ เช่น ต้นทุนภาษีต่างๆ แต่ถ้ารวมเป็นฐานการผลิตเดียวกันหรือเปิดสู่การค้าเสรี ภาษีก็กลายเป็นศูนย์ ในกลุ่มอาเซียนก็จะเป็นศูนย์ ทำให้ต้นทุนต่ำลง ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนเรื่องค่าแรง ทรัพยากร วัตถุดิบ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ราคาสินค้าก็จะต่ำลงหรือมีกำไรมากขึ้น “อย่างวัตถุดิบบางอย่าง เราอาจจะนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งราคาย่อมเยา ไม่มีกำแพงภาษี ใช้ทดแทนวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ หรือแรงงานฝีมือที่อาจนำเข้ามาทดแทนแรงงานในประเทศที่ราคาสูงและขาดแคลน ต้นทุนต่ำลงราคาสินค้าก็จะต่ำลง ผู้บริโภคก็จะมีทางเลือก การผูกขาดก็จะลดลง  เพราะว่ามีตัวเลือกมากขึ้น นวัตกรรมที่มีอย่างหลากหลายก็จะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น เมื่อมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้บริโภคก็มีโอกาสช้อป ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวเข้าหาผู้บริโภค ไม่ใช่ปรับตัวเองเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปหา”

                สิทธิพร บอกว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นอะไรที่ท้าทาย แต่ว่าผู้ประกอบการควรจะศึกษา และยังไม่มีใครที่จะชี้ชัดหรือบอกว่าทำอย่างนี้อย่างนั้นแล้วจะถูกต้อง มันก็ต้องปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ว่าจะปรับเป็นในรูปแบบใด และต้องปรับตัวให้ได้ เราไม่คิดที่จะเป็นฝ่ายรับเท่านั้น เพราะจะกดดันตัวเองแล้วก็มองไม่เห็นทาง แต่ถ้าเราเปิดทางหรือเปิดกว้างมองไปที่เขาบ้าง เราก็จะได้เห็นธุรกิจของเขา มองการทำงานของเขาแล้วกลับมามองดูตัวเอง ตรงนั้นแหละที่จะเป็นการเรียนรู้และทำให้เราปรับตัว และเราก็ต้องคิดบวกด้วย ไม่ได้คิดแต่เรื่องลบ ต้องมองภาพเชิงบวกว่า เมื่อเปิดแล้วเราบุกไปแล้วได้อะไร และถ้าเกิดเขามาจะเกิดผลกระทบอย่างไร สำคัญที่สุด ในเรื่องของ SME รัฐบาลเองก็พยายามประคับประคองช่วยเหลือ แต่เราก็ต้องช่วยตัวเอง ต้องยอมรับความจริงว่ากลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านในไทยไม่ได้เป็นกลุ่มที่ผูกขาด ถ้าเทียบกับภาคของ SME หรือรายย่อยๆ ถ้าไม่มีความแข็งแกร่งในเรื่องของจุดขายหรือพันธมิตรที่สามารถกำหนดให้ไปในทิศทางหรือแนวทางเดียวกัน ถ้า AEC เปิดบอกได้เลยว่าเหนื่อย

สมาคมไทยรับสร้างบ้านพร้อมหนุน
               นอกจากเป็นหัวเรือใหญ่ พีดีเฮ้าส์แล้ว  “สิทธิพร” ยังสวมหมวกอีกใบในตำแหน่งนายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ที่พยายามผลักดัน และยกระดับผู้ประการธุรกิจเดียวกันให้แข่งขันระดับนานาชาติได้
              
               “จริง ๆ แล้วมันเป็นหัวข้อที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยนมุมมองและพยายามถกกันให้เห็นภาพ โดยผ่านการมีประชุมสัมมนากันตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่อยากให้ยกระดับผู้ประกอบการพัฒนาลงไปถึงระดับบุคลากรที่มีการพัฒนาปรับตัว เพราะที่ผ่านมายอมรับว่าผลสำรวจของสมาคมฯ ผู้ประกอบการ 80% ยังไม่พร้อม สอดคล้องกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าเกี่ยวกับการวิจัย บอกว่า 80 % ยังไม่เข้าใจและยังไม่พร้อมสำหรับรับมือ AEC สำหรับในประเทศไทยด้วยศักยภาพของประเทศที่มีทรัพยากรเยอะ   หลายประเทศต่างจับตาที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ แต่เรายังคิดว่าเรายังไม่พร้อม ซึ่งไทยจะเสียประโยชน์มากหากไม่มีแผนพัฒนารองรับไว้ในอนาคตอันใกล้นี้”