ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
03 ธ.ค.2558

"กรมที่ดิน" รับมือแห่โอน บ้าน-ที่ดินพุ่งจากปีละ 8.8 ล้านราย

Line

หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2558 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์และออกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อลดค่าธรรมเนียมสำหรับสนับสนุนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โดยได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2558-28 เม.ย. 2559 เป็นระยะเวลา 6 เดือน หน่วยงานสำคัญอย่างกรมที่ดินมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่ออกมาประกาศความพร้อมรับมือกับความคึกคักในการโอนบ้านและที่ดินครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น

ยชาญ สิทธิวิรัชธรรม รองอธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า ขณะนี้การทำธุรกรรมกับกรมที่ดิน รวมไปถึงสำนักงานที่ดินในต่างจังหวัดนั้นคึกคักไปจนถึงเดือนปลายเดือน ธ.ค. 2558 เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ รอบปี 2559-2562 จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวที่ผลักดันให้ราคาเฉลี่ยของที่ดินทั่วประเทศปรับขึ้นประมาณ 20% ใครที่ถือครองที่ดินจำนวนมากจะต้องเสียภาษีมากขึ้นเช่นกัน จึงทำให้ในช่วงปลายปีนี้มีการโอนที่ดินและเปลี่ยนมือที่ดินจำนวนมากขึ้น จากนั้นการทำธุรกรรมกับกรมที่ดินและสำนักงานที่ดินต่างๆ จะกลับมาคึกคักอย่างมากอีกครั้งในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2559 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาใกล้จะสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์

"เวลานี้ทางกรมที่ดินพยายามอำนวยความสะดวกประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.โดยไม่มีการพักในช่วงเวลาเที่ยงตรง และหากได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก มีความเป็นได้สูงที่ทางรัฐบาลจะขยายระยะเวลาของมาตรการดังกล่าวออกไป เพราะช่วงเวลานี้เหมือนกับการชิมลาง แต่หน้าที่ในการขยายระยะเวลาบังคับใช้นั้นอยู่ที่กระทรวงการคลังจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เหมือนกับในช่วงหลายปีผ่านมา อย่างเมื่อปี 2551 ได้เคยขยายเวลาบังคับใช้ของมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ออกใช้ถึงปี 2553 เนื่องจากความต้องการของประชาชนนั้นยังมีอยู่ ซึ่งกรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่พร้อมจะปฏิบัติตาม ขอให้มีมติออกมา" ชัยชาญ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายหรือการโอน และค่าธรรมเนียมจดจำนองที่ลดลงนั้นจะส่งผลต่อหน่วยงานท้องถิ่น หากโครงการหรือที่ดินอยู่ในพื้นที่ใดก็จะส่งคืนค่าธรรมธรรมเนียมต่างๆ กลับคืนให้พื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลต่างๆ โดยมีการประเมินว่า รายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายหรือการโอน รวมถึงค่าจดจำนองในระยะเวลา 6 เดือน ที่ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จะลดลงประมาณ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท 

"กรมที่ดินอยู่ระหว่างการจัดเก็บข้อมูลทุกเดือนว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่ออกมา มีผู้มาใช้บริการเท่าไร รายได้ในการจัดเก็บอยู่ที่เท่าใด ลดไปเท่าใด ของจริงเป็นอย่างไร จะมีผลต่อการต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินที่ดินใหม่ในปี 2559 การจัดเก็บรายได้ของกรมที่ดินนั้นจะเฉลี่ยพอๆ กันทุกเดือน นอกจากนี้ภาษีรถยนต์จะจัดเก็บแพงขึ้นในปี 2559 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนระดับกลาง-ล่าง เริ่มคิดว่าอาจจะต้องเลือกซื้ออย่างหนึ่งอย่างใดก่อน จะเป็นบ้านหรือรถก็ขึ้นกับความจำเป็น ซึ่งทางกระทรวงการคลังนั้นระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง" ชัยชาญ กล่าว

ที่ผ่านมา กรมที่ดินมีการจัดเก็บเอกสารสิทธิจำนวน 35 ล้านแปลง แต่โฉนดที่ดินนั้นมีการไถ่ถอน หรือนำเอากลับมาจำนองธนาคารบ่อยครั้งกว่าการเปลี่ยนย้ายหรือเปลี่ยนที่อยู่อาศัย พอแยกเป็นรายการแล้วนั้นจะมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่รูปแบบของการออกเอกสารสิทธินั้นจะออกเป็นโฉนดทั้งหมด มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยที่เป็นเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก.

ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ของสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ ปี 2558 ระหว่างเดือน ต.ค. 2557-31 ส.ค. 2558 ซึ่งยังไม่ครบปีงบประมาณยังขาดเดือน ก.ย. 2558 โดยมีจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการทั่วประเทศประมาณ 8.81 ล้านคน เปรียบเทียบงบประมาณปี 2557 ในช่วงเวลาเดียวกันมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 1.12 ล้านคน หรือ 14.63% ส่วนการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ จัดเก็บได้ 8.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 1,498 ล้านบาท หรือ 1.8%

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนดังกล่าวนั้นมาจากการจัดเก็บในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากการโอนที่อยู่อาศัยประเภทคอนโด หากนับรวมภาษีธุรกิจเฉพาะอากรแสตมป์ส่งให้กับกรมสรรพากรต่อปีรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และแนวโน้มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ นั้นจะเพิ่มขึ้นทุกปี เห็นได้ชัดจากปี 2559 เนื่องจากฐานราคาประเมินเปลี่ยน และการออกเอกสารสิทธิต่างๆ นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น

สำหรับงบประมาณประจำปีนั้น กรมที่ดินจะได้งบต่อปีประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายของข้าราชการประจำในสังกัด ประมาณ 70-80% หน่วยงานอย่างกรมที่ดินนั้นได้รับงบประมาณสนับสนุนไม่เหมือนกับกรมใหม่ๆ ของทางราชการที่จัดตั้งขึ้น เนื่องจากการจัดตั้งกรมใหม่ขึ้นมานั้นจะได้ฐานภาษีใหม่ และจะมีการคำนวณงบประมาณประจำปีให้ใหม่ ขณะที่หน่วยงานเก่าอย่างกรมที่ดินจะถูกกำหนดด้วยฐานรายได้เดิม โดยงบประมาณประจำปีนั้นจะได้เพิ่มเพียง 5-10% หรือเว้นเสียแต่ว่าจะมีโครงการพิเศษเกิดขึ้นมา และมีการของงบเป็นกรณีพิเศษ เช่น ก่อนหน้านี้มีโครงการจัดทำศูนย์ข้อมูลของกรมที่ดิน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า มาตรการนี้เป็นประโยชน์สำหรับคนซื้อที่มีความพร้อมด้านการงานและรายได้ แต่สำหรับคนที่ยังไม่พร้อมก็ไม่ควรรีบซื้อเนื่องจากยังมีรายจ่ายอื่นๆ อีกหลายรายการโดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องเป็นหนี้ระยะยาว 20-30 ปี
 
ที่มา : posttoday.com
( วันที่ 2 ธันวาคม 2558 )