ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
11 ก.พ.2559

วสท.เต้นทำมาตรฐานอัคคีภัย อาคาร9ประเภท-จี้รัฐคุมตึกเก่า

Line
กรณีศึกษาเพลิงไหม้ตึก ซ.นราธิวาส 18 "วสท." เตรียมทำมาตรฐานป้องกันอัคคีภัยในอาคาร 9 ประเภท ด้านสมาคมคอนโดฯ-อสังหาริมทรัพย์ไทยออกโรงให้ความมั่นใจผู้บริโภค ชี้ผู้ประกอบการยุคใหม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารทุกอย่าง พร้อมแนะรัฐควรดูแลอาคารเก่าอายุ 20-30 ปีอย่างเข้มข้น ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยในอนาคต

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า กรณีตึกที่เกิดเพลิงไหม้ เลขที่ 2204/5 ซ.นราธิวาส 18 ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ เขตยานนาวา กทม. เมื่อ 5 ก.พ. 2559 จากการตรวจสอบโครงสร้างอาคารหลังเกิดเหตุแล้ว ถือว่ายังมีความแข็งแรง ไม่เสี่ยงเป็นตึกถล่ม

หลังจากนี้ วสท.เตรียมจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัยสำหรับอาคาร 9 ประเภท ในประเทศไทยตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ 1.โรงแรม 2.โรงพยาบาล 3.ห้างสรรพสินค้า 4.โรงงาน 5.สำนักงาน 6.ที่พักอาศัย 7.ตลาดหรือชุมชนเก่า-อนุรักษ์ 8.โรงเรียน สถานศึกษา 9.สถานบริการ

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. กล่าวว่า ตึกที่เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าวเป็นอาคารเก่าสร้างเสร็จปี 2535 ขณะนั้นกฎหมายควบคุมอาคารยังไม่บังคับเรื่องการติดตั้งระบบป้องกันไฟ อาคารนี้จึงไม่พบระบบดับเพลิง สปริงเกลอร์ บันไดหนีไฟ และถังดับเพลิง อย่างไรก็ตาม ฝากถึงเจ้าของอาคารสูงที่มีการก่อสร้างนานแล้ว และไม่มีการติดตั้งระบบควบคุมเพลิงไหม้ ควรให้ความสำคัญเพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

โดยระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารทั่วไป มี 1.ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ 2.ถังดับเพลิงแบบมือถือ 3.ป้ายบอกชั้นและบอกทางหนีไฟ 4.ระบบจ่ายไฟฟ้าสำรองสำหรับป้ายบอกทางหนีไฟ 5.บันไดหนีไฟที่ปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟ

ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า กรณีนี้จะกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในการพักอาศัยบนตึกสูงหรือไม่นั้น มองว่าผู้บริโภคเข้าใจอยู่แล้วว่าตึกที่เกิดเหตุเป็นอาคารเก่า สร้างมานาน ส่วนอาคารใหม่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม กม.ควบคุมอาคารอยู่แล้ว ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยเรื่องข้อบังคับของคอนโดมิเนียมสมัยใหม่ มีกฎหมายควบคุมเข้มงวด และมีการตรวจอาคารทุก 1 ปี ข้อเสนอแนะคือส่วนราชการอาจต้องเน้นดูแลตรวจสอบอาคารเก่า เพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกัน

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า กรณีศึกษาครั้งนี้ เกิดกับอาคารเก่าอายุกว่า 30 ปี ทำให้ไม่มีกฎหมายกำหนดระยะร่น รถดับเพลิงจึงไม่สามารถเข้าถึงตัวอาคารได้ และเป็นอาคารส่วนบุคคล การจัดระบบดูแลเรื่องอัคคีภัยต่าง ๆ จึงน่าจะหละหลวม

"สิ่งที่น่ากังวลมีเฉพาะอาคารเก่าอายุเกิน 20 ปี ซึ่งสายไฟและอุปกรณ์น่าจะเริ่มเสื่อมสภาพและไม่มีกฎหมายควบคุมตรวจสอบ หลังจากก่อสร้างอาคารแล้ว นิติบุคคลและผู้อยู่อาศัยควรดูแลรักษาระบบควบคุมอัคคีภัยด้วย เช่น การปิดประตูบันไดหนีไฟทุกครั้ง ตรวจสอบถังดับเพลิงทุก 1-2 ปี เพื่อให้ระบบใช้งานได้เสมอ"
 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
( วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 )