ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
14 ส.ค.2558

สินเชื่อครึ่งปีหลังยังแผ่ว

Line
ชลลดา อิงศรีสว่าง

ตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อ และตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นดัชนีที่ใช้ชี้วัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งนายแบงก์ทั้งหลายนำมาใช้ในการวางแผนธุรกิจ และสามารถบอกภาพรวมเศรษฐกิจว่าเป็นอย่างไรในแต่ละช่วง

โดยธรรมชาติของสินเชื่อจะขยายตัวล้อไปกับตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในภาวะปกติสินเชื่อจะขยายตัวมากกว่าตัวเลขจีดีพีประมาณ 2-3 เท่าตัว หากในปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2-3% สินเชื่อน่าจะขยายตัวได้ 4-6%

ในช่วงต้นปีนี้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งคาดว่าสินเชื่อในปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 7% เนื่องจากให้น้ำหนักว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่แค่ไตรมาสแรกทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจปรับลดตัวเลขจีดีพีลงมา ซึ่งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็ชะลอตัวลงตาม แต่ไม่ใช่เกิดเพราะไม่มีความต้องการสินเชื่อ แต่ลดลงเพราะธนาคารพาณิชย์เป็นห่วงความเสี่ยงหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าสินเชื่อในปีนี้อาจจะขยายตัวได้ 4.4% หรือมียอดปล่อยกู้ 3 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการขยายสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นหลัก

การคาดการณ์ของ ธปท. เป็นไปได้หรือไม่ว่าสินเชื่อจะยังขยายตัวดีในครึ่งปีหลัง ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มซึมเซา ทั้งนี้ในไตรมาสแรกของปีนี้สินเชื่อขยายตัว 4.3% และในไตรมาส 2 ขยายตัว 4.6%  ซึ่งสินเชื่อในไตรมาส 2 นี้ ถือเป็นการเติบโตที่เริ่มทรงตัวเป็นครั้งแรก หลังจากที่เติบโตในทิศทางชะลอลงมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2555

ในครึ่งปีแรกสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นกลุ่มที่ขยายตัวมากที่สุด โดยไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 4.4% ไตรมาส 2 ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.2%

สำหรับสินเชื่อรายใหญ่มีอัตราการขยายตัวลดลง โดยไตรมาสแรกขยายตัว 2.6% ไตรมาส 2 ขยายตัวที่ 0.7% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เพราะภาคธุรกิจรายใหญ่หันไประดมทุนผ่านหุ้นกู้เพื่อมาชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน และใช้ขยายการลงทุน โดยอาศัยช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำระดมทุนโดยตรง

ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2 ปี 2558 ทรงตัวที่ 7.8% เป็น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวมากที่สุด ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง

เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สินเชื่อในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้ว ทางกสิกรไทยคาดการณ์ว่าสินเชื่ออาจจะขยายตัวได้ 7.3-7.5% หากจีดีพีขยายตัวได้ 3.5-4%  แต่หากจีดีพีหดตัวลงสินเชื่อก็จะขยายตัวได้น้อยลงตามไปด้วย

ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เน้นตลาดในประเทศ อาทิ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ที่ยังมีความต้องการบริโภคของประชาชนเติบโตดีในครึ่งปีแรก

ในขณะที่สินเชื่อการก่อสร้างที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี จากโครงการลงทุนของรัฐบาลที่จะเร่งขยายตัวออกมากลับไม่เป็นไปตามคาดหมาย สินเชื่อก่อสร้างไม่ได้ขยายตัวมากมายเท่าที่ควร เพราะการลงทุนภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

หากมองให้ลึกลงไปกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงเร็วมากกับการขยายตัวของสินเชื่อ จะพบว่ายังคงมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งที่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ความต้องการสินเชื่อจะสูงมาก  ในขณะที่การอนุมัติสินเชื่อจะ ต่ำลงสวนทางกัน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เป็นห่วงว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียจะเร่งตัวจนสร้างภาระให้ต้องเพิ่มเงินสำรองหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ

ในไตรมาส 2 ของปีนี้ สินเชื่อธุรกิจมียอดอนุมัติทรงตัวที่ 73% จากคำขอกู้ ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อที่ลดลงเหลือ 55% จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 60-70% ส่งผลให้สัดส่วนเอ็นพีแอลที่หักเงินสำรองหนี้ไว้แล้ว เพิ่มขึ้นมาที่ 2.38% จาก 2.29% ในไตรมาสก่อน

ความต้องการสินเชื่อในครึ่งปีหลังนั้น จะยังเป็นความต้องการเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ เราจะยังไม่เห็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในครึ่งปีหลังอีกเช่นเคย

นอกจากนี้ การส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงผสมกับการที่จีนลดค่าเงินหยวนลงมา ทำให้หลายฝ่ายถอดใจว่าการส่งออกในปีนี้อาจจะไม่เติบโตเลย แถมยังจะติดลบด้วยหากเทียบกับปีก่อน ดังนั้นสินเชื่อเพื่อการค้าและสินเชื่อเพื่อการส่งออกก็จะชะลอตัวเช่นกัน

จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีหลังก็ไม่น่าจะดีไปกว่าครึ่งปีแรก หากปัจจัยเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยให้มีการขยายธุรกิจ แถมหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ก็ยังจะเพิ่มขึ้น เพราะลูกหนี้ ที่ยังพอไปได้จะเก็บสภาพคล่องไว้เป็นทุนหมุนเวียนเพราะขอกู้เงินใหม่จะยากกว่าเดิม ซึ่งธนาคารระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อในปีนี้ตลอดทั้งปี

นับเป็นโชคดีของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ได้เพิ่มการกันสำรองหนี้เสียขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 ปี 2558 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบกันสำรองรวมทั้งสิ้น 3.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เงินสำรองที่มีอยู่รวมทั้งสิ้น 4.24 แสนล้านบาท สูงกว่าระดับเงินสำรองพึงกันที่ 2.57 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 165.1%

ในขณะที่มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ 16.8% และกองทุนชั้นที่ 2 อยู่ที่ 14% อัตราส่วนของเงินกองทุนและสำรองหนี้เสียที่สูงลิ่วนี้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่ยังมีความทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
( วันที่ 14 สิงหาคม 2558 )