ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
10 ก.ย.2558

รื้อพื้นที่2.5แสนไร่ วางผังเมือง"มาบตาพุด" เพิ่มที่อยู่อาศัย-ลดขัดแย้งชุมชนvsอุตฯ

Line
เปิดพิมพ์เขียวผังเมืองรวมมาบตาพุด 2.5 แสนไร่ กำหนดใช้ประโยชน์ที่ดิน 13 ประเภท ปรับลดพื้นที่อุตฯ 1.7 หมื่นไร่ ควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ เพิ่มพื้นที่สีเขียว-ที่อยู่อาศัย รองรับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโยธาฯโยนเผือกร้อนให้ท้องถิ่นตัดสินใจเพิ่มพื้นที่สีม่วง สนองนโยบาย "รัฐบาลตู่ 3" บูมซูเปอร์คลัสเตอร์ย่านอีสเทิร์นซีบอร์ด 
 

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การจัดทำร่างผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จ.ระยอง หรือผังมาบตาพุด (ปรับปรุงครั้งที่ 3) มีพื้นที่กว่า 400 ตร.กม. หรือ 250,000 ไร่ กรมได้ถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงผังตั้งแต่ปี 2548 

ปัจจุบันทางท้องถิ่นยกร่างผังเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการขั้นตอนที่ 4 ปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้มีการประชุมร่วมกับประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง คาดว่ากว่าจะครบขั้นตอนและประกาศใช้ต้องรอเวลาประมาณ 1 ปี ใช้ประโยชน์ที่ดิน 13 ประเภท

นายมณฑลกล่าวว่า ร่างผังเมืองรวมมาบตาพุดฉบับใหม่ กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน 13 ประเภท (ดูแผนผัง) ได้แก่ 
1.สีเหลือง ที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นน้อย 2.สีส้ม อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง 3.สีแดง ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก 4.สีม่วง ที่ดินอุตสาหกรรมและคลังสินค้า 

5.สีม่วงทแยงขาว ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมไม่ก่อมลพิษ 6.สีเขียวทแยงขาว ที่ดินอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม 7.สีเขียว ที่ดินชนบทและเกษตรกรรม 8.สีเขียวอ่อน ที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 9.สีเขียวอ่อนทแยงขาว ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ 10.สีเขียวขี้ม้า ที่ดินสถาบันการศึกษา 11.สีเทา ที่ดินสถาบันศาสนา 12.สีน้ำเงิน ที่ดินสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ และ 13.สีฟ้า ที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และประมง 

นอกจากนี้ยังได้นำผลศึกษาคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาใช้ในการวางผังด้วยเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ได้แก่ กำหนดระยะแนวป้องกัน (บัฟเฟอร์) ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบอุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่า 50 เมตร, นอกเขตนิคมอุตฯ 0-50 เมตร, กำหนดระยะแนวกันชน หรือบัพเฟอร์โซน 500-2,000 เมตร 

ลดพื้นที่สีม่วง 1.7 หมื่นไร่

อีกทั้งยังได้ปรับลดขนาดพื้นที่สีม่วง (นิคมอุตฯ) จากผังเดิมปี 2546 กำหนดไว้ 40,384 ไร่ เหลือ 22,862 ไร่ หรือลดไป 17,522 ไร่ เป็นพื้นที่อยู่นอกเหนือเขตนิคม ยังไม่มีการพัฒนา เหตุผลเนื่องจากช่วงนั้นกระแสสิ่งแวดล้อมกำลังแรง จึงต้องควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ ลดปัญหาผลกระทบและความขัดแย้งจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน

นายมณฑลกล่าวอีกว่า แนวคิดในการวางผังตามร่างใหม่ต้องการสร้างความสมดุลระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนโดยกรมจะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินโครงการเมืองอุตสาหกรรม(Eco Industrial Town) จึงปรับลดพื้นที่สีม่วง เพิ่มพื้นที่สีเขียวกับสีเหลือง 

"ผังใหม่มีการขยายขอบเขตผังเมืองรวมให้ครอบคลุมพื้นที่ในทะล และ อ.บ้านฉาง เพิ่มประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินอุตสาหกรรมไม่ก่อมลพิษ ที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของที่ดินตามข้อเท็จจริง โดยลดพื้นที่อุตฯลง"

ยังปรับปรุงแก้ไขได้ 

นายมณฑลกล่าวว่า ในช่วงปิดประกาศ 15 วันนี้ หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เห็นด้วยกับร่างผังเมืองใหม่ ผู้วางผังคือเทศบาลมาบตาพุดก็ต้องปรับแก้ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วยที่จะปรับลดพื้นที่นิคมอุตฯ ก็ต้องไปว่ากันตามขั้นตอนกฎหมาย การจะขอเพิ่มไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรมฝ่ายเดียว การทำผังเมืองต้องมาจากประชาชน ผ่านคณะกรรมการที่ปรึกษาจังหวัด และคณะกรรมการ (บอร์ด) ผังเมืองชุดใหญ่ 

"ผังเมืองเป็นเรื่องของการประสานประโยชน์คนในพื้นที่ ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันว่าอยากจะได้อะไร ผู้วางผังก็นำความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ มาจัดวางผัง กระทรวงอุตฯจะขอพื้นที่เพิ่ม ก็ต้องถามภาคอื่นด้วย เช่น ภาคเกษตร ท่องเที่ยว และประชาชนที่อยู่ล้อมรอบ"

ส่วนพื้นที่ที่ถูกปรับลด ได้เพิ่มข้อกำหนดให้โรงงานสามารถขยายพื้นที่การผลิตได้ 1 เท่า ส่วนพื้นที่ทับซ้อนราชการจะปรับเป็นพื้นที่ราชการ พื้นที่ทับซ้อนกับชุมชนจะปรับเป็นพื้นที่ชุมชน และพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าไม้ที่ไม่ได้ถอนสภาพจะปรับเป็นพื้นที่ป่า โดยกำหนดการใช้ประโยชน์ทั้งกิจกรรมหลักและกิจกรรมรอง เช่น พื้นที่สีเขียว อาจเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินกิจกรรมรองได้มากขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย 

ทบทวนบัฟเฟอร์โซน 

ทั้งนี้เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือข้ามหน่วยงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ 4 ข้อ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติมีมติออกมา คือ 1.ยกเลิกบัญชีกำหนดประเภทโรงงานท้ายกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัด ผังเมืองรวมอำเภอและเทศบาล และผังเมืองชุมชน 2.นำผลศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างมีศักยภาพของกระทรวงอุตสาหกรรมใช้เป็นแนวทางวางผังเมือง 34 จังหวัด 3.ทบทวนข้อกำหนดแนวกันชนและแนวป้องกันโรงงานประเภทต่าง ๆ จากปัจจุบันมีระยะถอยร่น 2,000 เมตร และ 4.กรณีรัฐบาลมีนโยบายกำหนดพื้นที่พิเศษ ให้กรมจัดทำผังเมืองให้สอดรับกับนโยบาย

"กรมเห็นด้วยยกเลิกบัญชีประเภทโรงงานออกจากผังเมือง แต่ให้กำหนดเป็นข้อห้ามแทน เพราะผังเมืองกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องโรงงาน ส่วนบริเวณแนวกันชนควรกำหนดในพื้นที่อุตสาหกรรม เพราะผู้ประกอบการได้ประโยชน์อยู่แล้ว ไม่ควรกำหนดไปล้ำชุมชนที่อยู่ในปัจจุบัน และบริเวณที่เป็นแนวกันชนสามารถทำกิจการที่ไม่เกิดมลพิษได้ ขณะที่นโยบายรัฐบาลให้กำหนดพื้นที่พิเศษพัฒนาอุตสาหกรรม ขอให้สั่งการให้ชัดเจน กรมพร้อมจะทำให้"

 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
( วันที่ 7 กันยายน 2558 )