ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
09 ก.ย.2558

เสนอก่อสร้างรถไฟฟ้าสีส้ม-ส่วนขยายสีม่วงก.ย.นี้

Line
"คมนาคม" แจงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีม่วง-สายสีส้ม สรุปเม็ดเงินลงทุนได้สัปดาห์นี้ พร้อมเตรียมดันเข้า ครม.ภายใน ก.ย. นี้ ขณะที่โมโนเรลสายสีชมพู-สีเหลือง เร่งดันเอกชน เข้าร่วม PPP รฟม.เดินเครื่องรถไฟฟ้าสาย สีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จ่อทุบสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ต.ค.-พ.ย. นี้

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย เส้นทางเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนัก งบประมาณ รวมถึงกระทรวงการคลังเพื่อหา ข้อสรุปเรื่องการลงทุน ซึ่งจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนนี้

ขณะที่ ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีชมพู เส้นทางปากเกร็ด-มีนบุรี และสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการ เชิญชวนเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ตามแผน พระราชบัญญัติร่วมทุนระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน หรือ PPP ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เร่งเสนอแผนโครงการต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.พิจารณาเห็นชอบหลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ ประชุมครม. ต่อไป

ขณะที่การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสาย สีเขียวเหนือ เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่ - คูคต ได้เริ่มมีการปิดช่องทางการจราจรบางส่วนไปแล้ว และอาจส่งผลกระทบต่อการจราจรในบริเวณดังกล่าว รวมถึงในวันที่ 12 ก.ย.นี้ จะมีการปิดการจราจรบริเวณสะพานข้ามแยกเกษตรเพื่อรื้อถอนสะพานต่อไป

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ รฟม.ประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อบริหารการจราจรให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้งจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะเร่งติดตั้งป้ายเตือน ป้ายประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยงให้ประชาชนรับทราบเพิ่มเติม

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัด เนื่องจากพื้นที่การจราจรบางส่วนถูกปิดช่องทางจราจรลดลง ทั้งนี้ ได้เตรียมแผนรับมือกับปัญหาโดยจัดทำแผนการบริหารจราจรเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น การทำแผนแจ้งการใช้ทางลัดทางเลี่ยงบริเวณที่มีการปิดการจราจร การบริหารจัดการสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณรถที่สะสมในพื้นที่ก่อสร้าง

ส่วนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า สายนี้ จะมีการทุบสะพานข้ามแยกเกษตรออกเพื่อก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และในอนาคตจะมีการสร้างสะพานข้ามแยกเกษตรขึ้นทดแทน

ส่วนการทุบสะพานข้ามแยกรัชโยธินต้องรอหลังจากดำเนินการรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรก่อน คาดว่าประมาณ ต.ค.-พ.ย. นี้จะเริ่มดำเนินการ โดยจะมีการประกาศปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินเป็นเวลา 3 ปีเช่นกัน จนกว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะแล้วเสร็จ และหลังจากรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินออกจะมีการทำเป็นอุโมงค์ทางลอดแทน
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
( วันที่ 9 กันยายน 2558 )