ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
04 ธ.ค.2558

ปลุกผีหมอชิต เสี่ยน้ำลุยคอมเพล็กซ์ดึงเอกชนประมูลมักกะสัน-เจ้าสัวเจริญฮุบศูนย์ประชุมสิริกิติ์ 50 ปี

Line
กรมธนารักษ์ปลุกผีที่ราชพัสดุทั่วประเทศ เข็นที่ดินแปลงใหญ่เข้า PPP Fast Track ดึงเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ คาดปีหน้าเห็นรูปธรรมชัดเจน ลุยเจรจา "บางกอกเทอร์มินอล" ปัดฝุ่นที่ดินหมอชิต 63 ไร่ มูลค่า 1.5 หมื่นล้าน เร่งออกแบบพิมพ์เขียว "มักกะสัน" ปั้นปอดแห่งใหม่สนองนโยบาย คสช. ขยายสัมปทานศูนย์ประชุมสิริกิติ์เป็น 50 ปี เปิดทาง "เจ้าสัวเจริญ" ขึ้นโปรเจ็กต์เฟส 2 รับสวนเบญจกิติสร้างเพิ่ม 310 ไร่ เตรียมเปิดหน้าท่าพัฒนาท่าเรือสงขลาและภูเก็ตฮับมารีน่าอาเซียน

นายเอกวัต มานะแก้ว รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในปีหน้าจะเห็นความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ของกรมธนารักษ์ที่เตรียมจะเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการตามมาตรการPPP Fast Track ภายใต้การดำเนินการงานตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนฯในกิจการของรัฐปี 2556 จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน 

เดินหน้ามักกะสัน 497 ไร่ 

ประกอบด้วย "ที่ดินมักกะสัน" พื้นที่ 497 ไร่ ความคืบหน้าล่าสุดได้ประเมินมูลค่าที่ดินเสร็จแล้ว โดยกรมธนารักษ์จะเช่าระยะ 99 ปี พร้อมจ่ายค่าเช่าวงเงินกว่า 60,000 ล้านบาทเพื่อเป็นการแลกหนี้กับรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จากเดิมที่ ร.ฟ.ท.ประเมินมาอยู่ที่กว่า 80,000 ล้านบาท ในปีหน้าจะเริ่มออกแบบแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่โครงการใหม่ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จะมี 3 องค์ประกอบ 1.พิพิธภัณฑ์รถไฟ พื้นที่ 30 ไร่ 2.พื้นที่สวน ประกอบด้วยบึงมักกะสัน เลนจักรยาน และพื้นที่สีเขียว พื้นที่ 150 ไร่ และ 3.พื้นที่เชิงพาณิชย์เฟสแรก 140 ไร่ รวมกับลานจอดรถ และถนนเข้าออก ส่วนอีก 177 ไร่จะพัฒนาในเฟส 2 ระยะเวลาถัดไป แต่จะพยายามเร่งรัดให้ ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่เฟสที่ 2 ให้โดยเร็ว เพื่อจะได้เปิดประมูลพัฒนาโครงการต่อไป 

"ที่ดินมักกะสันเนื่องจากเป็นที่แปลงใหญ่ ปีหน้าจะเร่งออกแบบให้เสร็จ จะทำคู่ขนานกับการแก้ไขกฎหมายการเช่าจากเดิม 50 ปีเป็น 99 ปี จากนั้นถึงจะร่างข้อกำหนดทีโออาร์ คาดว่าปลายปีจะประกาศเชิญชวนเอกชนมาพัฒนาโครงการได้ ซึ่งพื้นที่จัดหาประโยชน์มีแค่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด"

เร่งฟื้นโปรเจ็กต์ที่ดินหมอชิต

นายเอกวัตกล่าวอีกว่า นอกจากนี้มีที่ราชพัสดุบริเวณ "สถานีหมอชิตเก่า" พื้นที่ 63 ไร่ จะเห็นภาพชัดเจน ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างเจรจากับคู่สัญญาเดิม คือ บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) หลังจากกรมได้จ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์โครงการใหม่ให้สอดคล้องกับผังเมืองรวมกรุงเทพฯที่กำหนดให้พื้นที่มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน(FAR)อยู่ที่ 8:1 ลดลงจากเดิมทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเหลืออยู่ที่ 711,412 ตารางเมตร รูปแบบโครงการที่เหมาะสมประกอบด้วย อาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (ค้าปลีก โรงภาพยนตร์ โรงละคร ศูนย์ประชุม) ที่จอดรถ สถานีขนส่งและอาคารชดเชย ราคาค่าก่อสร้าง15,736 ล้านบาท 

อีกแปลงที่คาดว่าในปีหน้าจะเริ่มดำเนินการได้เช่นกัน คือ โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ส่วนต่อขยายจากโครงการเดิม โดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์จำกัด ผู้รับสัมปทานรายเดิมเป็นผู้บริหารโครงการต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแบบรายละเอียดให้เป็นไปตามสัญญาและข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่คุมความสูงไม่ให้เกิน 23 เมตร (8 ชั้น) 

"ปีหน้าที่ดินแปลงนี้จะเห็นความคืบหน้า เพราะจะดำเนินการพร้อมกับการก่อสร้างสวนเบญจกิติที่จะสร้างเพิ่มอีก 310 ไร่ บนที่ดินของโรงงานยาสูบ"

ขยายสัมปทานศูนย์สิริกิติ์ 50 ปี 

แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแผนพัฒนาโครงการศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ระยะที่ 2 ทางบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯธุรกิจในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ลงนามในสัญญาบริหารโครงการเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2539 มีเงื่อนไขบริษัทจะก่อสร้างอาคารโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ไม่ต่ำกว่า 400 ห้อง พร้อมที่จอดรถไม่ต่ำกว่า 3,000 คัน และพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ไม่ต่ำกว่า 28,000 ตารางเมตร รวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 2,732 ล้านบาท เสนอผลตอบแทนให้รัฐประมาณ 3,000 ล้านบาท

แต่ติดเรื่องความสูงทำให้บริษัทต้องปรับแบบก่อสร้างใหม่ สำหรับรูปแบบใหม่บริษัทเสนอจะพัฒนาพื้นที่พาณิชย์มากขึ้นหรือไม่น้อยกว่า 1 แสนตารางเมตร เช่น พื้นที่แสดงสินค้าและจัดนิทรรศการ เพื่อให้รองรับการจัดงานใหญ่ ๆ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนมากขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ขอให้ กทม.ยกเลิกข้อบัญญัติดังกล่าว จนถึงปัจจุบัน กทม.ยังไม่ได้ยกเลิกแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ ทางบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯยังขอแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมใหม่ จากสัญญาเช่าเดิมมีกำหนดเวลา 25 ปี เป็น 50 ปี และเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐไม่น้อยกว่าสัญญาเช่าเดิม โดยปัจจุบันสัญญาดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556 

"บริษัทขอขยายเวลาเพิ่ม เนื่องจากต้องลงทุนก่อสร้างเพิ่ม พร้อมกับให้ผลตอบแทนกรมเพิ่มเช่นกัน โดยตลอดสัญญา 50 ปีกรมคาดว่าจะมีรายได้ 5,100 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) เงื่อนไขจะได้รับค่าธรรมเนียมจัดหาประโยชน์ที่ดินก้อนแรก 500 ล้านบาท แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดละ 250 ล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว 

เปิดทางเอกชนลงทุนที่ดินท่าเรือ 

นอกจากนี้นายเอกวัตยังกล่าวถึงที่ราชพัสดุแปลงอื่น ๆ ที่มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ PPP Fast Track อาทิ ที่ดินบริเวณท่าเรือสงขลา ท่าเรือภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาอยู่แล้ว แต่จะดำเนินการให้สมประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าที่ดินบริเวณท่าเรือภูเก็ตจะให้มีการพัฒนาเพื่อให้รองรับเรือขนาดใหญ่ให้สามารถจอดได้เช่น เรือครุยส์ และอาจจะเสนอเป็นโครงการนำร่อง ร่วมกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางฮับมารีน่า โดยเตรียมจะจัดงานแสดงเรือยอตช์ในต้นปีหน้า เพื่อเป็นการดึงดูดคนมาเที่ยวประเทศไทยและให้เกิดการลงทุนสร้างท่าเรือใหม่เพิ่มขึ้น

 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
( วันที่ 3 ธันวาคม 2558 )