ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
25 เม.ย.2559

บ้านหลังแรก 50 ล.ไม่เสียภาษีคลังชงพ.ร.บ.ที่ดิน 26 เม.ย.

Line
 






 
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
"สมคิด" ไฟเขียวคลังเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าครม.วันอังคารที่ 26 เม.ย.นี้  ชี้คนมีบ้านหลังแรกไม่เกิน 50 ล้านโล่ง! ยันอัตราปรับปรุงภาษีเปิดช่องไม่ต้องจัดเก็บ โครงสร้างใหม่สร้างความเป็นธรรมหนุนท้องถิ่นภาครัฐ ชดเชยจัดเก็บรายได้  มั่นใจดัดหลังนักค้ากำไรที่ดินถูกรีดภาษีอ่วม
 
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ ในวันที่ 26 เมษายนนี้ โดยยืนยันว่าร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวที่ออกมานั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการดูแลผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว

สอดคล้องกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า (26 เม.ย. 59) กระทรวงการคลังน่าจะเสนอ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ ครม.พิจารณาได้ทัน เนื่องจากที่ผ่านมาตนได้เซ็นรับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับหลักการ คือบุคคลใดก็ตามที่มีบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี โดยจะเน้นการจัดเก็บภาษีบ้านหลังที่ 2 และที่ดินว่างเปล่าเป็นหลัก ซึ่งเดิมกระทรวงการคลังตั้งใจที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาพร้อมกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เนื่องด้วยวาระการพิจารณาที่มาทำให้ไม่สามารถบรรจุได้ทัน ทั้งนี้ ภาษีใหม่ครั้งนี้คนที่จะกระทบน่าจะเป็นคนที่มีรายได้สูง รวมถึงคนที่มีที่ดินอยู่ในมือแต่อยากจะเก็งกำไรหรือหาประโยชน์

แหล่งข่าวระบุว่าภาษีที่ดินในมุมของรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งจะกระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ซึ่งจะไม่จัดเก็บภาษีกับบ้านหลังแรกแม้ราคาจะสูงเกิน 10 ล้านบาท แต่คนที่ซื้อที่ดิน เพื่อเก็งกำไรทั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการรถไฟฟ้า และรถไฟเส้นทางในต่างจังหวัดรวมถึงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือเครือข่ายที่ถือที่ดินเปล่า ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีที่ดินที่ถูกซื้อเพื่อหวังเก็งกำไรไม่ต่ำกว่า 20-30% จากปริมาณที่ดินที่คงเหลือในปัจจุบันและส่วนใหญ่กระจุกตัวตามภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเป็นหลัก
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
( 25 เมษายน 2559 )