ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
16 มิ.ย.2558

มองข้ามชอตอสังหาฯ Q3 (1) เทกระจาดงบฯรัฐ...ตัวช่วยกระตุ้น ศก.

Line
           ใกล้จบไตรมาส 2/58 ท่ามกลางบรรยากาศที่ทุกคนบอกว่ามีภาวะเศรษฐกิจฝืด "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจแนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 3 เพื่อค้นหาคำตอบว่าทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภคพวกเราจะอยู่กันยังไง

           แขกรับเชิญคนแรก "สัมมา คีตสิน"ผู้อำนวยการ REIC (ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์) มองบวกเพราะจะเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณภาครัฐ (1 ตุลาคม 2557-30 กันยายน 2558) นั่นหมายถึงรัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายการใช้งบประมาณ หรือที่มักจะเรียกว่างบฯล้างท่อ ไม่ว่าจะเป็นแผนลงทุนปกติรวมทั้งเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ โอกาสที่เศรษฐกิจจะหมุนเวียนดีขึ้นจึงมีมากกว่าไตรมาส 1-2 ที่ผ่านมา

          "น่าจะเป็นไตรมาสที่มีความหวังมากขึ้น เม็ดเงินงบประมาณจะหมุนเวียนหลายรอบในระบบเศรษฐกิจ ลงไปถึงกำลังซื้อภาคประชาชนฐานรากด้วย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำมีผลจูงใจฝั่งผู้ซื้อพอสมควร"

           ภาพรวมสินเชื่อบ้านน่าจะทะลุ 5 แสนล้านติดต่อกันเป็นปีที่ 3 หลังจากปี'56 ทำตัวเลขไว้ 534,000 ล้านบาท ปี'57 อยู่ที่ 575,000 ล้านบาท ปีนี้ยอดสินเชื่อไม่น่าจะตกหรือเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย เหตุผลเพราะมีสินค้าทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมพร้อมโอนทะลักออกมาจำนวนมาก ถึงแม้สถิติการปฏิเสธสินเชื่อรายย่อย จะสูงขึ้นก็ตาม แต่อย่าลืมว่าคำยื่นขอกู้ใหม่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

          มองฝั่งผู้ประกอบการกลุ่มรายกลางเล็กมีอุปสรรคเพิ่มขึ้นจากการที่สถาบัน การเงินเข้มงวดสินเชื่อ ความได้เปรียบ จะเป็นของรายใหญ่ แผนลงทุนที่ชะลอเปิดตัวครึ่งปีแรกจะทยอยอวดโฉมให้เห็น

         "ดีเวลอปเปอร์มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจค่อนข้างมากจากศูนย์ข้อมูลฯ ซึ่งเราส่งสัญญาณตั้งแต่ต้นปี ทำให้มีการปรับตัวรวดเร็ว รายกลาง-เล็กยุติการ เปิดตัวใหม่ไปเลยก็มี ทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงน้อยลง"

          "ผอ.สัมมา" ระบุว่า ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเขตกรุงเทพฯ แม้จะมีซัพพลายเยอะ ต่างจังหวัดซัพพลายก็ล้นในหลายพื้นที่ บ่งบอกว่าต้องใช้เวลาดูดซับ (ขาย) นานขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะขายไม่หมด เพราะยังมีดีมานด์เคลื่อนตัวอยู่ในบางทำเล

          เช่น เขตกรุงเทพฯโซนฝั่งซ้าย แม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ได้เปรียบที่มีโครงข่ายคมนาคมค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งระบบราง วงแหวนราชพฤกษ์ สะพานข้ามเจ้าพระยา ประกบเข้ากับข้อมูลประชากรเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ในรอบ 5 ปี (2552-2557) ใน 5 จังหวัดปริมณฑลเติบโต 3.8% แสดงถึงมีดีมานด์เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เป็นต้น

          "ในส่วนผู้บริโภค ฤดูฝนเริ่มมา (หัวเราะ) เป็นจังหวะน่าจะลงไปสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยที่ตัวเองสนใจ คือ เราคงไม่มองน้ำท่วมระดับมหึมาเหมือนปี'54 แต่มองน้ำท่วมระดับน่ารำคาญ ก่อปัญหารถติดมโหฬารก่อนตัดสินใจ เพราะในแง่สินค้าไตรมาส 3 จะมีให้เลือกเยอะมาก"

          อีกราย "พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์"นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยมอง สอดคล้องกันว่า ไตรมาส 3 ภาครัฐพยายามอัดงบประมาณออกมาตามทฤษฎีเมื่อมีเงินกระตุ้นในระบบ น่าจะทำให้เศรษฐกิจคล่องตัวขึ้นบ้าง โอกาสที่จะเลือกซื้อ คอนโดฯทำเลดี ๆ น่าจะกลับมา

          "ภาวะเงินฝืดคือคนไม่ซื้อ ไม่ใช้จ่าย แนวโน้มน่าจะดีขึ้นเพราะได้ตัวช่วย จากงบฯ ภาครัฐกับตัวเลขท่องเที่ยวเรายังดีอยู่ ยอดโอนบ้านและคอนโดฯของแบงก์น่าจะสูงขึ้น เพราะแอปพลิเคชั่น คนขอยื่นกู้เยอะ ปฏิเสธเท่าไหร่ก็ยังมาอีกเพราะยูนิตพร้อมโอนมันเยอะ"

          อานิสงส์ที่จะตกกับผู้บริโภคมองว่า อสังหาฯจะตรึงราคาเพราะแข่งขันสูง โครงการพร้อมอยู่หรือสร้างใกล้เสร็จ จะออกมาไล่เลี่ยกัน เปรียบเหมือนมะม่วงสุกพร้อมกัน จึงเป็นฤดูเก็บเกี่ยวของ ผู้บริโภคว่าจะเลือกช็อปมะม่วงสุกต้นไหน หรือจะเลือกซื้ออสังหาฯจากโครงการไหนที่โดนใจที่สุด

          สุดท้ายกับคำเตือนถึงเพื่อนผู้ประกอบการโครงการใหม่ ๆ ทำเลเด่นยังเป็นแนวรถไฟฟ้า เพียงแต่อย่าลืมมองเรื่องผังเมืองใหม่กรุงเทพมหานครด้วย เพราะมีความผ่อนปรนรอบสถานีรถไฟฟ้า โบนัสในการพัฒนาพื้นที่เพิ่มขึ้น

          ดังนั้น ขอให้อดใจรอผังเมืองคลอดออกมาก่อน เพราะถ้าชิงลงมือทำก่อนจะเสียโอกาสครับ
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
( วันที่ 16 มิถุนายน 2558 )