ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
13 ก.ค.2558

คลังสั่งโอนหนี้นอกระบบ จำนองบ้าน-ที่ดินเข้ามาอยู่แบงก์รัฐ

Line

 

รมว.คลังเด้งรับนโยบายนายกฯ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แถลงด่วนสั่งแบงก์รัฐ รับรีไฟแนนซ์หนี้ที่ลูกหนี้ไปจำนองบ้าน-ที่ดินไว้กับเจ้าหนี้ จนเป็นปัญหาพอกพูนมากขึ้นในขณะนี้ อย่างน้อยเพื่อบรรเทาภาระประชาชนซึ่งเป็นลูกหนี้รายย่อยนอกระบบ

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดแถลงข่าวภายหลังเป็นฐานะประธานการประชุมมาตรการ ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ไม่มี ความสามารถในการชำระหนี้ว่า ได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งมือช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งให้กระทรวงการคลังเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกรณีที่ต้องนำบ้านหรือที่ดินไปจำนองนอกระบบ เพื่อให้สามารถเข้ามาเปลี่ยนแหล่งเงินกู้ (รีไฟแนนซ์)

"นายกฯ สั่งในที่ประชุม ครม.ครั้งที่ผ่านมา ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล เนื่องจากปัจจุบันพบว่าประชาชนนำที่ดินไปจำนองทั้งในระบบ และนอกระบบจำนวนมาก เพราะไม่มีเงินทุนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งได้มอบหมายให้แบงก์รัฐที่มีเครื่องมืออยู่แล้ว โดยให้เร่งดำเนินการปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพอย่างใกล้ชิดมากขึ้น"

เบื้องต้นแต่ละธนาคารได้กำหนดสัดส่วนวงเงินที่ประชาชนซึ่งเป็นหนี้นอก ระบบ จะเข้ามารีไฟแนนซ์ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน จะดูแลในส่วนของประชาชนทั่วไป อยู่ที่รายละ 5 แสนบาท ขณะที่ ธ.ก.ส. จะดูแลในส่วนของเกษตรกร อยู่ที่รายละ 1 แสนบาท ส่วน ธอส. จะดูแลในส่วนที่ดินที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน ที่ดิน หากอยู่ในเงื่อนไขหรือมีหลักประกันตามที่ธนาคารกำหนดไว้ ก็สามารถเข้ามาดำเนินการได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแบงก์รัฐได้ดำเนินการดูแลประชาชนที่เป็นลูกค้าตาม แผนงานอยู่แล้ว โดยให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการยืดเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และการผ่อนผัน การฟ้องร้อง ในส่วนที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารรัฐดังกล่าว แต่นำบ้านไปเข้ากับธนาคารพาณิชย์แล้วนั้น จากการหารือคง ไม่สามารถไปรับรีไฟแนนซ์ หรือโอนหนี้ จากธนาคารพาณิชย์มาเป็นของธนาคารรัฐ ได้

รมว.คลังยังกล่าวว่า ได้หารือถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) กับ ธพว. โดยกระทรวงการคลังไม่มีแนวคิดที่จะออก สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตามข้อเสนอของหลายฝ่าย เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นชอบแนวทางช่วยเหลือ SMEs ในวงเงิน 1 แสนล้านบาท ไปแล้ว ซึ่งถือว่าเพียงพอ

โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ 2 ปีแรก ขณะที่ ถ้าเกิดกรณีหนี้เสีย รัฐจะเข้าไปรับภาระ 70% ของหนี้ทั้งหมด ส่วนธนาคารพาณิชย์รับไปเพียง 30% เท่านั้น

 
ที่มา : ASTVผู้จัดการรายวัน
( วันที่ 11 กรกฎาคม 2558 )