ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
05 มิ.ย.2558

ญี่ปุ่นลงพื้นที่เดือนหน้าลุยไฮสปีดกรุงเทพ-เชียงใหม่

Line
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้จะประชุมคณะกรรมร่วมไทย-ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกหลังเซ็น MOC (บันทึกความร่วมมือ) และตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินงานร่วมกัน 3 คณะ ได้แก่ 1.คณะทำงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 2.คณะทำงานเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และ 3.คณะทำงานด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน 

"ญี่ปุ่นให้ความสนใจรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่เป็นโครงการแรก จะเริ่มพิจารณาด้านการเงินและรูปแบบการลงทุนก่อนเพราะญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก เพราะใช้เม็ดเงินลงทุนสูง อีกประมาณ 1 เดือนหรืออย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งสองฝ่ายจะจัดทำแผนการทำงานของโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถเริ่มทำงานได้"

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ฝ่ายไทย-ญี่ปุ่นจะร่วมมือกันในการดำเนินโครงการก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็น อีกทั้งญี่ปุ่นช่วยหาแหล่งเงินลงทุนและให้การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร คาดว่า 2 เดือนนับจากนี้จะได้รูปแบบความร่วมมือจะเป็น EPC หรือ PPP เนื่องจากกิจการรถไฟของญี่ปุ่นดำเนินการโดยบริษัทเอกชน คือ บริษัท JR East ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเหมือนรถไฟไทย-จีน แต่ความร่วมมือเป็นจีทูจี (รัฐบาลต่อรัฐบาล) แน่นอน ส่วนกรอบเวลาทำงานจะมีกี่แผนงาน จะต้องใช้เวลาสำรวจ ออกแบบ ประมาณราคาอีกสักระยะหนึ่ง เรื่องนี้ไม่ง่าย เนื่องจากญี่ปุ่นมีมาตรฐานและความปลอดภัยต้องได้ 100% แม้จะมีแบบอยู่แล้วก็ตาม 

"ปลายปีนี้จะเห็นความชัดเจน จะเริ่มสำรวจพื้นที่ปลาย ก.ค.นี้ เพราะมีผลศึกษาโครงการเดิมของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่แล้ว ใช้เงินลงทุน 426,898 ล้านบาท สามารถนำมาทบทวนแบบรายละเอียดได้ คาดว่าจะเสร็จต้นปี′59 จากนั้นกลางปีเริ่มสร้าง ใช้เวลา 4 ปี หรือแล้วเสร็จปี′63"

ส่วนแนวเส้นทางอยู่ที่ญี่ปุ่นจะเลือก เนื่องจากรับผิดชอบด้านออกแบบรายละเอียด การสำรวจคาดว่าจะไม่เกิน 2 ครั้ง จะทราบแนวที่แท้จริง ซึ่งญี่ปุ่นเคยศึกษาเบื้องต้นไว้บ้างแล้วก่อนหน้านี้ ฝ่ายไทยก็มีผลศึกษาเดิมที่ สนข.ศึกษาไว้ ก็เตรียมแนวตามผลการศึกษาเดิมไว้ ที่จะเบี่ยงแนวใหม่ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่จะตัดผ่านพื้นที่จังหวัดสุโขทัย

สำหรับการสำรวจพื้นที่จะแบ่งเป็นช่วงๆ เหมือนรถไฟไทย-จีน จะแบ่งเป็น 2-3 ช่วง เช่น ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก, พิษณุโลก-อุตรดิตถ์ หรือพิษณุโลก-สุโขทัย-ลำปาง และช่วงลำปาง-เชียงใหม่ จะดูความยากง่ายของสภาพพื้นที่ด้วย เนื่องจากเกี่ยวกับเรื่องการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หากต้องเสนอทำอีไอเอทั้งโครงการ อาจจะติดขัดทำให้โครงการล่าช้าได้ จะต้องแยกเป็นช่วง ๆ ไป เพื่อให้โครงการได้เริ่มต้น 

พล.อ.อ.ประจินกล่าวอีกว่า ส่วนเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง เชื่อมต่อท่าเรือทวายในอนาคตและเส้นทางกรุงเทพฯ-สระแก้ว เพื่อเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม ระยะทางรวม 574 กิโลเมตร ทางญี่ปุ่นยังไม่มีระบุกำหนดกรอบเวลาที่จะก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับความพร้อมของการศึกษาและสำรวจเส้นทางจะเป็นรถไฟทางคู่ 1 เมตร หรือรางมาตรฐาน แต่จะพยายามให้ทันรัฐบาลชุดนี้

 
ที่มา : http://www.prachachat.net
วันที่ 4 มิถุนายน 2558