ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
14 พ.ค.2559

แบงก์เซ็งสินเชื่อบ้านเริ่มอืด คนชะลอซื้อหลังหมดมาตรการลดค่าโอนธนาคารเลิกแข่งหั่นดอกเบี้ย

Line
แบงก์คาดสินเชื่อบ้าน พ.ค.มิ.ย. อาจหดตัว หลังผู้ซื้อเร่งโอนเพื่อ ให้ทันมาตรการอสังหาฯ ครึ่งปีหลังตลาดทรงตัว

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังติดตามการปล่อยสินเชื่อบ้านหลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าจดจำนองและค่าโอน ซึ่งเป็นไปได้ว่า สินเชื่อบ้านเดือน พ.ค. และ มิ.ย. อาจจะหดตัว เนื่องจากมาตรการรัฐทำให้ผู้ซื้อบ้านเร่งโอน เป็นการดึงดีมานด์สินเชื่อบ้าน ของอนาคตไปใช้ แต่หากช่วง 2 เดือน ดังกล่าวลดลงไม่มากก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สินเชื่อบ้านทั้งปีจะเติบโตได้ตามเป้า

ทั้งนี้ ธนาคารปล่อยสินเชื่อบ้าน เฉลี่ยเดือนละ 1,600-1,700 ล้านบาท และกระโดดเป็น 2,000 ล้านบาท ใน เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยอดคงค้างรวมอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้ยังคงตั้งเป้าสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นไปได้ หลังจากภาพรวมกำลังซื้อของผู้กู้ดีขึ้น ยอดอนุมัติสินเชื่อบ้านเฉลี่ย 50-60% ส่วนลูกค้าเก่ามีคุณภาพมากขึ้น ตัวเลขผิดนัดชาระหนี้ลดลง มั่นใจว่าจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อบ้านอยู่ระดับ ต่ำกว่า 1%

ทางด้านการแข่งขันสินเชื่อบ้าน ดอกเบี้ย 0% นั้น มองว่าต้องระมัดระวังการทำตลาดด้วยแคมเปญนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าจากยอดผ่อนชาระที่ถีบขึ้นแรงหลังสิ้นสุดช่วงดอกเบี้ย 0% แล้วผ่อนไม่ไหว เพราะค่าผ่อนบ้านคิดเป็น 50% ของรายได้ ฉะนั้นการปล่อยสินเชื่อต้องดูความสามารถชาระหนี้ลูกค้า โดยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เลือกทำแคมเปญเสนอดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 4.15% พร้อมคำนวณยอดผ่อนต่อเดือนคงที่ตลอด อายุสัญญา ให้ลูกค้าคำนวณความสามารถผ่อนชาระได้เอง

น.ส.พรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้การแข่งขัน สินเชื่อบ้านในตลาดจะดุเดือดจนส่วนต่างดอกเบี้ยบางมาก ธนาคารจึงไม่เลือกที่จะแข่งลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีก แต่จะเน้นแข่งขันเลือกลูกหนี้ที่มีคุณภาพมากกว่า ยิ่งภาวะเศรษฐกิจไม่ดียิ่งต้องคัดกรองลูกค้าที่ดีในระดับหนึ่ง ส่วนโครงการบ้านประชารัฐที่ออกมานั้นเป็นคนละตลาด ไม่ได้สนับสนุนให้สินเชื่อบ้านให้ธนาคารพาณิชย์ แต่จะไปเติบโตที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมากกว่า

สำหรับเดือน เม.ย. ที่มียอดปล่อย สินเชื่อบ้านสูงขึ้นจากการที่ผู้ซื้อบ้านเร่งโอนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ของมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล แต่ในภาพรวมสินเชื่อบ้านตั้งแต่ต้นปียังทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อตกต่ำ ไม่เอื้อให้มีการซื้อขายบ้านมากนัก สังเกตได้จากสต๊อกบ้านคงค้างในตลาดยังมีมาก ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการใหม่ เน้นระบายของเก่าแทน

"ที่ผ่านมาโครงการระบายสต๊อกได้ไม่มากนัก เพราะมีดีมานด์เทียมที่เกิดจากนักลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์เก็งกำไรจำนวนมากก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเห็นได้จากในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ขายไปแล้วมีการนำออกมาปัดฝุ่นขายใหม่ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ระบายสต๊อก สำหรับสินเชื่อบ้านธนาคารไทยพาณิชย์ในไตรมาสแรกเติบโต 7.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เติบโต 1.1% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยยอดคงค้างสินเชื่อบ้านสิ้นเดือน มี.ค. 2559 อยู่ที่ 5.82 แสนล้านบาท"

นายวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลยุทธ์งานขายเครือข่ายลูกค้ารายย่อยฯ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า สินเชื่อบ้านยังเป็นสินเชื่อที่เติบโตได้ดี โดยสิ้นไตรมาสแรกยอดคงค้างสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 9.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 9.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาก็มีการเร่งโอนมากจากมาตรการของรัฐ ซึ่งต้องติดตามว่าการเร่งโอนดังกล่าวจะกระทบกับยอดปล่อย สินเชื่อในเดือนถัดไปลดลงหรือไม่

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแนวโน้มความต้องการสินเชื่อบ้านยังมีอยู่ โดยเฉพาะทำเลแนวโครงการรถไฟฟ้าที่กลับมาคึกคักอีกครั้งในเส้นทางที่ใกล้จะก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งคอนโดหรูทำเลใจกลางเมืองก็ยังมีความต้องการอยู่ ทำให้การแข่งขันสินเชื่อบ้านค่อนข้างดุเดือด ในการนำเสนอโปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษ ขณะเดียวกันก็ยังปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ซึ่งอัตราอนุมัติสินเชื่อบ้านใกล้เคียงกับตลาด โดยรายได้ 5 หมื่นบาทขึ้นไปมีโอกาสได้รับการอนุมัติสูง
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
( วันที่ 13 พฤษภาคม 2559 )