ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
28 ส.ค.2558

ลั่นคลอด"กรมราง"เสร็จปีนี้ ลุยตั๋วร่วม"บีทีเอส-เอ็มอาร์ที"/ชงครม.อนุมัติอุตฯการบิน

Line
คมนาคมชูยุทธศาสตร์ 'กรมราง' ดูแลศูนย์ซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในอนาคตคาดตั้งเสร็จในปีนี้ ล่าสุดบีเอ็มซีแอลนำร่อง ร่วมทุนญี่ปุ่นรับถ่ายทอดเทคโนโลยีซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีม่วง สนข.เร่งสรุปผลศึกษาตั้งนิคมอุตสาหกรรม

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ว่า กระทรวงกำลังเร่งผลักดันจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อดูแลงานซ่อมบำรุงโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งล่าสุดได้มีการยกร่างกฎหมายจัดตั้งกรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้สอบถามความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6-7 แห่ง หากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้ความเห็นชอบ ก็จะสามารถจัดตั้งกรมรางได้ทันที มั่นใจว่าเสร็จทันภายในปี 58

“ปัจจุบันไทยกำลังอยู่ช่วงรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยล่าสุด บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือบีเอ็มซีแอลได้ร่วมทุนกับ บริษัท มารูเบนิ, โตชิบา และ บริษัท อีสต์ เจแปน เรล จัดตั้ง บริษัทเจแปน ทรานสปอร์ต เทคโนโลยี (ประเทศไทย) เพื่อดูแลงานซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-ราฎร์บูรณะ ) ซึ่งจะเปิดให้บริการ ในวันที่ 12 ส.ค. 59”

นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งหากในอนาคตไทยสามารถบริการการซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง ก็จะมีผลดีต่อประเทศอย่างมากในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันไทยกำลังมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเมืองอีกหลายเส้นทาง

นายเผด็จ ประดิษฐเพชร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับระบบตั๋วร่วมคาดจะเริ่มเปิดใช้ระบบตั๋วร่วมกับระบบรถไฟฟ้า BTS, รถไฟฟ้า MRT และทางด่วน 1 เส้นทาง ในช่วงเดือน ก.พ. 59 หรืออย่างช้าเดือน ส.ค. 59 ซึ่งในเดือน ก.ย.58 จะติดตั้งระบบตั๋วร่วมในระบบนำร่อง 3 แห่งดังกล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมกล่าว ภายหลังการสัมมนารับฟังความเห็นร่างรายงานฉบับสุดท้าย โครงการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยว่า หลังรับฟังความคิดเห็นจะสามารถจัดทำข้อสรุป และเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม.ได้ในเดือน ต.ค. 58 นี้ โดยจะพัฒนาที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาก่อนเป็นอันดับแรก

“จากผลการศึกษาพบว่า ในช่วง 20 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี 2556-2575 อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกจะเติบโตขึ้น เนื่องจากมีการสั่งซื้อเครื่องบินถึง 12,820 ลำ หรือคิดเป็น 36% และหากพิจารณาปริมาณการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันพบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ของปริมาณความจุคิดเป็นจำนวนที่นั่งมากถึง 1.9 ล้านที่นั่ง รองลงมาจากอินโดนีเซียที่มีปริมาณความจุที่นั่งถึง 2.8 ล้านที่นั่ง” นายอาคมกล่าว

นายอาคากล่าวว่าการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ในเวลา 10 ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท สามารถสร้างงานได้จำนวน 7,000 คน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 22% ซึ่งหากผ่าน ครม.สามารถเริ่มดำเนินการได้ โดยไทยมีจุดแข็งในการซ่อมบำรุงทั้งพื้นที่ ต้นทุนแรงงานต่ำ มีความสามารถด้านเทคนิคในการซ่อมบำรุงอากาศยาน สามารถทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
 

ที่มา : http://www.thaipost.net
( วันที่ 28 สิงหาคม 2558 )