ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
02 ธ.ค.2558

เช็กความพร้อม หนองคาย พัฒนาเขตเศรษฐกิจ

Line
ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

"ขณะนี้หนองคายมีการ เตรียมความพร้อมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนระยะแรกตามนโยบายของรัฐบาลค่อนข้างดี เพราะส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ ทำให้ไม่ต้องเวนคืนที่ดินชาวบ้าน และลดปัญหาเรื่องการปั่นราคาที่ดินจนสูงเกินจริง ซึ่งเป็นปัญหาของพื้นที่อื่นที่ทำให้การลงทุนไม่เกิด ดังนั้นจึงพูดได้ว่าวันนี้หนองคายถือว่ามีความพร้อมมาก" มนนิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย เปิดเผยมุมมองที่มีต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย

พร้อมขยายความเพิ่มว่า หนองคายมีความพร้อมด้านการคมนาคมขนส่งทั้งทางถนนและระบบราง ซึ่งส่วนของถนนนั้นมียุทธศาสตร์สำคัญคือใช้ จ.หนองคาย เป็นศูนย์กลางการเดินทางขนส่งเชื่อมโยง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว และจีน ที่มีประชากรในเส้นทางดังกล่าวรวมกันหลายร้อยล้านคน

สำหรับการพัฒนาเส้นทางถนน แขวงทางหลวงหนองคายมีแผนแม่บทจะเชื่อมเส้นทางถนน 4 เลน ระหว่าง จ.อุดรธานี ที่มีสนามบินมายัง จ.หนองคาย และเชื่อมจาก อ.เมืองหนองคาย ไป อ.โพนพิสัย และรัตนวาปี ไปถึง จ.บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร

ส่วนอีกเส้นทางคือจาก อ.เมืองหนองคาย ไปสู่ อ.ท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ และสังคม และเชื่อมต่อไปถึง จ.เลย โดยคาดหวังว่าเส้นทางนี้จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเป็นอย่างดี เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติหลายแห่งที่มีความงดงามไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

ขณะที่ด้านการลงทุน พื้นที่ใน อ.เมืองหนองคาย โพนพิสัย และรัตนวาปี มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นฐานการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ขณะเดียวกันนักธุรกิจจีนได้แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนปลูกพืชสมุนไพร เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริม ซึ่งพื้นที่ที่สนใจคือ อ.โพธิ์ตาก และสังคม ซึ่งเหมาะกับการปลูกพืชสมุนไพรปลอดสารเคมี

นอกจากกลุ่มทุนจีนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายแล้ว ยังมีกลุ่มทุนจากสิงคโปร์เข้ามาศึกษาข้อมูลในพื้นที่ โดยสนใจด้านการท่องเที่ยวและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งในส่วนนี้หนองคายก็มีความพร้อมมากเช่นกัน

โดยด้านการขนส่งสินค้าทางรถไฟสามารถใช้สถานีรถไฟนาทาเป็นทั้งต้นทางและปลายทางได้ เช่นเดียวกับสถานีรถไฟหนองคายที่เหมาะสำหรับการขนส่งผู้โดยสาร ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเอกชนใช้เส้นทางรถไฟขนส่งผลิตภัณฑ์ยางพาราจากในพื้นที่ไปลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งจะขนส่งครั้งละ 20-30 โบกี้ หรือประมาณ 2 ครั้ง/สัปดาห์ สามารถลดต้นทุนได้ถึง 15-20%

ขณะที่การเดินทางและขนส่งทางอากาศ แม้หนองคายจะไม่มีสนามบิน แต่ก็อยู่ห่างจากสนามบินอุดรธานีเพียง 50 กิโลเมตร จึงสามารถตอบสนองผู้ที่ต้องการเดินทางหรือขนส่งทางเครื่องบินเช่นกัน

มนนิภา ยังเล่าต่อถึงการ เตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ว่า การประปาส่วนภูมิภาคยังได้จัดเตรียมพื้นที่ 100 ไร่ เพื่อเตรียมผลิตน้ำประปาให้กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงประชาชนทั่วไปให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ส่วนไฟฟ้าทางจังหวัดได้จัดหาพื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ไว้ให้เพื่อสร้างสถานีย่อย

"สิ่งที่ชาวหนองคายจะต้อง เตรียมตัวก็คือ เรื่องพืชผลทางการเกษตรจะต้องมีคุณภาพ ซึ่งได้มอบหมายให้พัฒนาที่ดินหนองคายจำแนกประเภทดินในแต่ละพื้นที่ ว่ามีความเหมาะสมในการปลูกพืชประเภทใด นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะนำน้ำจาก 8 ลุ่มน้ำไปยังพื้นที่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน"

ด้าน ดวงใจ สุขเกษมสินทรัพย์รองประธานและเลขาธิการหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนแสดงความสนใจเข้ามาดูลู่ทางและศึกษาความเป็นไปได้ในพื้นที่ที่ชัดเจนแล้วมีอยู่ประมาณ 15 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการด้าน โลจิสติกส์ 6-7 ราย ซึ่งมีนักลงทุนทั้งจากยุโรป ฮ่องกง จีน และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กลุ่มกิจการด้านการท่องเที่ยว 6-7 ราย และกลุ่มกิจการเกษตรแปรรูป ซึ่งส่วนที่มีความชัดเจนที่สุดคือ บริษัท เซี่ยงไฮ้ ซินซุน อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ ของจีน ที่สนใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตสมุนไพร

ขณะที่การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในหนองคายที่เห็นความคืบหน้าชัดเจน คือ กลุ่มทุนใหญ่ในประเทศ 2-3 ราย สนใจลงทุนสร้างห้างสรรพสินค้า ส่วนจะลงทุนสร้างโรงแรมที่พักด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่ชัดเจน และยังไม่มีกลุ่มทุนใดสนใจจะทำโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจากหนองคายมีพื้นที่ว่างเปล่าเหลือ ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกบ้านแนวราบมากกว่า

ทั้งนี้ สาเหตุที่นักลงทุนจีนต้องการเข้ามาลงทุนในหนองคายมาก เนื่องจากจีนจะพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมจีน สปป.ลาว และไทย ซึ่งโดยปกติรัฐบาลจีนจะส่งเสริมให้นักลงทุนออกไปลงทุนตามเส้นทางที่ได้สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้แล้ว

แม้หนองคายจะมีความพร้อมเต็มที่สำหรับการก้าวขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทย แต่ดวงใจก็มองว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคายคงไม่สามารถแข่งขันกับเขตเศรษฐกิจพิเศษใน สปป.ลาว ที่มีการพัฒนามานานแล้ว เนื่องจากหนองคายเป็นเพียงจังหวัดชายแดน แต่เวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงของประเทศ ดังนั้นจึงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาจะต้องเป็นไปในลักษณะเกาะเกี่ยวกันเติบโตมากกว่า

 
ที่มา : posttoday.com
( วันที่ 2 ธันวาคม 2558 )