ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
18 ก.พ.2559

สภาวิศวกรจี้รื้อกฎตรวจอาคาร คุมบ้านพักอาศัย-สถานศึกษา

Line
นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ ประธานคณะทำงานประสานงานภัยพิบัติด้านอัคคีภัย สภาวิศวกร เปิดเผยว่า กรณีเพลิงไหม้อาคาร 9 ชั้น ถ.นราธิวาส 18 จากการเข้าตรวจสอบพบว่าเป็นอาคารสูงขออนุญาตก่อสร้างก่อนกฎกระทรวงปี 2535 จึงขาดมาตรการป้องกันอัคคีภัยที่สำคัญ อาทิ ไม่มีระบบสปริงเกลอร์หรือระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ท่อยืนระบบส่งน้ำดับเพลิง บันไดปิดล้อมทนไฟอย่างน้อย 2 บันได ระบบโคมไฟส่องสว่างฉุกเฉินและป้ายทางหนีไฟ ลิฟต์พนักงานดับเพลิง 

ทั้งนี้สภาวิศวกรมีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นการป้องกัน ได้แก่ 1.อาคารสูงเกิน 4 ชั้น ต้องมีบันไดปิดล้อมอย่างน้อย 2 บันได 2.ในกฎหมายควบคุมอาคาร ต้องกำหนดมาตรฐานการควบคุมและจำกัดชนิดวัสดุที่ลุกลามรุนแรง เช่น โฟม พลาสติก ยาง และไม้ให้ใช้กับอาคารทั่วไป จากเดิมใช้บังคับกับอาคารบางประเภท เช่น โรงมหรสพ และ 3.อาคารสูงหรืออาคารพักอาศัยรวม ต้องมีผู้ตรวจสอบอาคาร

นายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัย กล่าวว่า หากมีผู้ตรวจสอบเข้ามาตรวจสอบอาคาร จะทำให้ผู้ใช้อาคารทราบถึงแนวทางการป้องกันการเกิดอุบัติภัย ซึ่งผู้ตรวจสอบอาคารจะให้ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงอาคารเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ หากเกิดความรุนแรงอาจจะจำกัดความเสียหายหรือไม่รุนแรง และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดการเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น ฝึกซ้อมการหนีไฟไหม้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีอาคาร 9 ประเภทที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีการตรวจสอบอาคารเป็นประจำ โดยตรวจสอบภายใน 1 ปีหลังจากอาคารมีการเปิดใช้งาน หากไม่มาแจ้งตามกำหนดไว้จะปรับครั้งแรก 60,000 บาท จากนั้นจะปรับวันละ 10,000 บาท 

นอกจากนี้มีอาคารไม่ได้บังคับให้มีการตรวจสอบ แต่เจ้าของต้องระมัดระวังเรื่องอัคคีภัยด้วยตนเอง คือ 1.บ้านพักอาศัย 2.สำนักงาน 3.สถานศึกษา โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา 4.สถานพยาบาล 5.โรงแรม น้อยกว่า 80 ห้อง 6.โรงงาน ขนาดต่ำกว่า 5,000 ตร.ม. 7.ร้านอาหาร ภัตตาคาร และ 8.ตลาด ควรแก้กฎหมายให้มีการตรวจสอบในอาคารด้วย เพราะมองว่ามีความเสี่ยง
 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
( วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 )