ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
26 ม.ค.2558

ทิศทางอสังหาริมทรัพย์ปีแพะรับอานิสงส์ขนส่งระบบรางทั่วไทย

Line

เพราะ “บ้าน” หรือ “ที่อยู่อาศัย” คือ 1 ในปัจจัย 4 ที่ถูกระบุไว้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะยาก ดี มี จนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงถือเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญในประเทศ นอกจากจะเป็นเครื่องวัดความเป็นอยู่ที่ดี จากกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้าน ทาวน์เฮาส์ หรือคอนโดมิเนียมแล้ว
 
การลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือคอนโดมิเนียมหรูหราระดับลักชัวรี่ ยังถือเป็นยากระตุ้นการลงทุนชั้นดี สร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนเวียน
 
ในโอกาสเปิดศักราชปี 2558 ซึ่งถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงและการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ จากหลากหลายนโยบายและสิ่งที่จะเกิดขึ้น อันก่อให้เกิดพลวัตที่รุนแรงต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยในปีนี้
 
ไม่ว่าจะเป็นการผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนร่าง พ.ร.บ. ภาษีมรดก, การเดินเครื่องอภิมหาโปรเจกต์รถไฟฟ้า 10 สาย ซึ่งไม่ว่าจะตัดผ่านบ้านใคร ก็กลายเป็นส้มหล่นใส่โครมใหญ่, การเปิดตัวโครงการรถไฟทางคู่ร่วมกับประเทศจีนและญี่ปุ่น ไปจนถึงการเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ทิศทางของอสังหาริมทรัพย์ไทยในปีแพะ จะสดใสสวยงามเพียงไร โปรดรับฟังมุมมองของผู้เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้.....
 
สัมมา คีตสิน
ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
 
ทิศทางอสังหาริมทรัพย์ปี 2558 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่คาดการณ์ว่าปี 2558 จะเติบโตได้ดีกว่าปี 2557 ซึ่งปัจจัยบวกที่จะมาเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้นกลับมาเป็นขา ขึ้นอีกครั้ง ก็คงมาจากการเร่งรัดโครงการขนส่งมวลชนระบบรางและการตัดถนนสายใหม่ๆในพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภูมิภาค
 
ทั้งนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เช่น อาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้าและโรงแรม จะได้รับอานิสงส์จากเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ เช่น สายสีม่วง สีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายบีทีเอสไปสมุทรปราการ ส่วนเส้นทางของโครงการที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นและยังไม่มีการก่อสร้างจริงจะ ไม่ส่งผลมากนัก
 
 “ราคาที่ดินมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในทุกเส้นทางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพราะความต้องการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าที่ออกไปสู่ปริมณฑลเหล่านี้ยังมี อยู่มาก เนื่องจากผู้มีรายได้ปานกลางหรือต่ำไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชั้น ในของกรุงเทพฯได้”
 
สำหรับภาคเอกชน การขยายตัวของกลุ่มห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ ก็จะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดนั้นๆได้รับประโยชน์ โดยที่ดินโดยรอบบริเวณใกล้ห้างสรรพสินค้าจะมีราคาแพงขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดโครงการคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรระดับตลาดบน ในบริเวณใกล้ห้างสรรพสินค้า
 
สิ่งสำคัญอีกประการที่จะมีผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปีนี้ คือการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในช่วงปลายปี 2558 โดยคาดว่าอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์จะได้ประโยชน์จากเออีซีมากกว่า อสังหาริมทรัพย์ภาคที่อยู่อาศัย อาทิ จะมีความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานมากขึ้น พื้นที่จัดตั้งนิคมหรือโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าและโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ส่วนในด้านที่อยู่อาศัยจะได้ประโยชน์เฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจากต่างชาติสามารถซื้อเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ได้
 
ส่วนแนวโน้มรูปแบบที่อยู่อาศัยในปีนี้ ผู้ประกอบการยังคงเน้นเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้นในพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา ยอดเปิดขายหน่วยคอนโดมิเนียมใหม่แซงหน้าบ้านจัดสรรทุกปีในพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ส่วนในต่างจังหวัด ยอดเปิดขายใหม่ส่วนใหญ่ยังเป็นบ้านจัดสรรมากกว่า
 
สำหรับพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค คาดว่าจะเน้นเรื่องราคาเป็นหลัก โดยคุณภาพเป็นไปตามระดับราคา ทั้งนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีกำลังซื้อที่ประมาณไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งหมายถึงตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นคอนโดมิเนียมหรือทาวน์เฮาส์ “ในปีนี้ต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างอาจไม่เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนที่ดินยังคงแพงขึ้น ดังนั้นราคาที่อยู่อาศัยยังคงปรับเพิ่มขึ้นโดยภาพรวม แต่จะปรับเพิ่มขึ้นไม่ได้มากนัก เนื่องจากมีอุปทาน (กำลังการผลิต) ออกใหม่ค่อนข้างมาก ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น”
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความคาดหวังในอนาคตที่ดีขึ้น แม้จะมีการชะลอการเปิดโครงการใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 แต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 ผู้ประกอบการเปิดโครงการใหม่มากขึ้น โดยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมีการเปิดขายหน่วยคอนโดมิเนียมใหม่มากกว่า 70,000 หน่วย และบ้านจัดสรรประมาณ 44,000 หน่วย ตลอดทั้งปี 2557 และสำหรับในปี 2558 ผู้ประกอบการทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและต่างจังหวัดยังมีแผนเปิดโครงการมาก ขึ้นแน่นอน
 
เลอศักดิ์ จุลเทศ
รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)
 
ปีนี้ทิศทางอสังหาริมทรัพย์ไทยน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากมีความชัดเจนจากนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นการเบิกใช้งบประมาณของ ภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องของระบบขนส่งต่างๆ ไม่ว่าเรื่องประกาศแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รวมถึงความชัดเจนเรื่องการเซ็นสัญญาบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับประเทศจีน ในโครงการรถไฟทางคู่ 2 สาย หนองคาย-มาบตาพุด และ สระบุรี (แก่งคอย)-กรุงเทพฯ
 
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนการที่จะดึงประเทศญี่ปุ่นมาร่วมโปรเจกต์รถไฟทางคู่สายใหม่ 3 สาย เชื่อมต่อภาคตะวันตก-ตะวันออก คือ ตาก-มุกดาหาร ระยอง-ทวาย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตควบคู่กับระบบ คมนาคมต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่งผลให้จีดีพี ปี 2558 สูงกว่าปีก่อนแน่นอน
 
 “ปีนี้การพัฒนาโครงการของภาครัฐ ที่ส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือการพัฒนาด้านระบบขนส่งมวลชน (Mass Transit) โดยทำเลที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น ยังคงเป็นทำเลที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายที่มีการเปิดประมูลในปี 2558 อาทิ สายสีม่วง (บางใหญ่–บางซื่อ), สายสีเขียว (หมอชิต–คูคต), สายสีส้ม (ตลิ่งชัน–ศูนย์วัฒนธรรม–มีนบุรี), สายสีชมพู (แคราย–ปากเกร็ด–มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว–พัฒนาการ–สำโรง) ซึ่งจะส่งผลให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น”
 
อีกทั้งทำเลที่อยู่ย่านใจกลางเมือง ใกล้แนวการก่อสร้างรถไฟฟ้า ก็มีราคาที่ดินปรับตัวขึ้นสูงมาก และบางพื้นที่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของถนน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยกลางเมือง ส่งผลให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยในย่านใจกลางเมืองบริเวณเหล่านี้จะมีราคาแพง และเป็นที่อยู่อาศัยในระดับ “ลักชัวรี่” เป็นส่วนใหญ่
 
 “ปีนี้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ โครงการแนวดิ่ง (คอนโดมิเนียม) ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องมีจุดขายที่แตกต่างของตัวเอง ด้านพฤกษาเอง เนื่องจากปีที่ผ่านมามีรายได้จากแนวดิ่งประมาณ 20% หากมองไปที่ยอดขายที่รอรับรู้รายได้จากการโอน (Backlog) ปี 2558 ที่มีอยู่ประมาณ 16,000 ล้านบาท คาดว่าอาจจะทำให้มีสัดส่วนรายได้จากแนวดิ่งเพิ่มขึ้นถึง 30% ซึ่งเป็นการทยอยปรับฐานรายได้ให้สอดคล้องกับตลาดในภาพรวม ที่แนวดิ่งมีสัดส่วนตลาดที่สูงกว่าแนวราบ”
 
สำหรับแนวโน้มรูปแบบที่อยู่อาศัยในปีนี้ กรุงเทพและปริมณฑลคาดว่าคอนโดมิเนียมยังเป็นที่นิยมและจะมีสัดส่วนสูงสุด รองมาคือบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ตามลำดับ โดยการเลือกตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคยังคงเน้นการพิจารณาจากปัจจัยหลายๆด้าน รวมทั้งชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ ราคา ดีไซน์ ทำเล รวมถึงคุณภาพงานด้วย
 
ส่วนของต่างจังหวัด จังหวัดที่จะมีการเติบโตและเหมาะกับการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย ยังคงเป็นจังหวัดที่มีแหล่งงานขนาดใหญ่ อาทิ ชลบุรี, ระยอง, ขอนแก่น และเชียงใหม่ และจังหวัดที่มีโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เช่น รถไฟทางคู่ ซึ่งจะมีการเวนคืนที่ดินในปี 2558 ยังคงเป็นจังหวัดที่น่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็น นครปฐม, นครราชสีมา, ประจวบคีรีขันธ์ และลพบุรี เป็นต้น
 
โดยปัจจัยที่จะเลือกลงทุนในต่างจังหวัดนั้น ประกอบด้วย ปัจจัยด้านการเติบโตของเศรษฐกิจในจังหวัด รายได้ประชากร, นโยบายภาครัฐ, ปริมาณแรงงาน และปริมาณประชากร ตลอดจนปัจจัยพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และราคาที่ดิน โดยการพัฒนาโครงการในต่างจังหวัด กลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจนและราคาจะต้องอยู่ในช่วงที่กำลังซื้อส่วนใหญ่สามารถ ซื้อได้ “การเปิดเออีซี ในช่วงปลายปี 2558 นี้ จะส่งผลให้จังหวัดเศรษฐกิจพิเศษและจังหวัดการค้าชายแดน เพิ่มความน่าสนใจ เนื่องจากการค้าขายทั้งค้าปลีกและค้าส่งจะคึกคัก รายได้ประชากรจะเพิ่มขึ้น ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”
 
ชาติชาย พยุหนาวีชัย
ประธานที่ปรึกษาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย
 
สินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ยังเป็นปีที่ยากลำบากต่อเนื่องจากปี 2557 ที่ผ่านมา และความยากลำบากจะยืดยาวไปถึงปี 2559 ยอดการปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่ ทั้งระบบยังทรงตัวอยู่ที่ปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท ยอดเพิ่มขึ้นสุทธิ 200,000 ล้านบาท โดยยอดสินเชื่อบ้านทั้งระบบในปี 2556 อยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท จบปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 2.7 ล้านล้านบาท และสิ้นปี 2558 อยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 8-9%
 
ทั้งนี้ตลาดสินเชื่อบ้าน ในช่วง 2-3 ปีย้อนหลัง อัตราการเติบโตส่วนใหญ่มาจากตลาดต่างจังหวัด ส่วนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การเติบโตค่อนข้างคงที่ มียอดขายอยู่ในระดับ 100,000 ยูนิต แต่เมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ส่งผลให้บรรดานักธุรกิจ หรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในต่างจังหวัดมีรายได้ลดลง ยอดขายที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบ้าน ที่มาจากต่างจังหวัดลดลงไปด้วย
 
 “ช่วง 2–3 ปีก่อนหน้า ต้องยอมรับว่ายอดสินเชื่อบ้านทั้งระบบมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก กำลังซื้อมาจากต่างจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆ ไปเปิดโครงการในต่างจังหวัด สินเชื่อบ้านในต่างจังหวัดจึงบูมมาก แต่เมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อในต่างจังหวัดก็หายไป”
 
สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดใหม่ตลอดทั้งปี 2557 ที่ชะลอตัวลง จะมีผลกระทบต่อตลาดสินเชื่อบ้านในช่วงปี 2559 เนื่องจากปกติคอนโดมิเนียม จะใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปี และเมื่อสร้างเสร็จจึงจะเริ่มโอน และมาใช้บริการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ดังนั้นในปี 2558 ยังเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการคอนโดมิเนียมเก่า ที่ก่อสร้างเสร็จและเริ่มทยอยโอนให้กับลูกค้า
 
ในปีนี้จนถึงปีหน้า (2559) ตลาดคอนโดมิเนียมจะไม่หวือหวาเหมือนช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะราคาคอนโดมิเนียมช่วงที่เปิดโครงการใหม่กับราคาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมโอนให้กับลูกค้ามีราคาแตกต่างกันมาก ทำให้มีกลุ่มนักลงทุนประเภทที่ซื้อเพื่อการลงทุน นำมาปล่อยให้เช่า และเมื่อเห็นว่าราคาดีก็ขายทำกำไร ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10-15% ของยอดขายแต่ละโครงการ
 
 “ระดับราคาคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน ราคาเปิดโครงการใหม่เมื่อสร้างเสร็จ มีระดับราคาใกล้เคียงกัน ทำให้นักลงทุนที่ซื้อเพื่อลงทุนหรือเก็งกำไรหมดไป ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมไม่หวือหวา ยกเว้นโครงการที่มีทำเลที่ตั้งดี เช่นติดรถไฟฟ้า ซึ่งความต้องการยังมีอยู่”
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดคอนโด-มิเนียมชะลอตัว ตลาดบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง และเมื่อบรรดาห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มเดอะมอลล์ หรือกลุ่มเซ็นทรัลไปเปิดห้าง เช่น ในย่านบางนา หรือบางใหญ่ ก็จะทำให้ตลาดบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ในย่านดังกล่าวขายดีขึ้นหรือถือเป็นจุดขายใหม่ของผู้ประกอบการธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์
 
อังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
 
ภาพรวมของการปล่อยสินเชื่อของอสังหาริมทรัพย์ในปี 2557 ที่ผ่านมา ถือว่าตลาดปรับตัวได้ดีเกินกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก เรามีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่งผลลบต่อบรรยากาศการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนและการเปิดตัวโครงการใหม่ ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์
 
แต่ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เข้ามายึดอำนาจปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมประกาศนโยบายในการแก้ไขเศรษฐกิจอย่างชัดเจนทั้งในระยะสั้นและระยะ ปานกลาง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้นมาทันที
 
 “จุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ คือในช่วงเดือน ส.ค.และเดือน พ.ย.57 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากถึง 31,300 หน่วย ขณะที่บ้านจัดสรรมียอดเปิดขายใหม่หนาแน่นมากถึง10,100 หน่วย จึงทำให้ธุรกิจโดยรวมของอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 จนถึงสิ้นปี มีปริมาณการซื้อขายดีกว่าครึ่งปีแรกของปีที่แล้ว”
 
ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อที่ไม่ค่อยดีนักในช่วงต้นปี ก็ค่อยๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นมา โดยดันยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของ ธอส.ทะลุ 10,000 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปี 2557 (ส.ค.-ธ.ค.) ส่งผลให้ยอดปล่อยกู้ที่อยู่อาศัยทั้งระบบในปี 2557 เติบโตใกล้เคียงกับปี 2556 ที่ระดับ 534,800 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นยอดการปล่อยสินเชื่อของ ธอส.จำนวน 134,000 ล้านบาท มีการเติบโตเมื่อเทียบกับปี 2556 ประมาณ 6-7% และในปีนี้ ธอส.ก็ได้ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อไว้ที่140,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 6-7% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่มีคุณภาพและเป็นไปตามทิศทางของตลาดอสังหาริม ทรัพย์
 
สำหรับภาพรวมการปล่อยสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ ธอส.วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสนับสนุนยังคงเป็นการเร่งก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใน กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และการตัดถนนสายใหม่ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและต่างจังหวัด ซึ่งช่วยเปิดหน้าดินสำหรับโครงการใหม่และเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นของผู้บริโภค
 
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในช่วงปลายปี 2558 และการให้ความสำคัญของรัฐบาลไทยกับจีนในการก่อสร้างรถไฟกึ่งความเร็วสูงใน หลายๆเส้นทางก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและความต้องการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยตามหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคเพิ่มเติมอีก
 
ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากและการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้น จะช่วยให้ผู้บริโภคบางส่วนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่สำคัญคือ บรรยากาศการเมืองภายในประเทศ หากมีความสงบเรียบร้อยตลอดปี 2558 จะยิ่งช่วยส่งเสริมตลาดที่อยู่อาศัยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องไม่ผัวผวน เหมือนกับช่วงต้นปี 2557.
 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ( 12 มกราคม 2558 )
http://www.reic.or.th/News/News_Detail.aspx?newsid=48566