ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
11 พ.ย.2558

เร่งประมูลที่ดินรถไฟ 3 แปลงใหญ่ 9 เดือนจบ "ออมสิน" ลั่นปีหน้าดึงเอกชนลงทุนแสนล้าน-BTS จองย่าน กม.11

Line
อานิสงส์ "พีพีพี ฟาสต์แทร็ก" ปลุกผีที่ดินรถไฟ "รมช.ออมสิน ชีวะพฤกษ์" สั่งเร่งศึกษารูปแบบลงทุนชงคณะกรรม PPP อนุมัติ คาดปีหน้าเห็นผลเป็นรูปธรรม ประกาศหาเอกชนพัฒนาพื้นที่3 แปลงรวด "สถานีกลางบางซื่อ-ย่าน กม.11-สถานีแม่น้ำ" เผยบีทีเอสสนร่วมลงทุนคอนโดฯ ป้อนผู้มีรายได้ปานกลาง กรมธนารักษ์ไม่ยอมตกขบวน เร่งสำรวจที่ดินแปลงใหญ่ทั่วประเทศ

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2558 มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือ PPP Fast Track เพื่อลดเวลาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เหลือ 270 วัน หรือ 9 เดือน จากเดิมใช้เวลาถึง 22 เดือนหรือ 1-2 ปี ในอนาคตจะส่งผลดีต่อโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคมเดินหน้าได้เร็วขึ้น 
 

ลงทุนรถไฟฟ้า 4 แสนล้าน

ปัจจุบันมีโครงการกำลังเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกว่า 4 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการจัดหาระบบและรับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ, หัวลำโพง-บางแค) สีเขียว (แบริ่ง-สมทุรปราการ, หมอชิต-คูคต) สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) และก่อสร้างพร้อมรับสัมปทานเดินรถสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหินและกรุงเทพฯ-ระยอง ให้สามารถเดินหน้าเร็วขึ้น 

นายออมสินกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ทำให้การพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เดินหน้าเร็วขึ้นในการหาเอกชนมาร่วมพัฒนา หลังล่าช้ามานาน คาดว่าในปี 2559 จะเห็นผลเป็นรูปธรรมทั้งหมด ล่าสุดได้สั่งให้การรถไฟฯเตรียมรายละเอียดโครงการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ 3 แปลงระยะเร่งด่วน มูลค่ารวม 96,783 ล้านบาท ส่งมาให้กระทรวงพิจารณาเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการ PPP ต่อไป 

ปลุกผีที่ดินทำเลทองรถไฟ 

แปลงแรกที่ดินรอบสถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ มูลค่าลงทุน 6.8 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าเป็นฮับธุรกิจและที่อยู่อาศัยแห่งใหม่รองรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน ตามแผนประกาศเชิญเอกชนร่วมลงทุนในปี 2560 หลังมี PPP ฟาสต์แทร็ก คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ปี 2559 

ทั้งโครงการใช้เวลาพัฒนา 15 ปี แบ่ง 3 ช่วง ระยะสั้น 5 ปีแรก เริ่มโซน A 35 ไร่ ห่างสถานี 50-100 เมตร พัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร อาคารสำนักงานและธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม 3-4 ดาว ศูนย์อาหาร ลงทุน 1 หมื่นล้านบาท, แผนระยะกลาง 10 ปี เป็นโซน B 78 ไร่ อยู่ด้านตะวันออกของสถานี ห่างตลาดนัดจตุจักร 700 เมตร พัฒนาเป็นย่านพาณิชยกรรม ศูนย์การค้า ศูนย์แสดงสินค้า ลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท 

แผนระยะยาว 15 ปี เป็นโซน C 105 ไร่ อยู่บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต 2 และสวนสาธารณะ 3 แห่ง เหมาะพัฒนาที่อยู่อาศัยหรือเมืองใหม่ มีทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ลงทุน 3.4 หมื่นล้านบาท และโซน D 87.5 ไร่เป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการเดินทาง เช่น ที่จอดรถ และทางเดินเชื่อม 

นายออมสินกล่าวอีกว่า สำหรับแปลงที่ 2 เป็นที่ดินสถานีแม่น้ำ 277 ไร่ มูลค่า 10,413 ล้านบาท เดิมการรถไฟฯจะพัฒนาอาคารพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย กับแปลงที่ 3 ย่าน กม.11 เนื้อที่ 359 ไร่ มูลค่า 18,370 ล้านบาท พัฒนาอาคารพาณิชยกรรม สำนักงาน และที่อยู่อาศัย ขณะนี้ทางการรถไฟฯ อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 

BTS เชียร์ที่ดิน กม.11

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า แม้ว่าการรถไฟฯ จะนำที่ดินย่าน กม.11 เข้าสู่กระบวนการ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 บริษัทยังคงสนใจพัฒนาโครงการและเห็นด้วยจะนำ PPP ฟาสต์แทร็กมาใช้กับโครงการนี้ 

"บริษัทได้เสนอแนวคิดพัฒนาโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาบ้างแล้ว พัฒนาในรูปแบบคอนโดมิเนียม 10 อาคาร ประมาณ 1 หมื่นยูนิต สำหรับเป็นสวัสดิการพนักงานรถไฟ 5 พันยูนิต และให้คนทั่วไปที่มีรายได้ปานกลางเช่าระยะยาว 10-30 ปี รวมทั้งมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ศูนย์การค้า โรงพยาบาล" 

ผุดคอนโดฯ เจาะคนชั้นกลาง

ขณะเดียวกัน บริษัทสนใจลงทุนก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) เชื่อมการเดินทางรอบ กม.11 และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรับส่งคนมายังย่านหมอชิต-จตุจักร จุดต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งมีอยู่ในแผนพัฒนาของการรถไฟฯ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บีทีเอสได้เสนอโมเดลพัฒนาเบื้องต้นให้กับกระทรวงคมนาคมมี 5 ส่วน คือ 1.ลงทุน 1 หมื่นล้านบาทสร้างคอนโดฯ 5,000 ยูนิต รองรับพนักงานการรถไฟฯ 5,000 ครัวเรือน ออกแบบเป็นห้องชุด 2 ไซซ์ 42 และ 56 ตารางเมตร โดยบริษัทสร้างให้ฟรี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เหลือ 2.พื้นที่ค้าขายสำหรับผู้ประกอบการที่ค้าขายบริเวณ กม.11 เดิม 3.สวนสาธารณะ 4.คอนโดฯ ให้เช่าสำหรับผู้มีรายได้ปานกลาง 5.พื้นที่เชิงพาณิชย์

มักกะสันติดแก้ กม.เช่า 99 ปี 

นายเอกวัฒน์ มานะแก้ว รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจที่ดินของกรมธนารักษ์ที่จะนำมาเปิดประมูลให้เอกชนเข้าร่วมทุนตาม PPP ฟาสต์แทร็ก ขณะที่ย่านมักกะสัน 497 ไร่ ซึ่งกรมได้รับสิทธิ์เช่าระยะยาว 99 ปีจากการรถไฟฯ ยังไม่สามารถนำมาดำเนินการได้เร็ว ๆ นี้ เพราะติดปัญหาแก้ไขกฎหมายให้สามารถเช่า 99 ปี เรื่องนี้ทางกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างดำเนินการ 

นอกจากนี้ ต้องจ้างที่ปรึกษามาศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการตามแผนแม่บทการพัฒนาใหม่ที่เน้นพื้นที่สวนสาธาณะเป็นหลัก เหลือพื้นที่สำหรับจัดหาประโยชน์จริง ๆ เฟสแรก 140 ไร่ เฟสที่ 2 ประมาณ 177 ไร่ ส่วนที่ดินหมอชิตเก่า 63 ไร่มีการเดินหน้าโครงการไปแล้ว โดยเจรจาบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) หรือซันเอสเตทเดิม ที่ชนะประมูลแต่แรก

 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
( วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 )