ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
29 พ.ค.2558

แบงก์ลดดอกเบี้ยดันยอดขายอสังหาฯ

Line
     อสังหาฯ ขานรับแบงก์พาณิชย์ ลดดอกเบี้ย แจง ทำให้ต้นทุนการเงินลด มีส่วนดันยอดขายที่อยู่อาศัย แนะบริหารธุรกิจรอบคอบ ไม่ลงทุนเกินตัว รักษากระแสเงินสด เหตุลดดอกเบี้ยสะท้อนเศรษฐกิจยังเปราะบาง

     นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดาพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า การที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลด อัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จากนั้นมีหลายสถาบันการเงินลดดอกเบี้ยตาม แน่นอนจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของทุกภาคธุรกิจลดลง ไม่เฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเชื่อว่าจะผลต่อการตัดสินใจซื้อเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

     นางสาวเกษรา ธัญญลักษณ์ภาคย์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดอกเบี้ยถือเป็นต้นทุน ทางการเงินของทั้งผู้ประกอบการ และ ผู้บริโภคที่ซื้อบ้าน ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงย่อมทำให้ต้นทุนลดลง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณา จะพบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนอสังหาฯใน ขณะนี้ มาจากปัจจัยหลักคือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การบริโภคประชาชนอ่อนแอ

     "การลดอัตราดอกเบี้ย ไม่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นทันที แต่เป็นการส่งสัญญาณด้วยซ้ำว่า เศรษฐกิจไม่ดีต้องระวัง แม้ว่าต้นทุนทางการเงินต่ำลง แต่ในเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี จะลงทุนได้อย่างไรในทางกลับกันดอกเบี้ยต่ำลงจะช่วยบริษัทรายใหญ่ที่ใช้โอกาสนี้ออกบอนด์ (หุ้นกู้) ส่วนบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดฯ ก็ไม่สามารถใช้ออฟชั่นนี้ได้"

     นายพงษ์ธร ปัทมจินตธำรง กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท วอลรัสโฮม จำกัด ผู้ผลิตบ้านกึ่งสำเร็จรูป แสดงความเห็นว่า สำหรับเอสเอ็มอีภาระดอกเบี้ยเงินกู้ถือว่าหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ธุรกิจยังอยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น เอสเอ็มอีในวงการค้าวัสดุก่อสร้าง ที่กำลังเจอการแข่งขันที่ดุเดือดจากการเข้ามาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) การแข่งขันตัดราคา บวกกับวิกฤติค่าแรง 300 บาทต่อวัน ที่ผลักให้ต้นทุนค่าก่อสร้าง พุ่งสูงขึ้น กดดันให้ผู้รับเหมาต้องลดค่าของลง ส่งผลกระทบต่อร้านวัสดุก่อสร้างรายย่อยตามไปด้วย

     ขณะบางรายปรับตัวโดยการไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อมาทำร้านให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น "กับดัก" เพราะสุดท้ายแล้วลูกค้าไม่ได้ตัดสินใจซื้อเพราะร้านสวย แต่ซื้อเพราะราคาถูกซึ่งรายเล็กไม่มีทางมีอำนาจต่อรองเท่ากับรายใหญ่

     นายพงษ์ธร กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน เอสเอ็มอี ต้องปรับตัวเอง โดยดอกเบี้ยอาจเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ที่เป็นมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ในระยะสั้นแต่การจะอยู่ได้ในระยะยาวเอสเอ็มอีต้องปรับตัว ซึ่งการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ใช่การไปกู้เงินเพื่อไปแข่งขันกับรายใหญ่ เพราะไม่มีทางแข่งขันได้ และไม่มีทาง เสมอด้วยแต่เอสเอ็มอีต้องเปลี่ยนเกม นั่นคือหันมาพัฒนาโปรดักส์ใหม่ ที่แตกต่างจากตลาด มีนวัตกรรม หาช่องทางใหม่ ก็จะอยู่รอดและมีอนาคตได้

     ด้านนายวุฒิชัย เจริญศุภกุล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท พลังผัก จำกัด ผู้ผลิตผัก และผลไม้ แบรนด์ 'Oh! Veggies' กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีลดต่ำลง ย่อมส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับเอสเอ็มอีสำหรับทุกธุรกิจ กระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญหากเงินสดไม่พอก็มีความเสี่ยงที่ต้องไปกู้เงินจากธนาคาร ทำให้ต้องเหนื่อยในการ  หารายได้มาชำระหนี้

     อย่างไรก็ตาม หากเอสเอ็มอี ทำธุรกิจ อย่างระมัดระวัง ลงทุนให้สอดคล้องกับธุรกิจ และทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้ด้วยตัวเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปกู้เงินจากธนาคาร ให้เป็นภาระ เช่นเดียวกับพลังผัก ที่ไม่ได้กู้เงินเพื่อมาลงทุนขยายธุรกิจ แต่ใช้การปรับตัวเอง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ว่าด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน การพัฒนานวัตกรรม เพื่อทำให้มีสินค้าที่แตกต่างจากตลาด

      "ทำอย่างไรให้เรา ไม่เหมือนคนอื่น ถ้าทำได้ ก็จะเหนื่อยหน่อยลง แต่ถ้าไม่ปรับเปลี่ยน คิดว่าเราอาจจะไม่ยั่งยืนในอนาคต เพราะถ้าคนอื่น ตามมาทัน หรือ การแข่งขันรุ่นแรงขึ้น ก็จะไปเจอกับการแข่งเรื่องราคา สุดท้ายเราก็จะสู้ไม่ได้ส่วนกรณีที่บางธนาคารอาจยังเพิกเฉยไม่ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมานั้น ในการแข่งขันเสรี เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารที่ลดดอกเบี้ยลง จะได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่คนที่ยังไม่ลด สุดท้ายก็ต้องปรับตาม ซึ่งเป็นไปตามสภาวการณ์ตลาด" นายวุฒิชัย กล่าว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
( วันที่ 28 พฤษภาคม 2558 )