ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
27 มิ.ย.2559

บังคับคดีรับมือภาษีที่ดินใหม่

Line
กรมบังคับคดี เร่งหารือกรมสรรพากร ขอความชัดเจนภาษีที่ดินฉบับใหม่ หวั่นฉุดยอดขายทอดตลาด ถ้ามีภาษีค้างจ่ายอยู่


น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า กรมบังคับคดีเตรียมหารือกรมสรรพากร เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณปี 2560 ว่า จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่จะมาประมูลซื้อสินทรัพย์จากกรมบังคับคดีหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมบังคับคดีมีสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการประมูลขายทอดตลาดประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งที่ดินว่างเปล่า อาคารชุด บ้าน ซึ่งในส่วนของอาคารชุดและบ้านที่อยู่อาศัย โดยจะหารือความชัดเจนกับกรมสรรพากรที่หากกรณีที่เป็นที่ดินว่างเปล่าและมีภาษีที่ดินค้างจ่าย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ระหว่างลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดี หรือผู้ประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดได้

อย่างไรก็ตาม หากจะให้ผู้มาประมูลซื้อสินทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายภาษีค้างจ่าย ก็คงไม่เป็นธรรม และจะกลายเป็นการผลักภาระให้ผู้ซื้อ รวมทั้งอาจจะทำให้เกิดปัญหาการขายสินทรัพย์ไม่ออก เหมือนกับกรณีการขายทอดตลาดคอนโดมิเนียม อาคารชุด ที่เคยมีปัญหาการค้างชาระค่าส่วนกลาง แต่ปัจจุบันกรมบังคับคดีได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อยกเว้นการเก็บค่าส่วนกลางค้างชาระเฉพาะทรัพย์ที่ขายทอดตลาด เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้ที่มาประมูลซื้อรายใหม่

"สินทรัพย์ที่อยู่กับกรมบังคับคดี คือสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างรอการขายทอดตลาด ถือว่าเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเรียกว่าเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่สินทรัพย์ของกรมบังคับคดี ซึ่งกรมบังคับคดีทำหน้าที่เป็นเพียงหน่วยงานกลางที่จะดำเนินการยึดอายัด และนำสินทรัพย์มาขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชาระหนี้คืนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาล แตกต่างจากสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ของธนาคารพาณิชย์" น.ส.รื่นวดี กล่าว

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่ง ปลูกสร้าง โดยในส่วนที่ดินว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ กำหนดให้เก็บอัตราภาษีสูงสุดไม่เกิน 5% ของฐานภาษี นอกจากนี้ยังมีการจัดเก็บภาษีที่ดินแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กรณีใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม เก็บภาษีอัตราไม่เกิน 0.2% 2.กรณีใช้เพื่อเป็นที่พักอาศัย ไม่เกิน 0.5% และ 3.กรณีใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ (เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น) เก็บภาษีได้ไม่เกิน 2%
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
( วันที่ 27 มิถุนายน 2559 )