ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
30 มิ.ย.2559

แรงงาน ปัญหาใหญ่ธุรกิจอสังหาฯ

Line
         "แรงงาน" ปัญหาใหญ่อุตสาหกรรมก่อสร้าง "อองซาน ซูจี" ยื่น 5 ข้อเรียกร้องคุ้มครองแรงงานพม่า ด้านเอกชนเห็นพ้องด้วย แต่ต้องยึดหลักมนุษยธรรม

          ปัญหา "แรงงาน" นับเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลน แรงงาน ทั้งแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานฝีมือ ที่ผ่านมาไทยได้นำเข้าแรงงานหรือแรงงานต่างด้าว ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา กัมพูชา และลาว เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทยเป็นจำนวนมาก และถือว่าเป็นกำลังสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย

          เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ ต่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี พร้อมด้วยคณะ เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23-25 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมได้ยื่น 5 ข้อเสนอเกี่ยวกับแรงงานพม่าต่อรัฐบาลไทย

          ซึ่งได้แก่ 1. ขอให้เปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามรอบใหม่ เนื่องจากยังมีแรงงานต่างด้าว ที่ผิดกฎหมายและลักลอบทำงานในไทย ประมาณ 1-2 ล้านคน โดยรัฐบาลเมียนมาจะจัดส่งทีมเจ้าหน้าที่และจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า ร่วมกับทางการไทย เพื่อให้สามารถออกเอกสารรับรองสถานะและสัญชาติเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยออกเป็นหนังสือแสดงตัวบุคคล ซึ่งไม่ใช่หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ก่อน และออกเป็นพาสปอร์ตภายหลัง ทั้งกลุ่มแรงงานเมียนมา ที่จดทะเบียนใหม่ และกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ

          2. ขอให้ไทยบังคับใช้กฎหมาย ให้นายจ้างไทยจ่ายค่าจ้าง ตามข้อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เนื่องจากขณะนี้นายจ้างบางส่วน ทั้งในกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และจังหวัดต่างๆ ยังจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 300 บาท 3. ขอสิทธิแรงงานเมียนมา ที่มีบัตรสีชมพู สามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ โดยไม่ถูกจำกัดการเดินทาง อยู่ในจังหวัดที่ทำงานเท่านั้น

          4. ขอให้ลงนาม MOU ระหว่างทางการไทยกับเมียนมา ในการนำเข้าแรงงาน มาทำงานในไทย โดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีกระบวนการนายหน้า เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดการแสวงหา ผลประโยชน์ และ 5. ขอให้ทางการไทยดูแล บุตรหลานแรงงานเมียนมาให้ได้รับการศึกษาและสาธารณสุข รวมทั้งสามารถเทียบโอน วุฒิการศึกษาระหว่างไทยกับเมียนมาได้

          สำหรับข้อเรียกร้องดังกล่าว นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยใช้แรงงานเมียนมามากเป็นอันดับ 1 มากกว่า กัมพูชาและลาว ซึ่งข้อเรียกร้องของ นาง อองซาน ซูจีนั้นถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลเมียนมาต้องคุ้มครองประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งเห็นด้วยในข้อ 1-4 ที่ควรดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยจะต้องพิจารณาถึงภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และความเหมาะสมประกอบ ส่วนข้อ 5 นั้นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยคำนึงหลักมนุษยธรรม ความเหมาะสม และต้องไม่เป็นภาระของไทยมากจนเกินไป

          สำหรับข้อ 1 กรณีขึ้นทะเบียนแรงงานรอบใหม่ควรให้ดำเนินการต่อ เพื่อให้แรงงานนั้นถูกกฎหมาย และการให้แรงงานสามารถย้ายหรือเดินทางไปทำงานที่อื่นหรือเขตอื่นๆได้ เพราะปัจจุบันมีความเข้มงวดมากเกินไปจำกัดอยู่เพียงเขตหรืออำเภอเดียว ซึ่งเป็นปัญหาหลักของธุรกิจอสังหาฯ และรับเหมาก่อสร้าง ที่ไม่ได้ทำงานอยู่เพียงจุดเดียว ต้องย้ายแรงงานไปตามไซต์ก่อสร้างที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ รวมถึงต่างจังหวัด ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านอื่นตามมา แต่อย่างไรก็ตามการปล่อยแรงงานให้เดินทางอย่างเสรีในไทยอาจส่งผล กระทบต่อความมั่นคงได้ ดังนั้นจะต้องพิจารณาให้รอบครอบ และเหมาะสม เช่นกำหนดเขตเป็นรายจังหวัด หรือขยายเขตให้กว้าง มากขึ้น

          ส่วนการจ่ายค่าแรง 300 บาทนั้นเชื่อว่าในปัจจุบันเกือบทุกบริษัทจ่ายค่าจ้างแรงงานต่างด้าว 300 บาท/วัน อยู่แล้วบางอุตสาหกรรมจ่ายเกิน 300 บาท มีเพียงส่วนน้อยที่จ่ายไม่ถึง 300 บาท แต่ใช้วิธีบวกค่าสวัสดิการอื่นๆ หรือหลับเลี่ยงแบบผิดกฎหมาย ดังนั้นการจ่ายค่าแรง 300 บาทจึงถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นธรรม ส่วนแรงงานไทยนั้นค่าแรงเกิน 300 บาทไปแล้ว

          ประเด็นสำคัญอีกประการคือ การที่นางอองซาน รับปากว่าจะดูแลและคุ้มครองนักธุรกิจและนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและกล้าที่จะเข้าไปลงทุน มากขึ้น เพราะเมียนมาเป็นประเทศที่กำลังขยาย มีโอกาสด้านการลงทุนสูง

          เชื่อแรงงานพม่ายังไม่คิดหนีไทย

          ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การที่เมียนมายื่น 5 ข้อเสนอให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือนั้น เห็นด้วยในข้อที่ 1-4 ส่วนข้อที่ 5 การเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ คงพิจารณาถึงความเหมาะสม เป็นธรรมและโปร่งใส คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และต้องไม่เป็นภาระต่อประเทศไทยจนเกินไป แต่จะให้ทัดเทียมคนไทยทั้งหมดคงไม่ได้เพราะจะต้องใช้งบประมาณในการดูแลสวัสดิการเหล่านั้นและรัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือ มิเช่นนั้นก็เป็นภาระกับเอกชน

          ส่วนกรณีที่กลัวว่าแรงงานเมียนมาร์ จะเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศตนเองจนทำให้ไทยเกิดปัญหาวิกฤตแรงงานนั้น เชื่อว่าจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากแม้ว่าเมียนมาจะมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่มีงานมากพอที่จะรองรับแรงงานจำนวนมากของประเทศตนเอง นอกจากนี้ค่าแรงของเมียนมายังต่ำกว่าของไทยมาก โดยค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 80 บาท/วัน หรือค่าแรงเฉลี่ยประมาณ 120 บาท/วัน

          แนะรัฐหาแหล่งแรงงานทดแทน

          อย่างไรก็ตาม หากในอีก 3 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจเมียนมา เติบโตมากๆ มีงานรองรับก็อาจทำให้แรงงานกลับประเทศได้  ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า และจัดหาแหล่งแรงงานทดแทนเพิ่มเติม เช่น บังกลาเทศ ปากีสถาน และอินโดนีเซีย หากรัฐบาลไทยเตรียมการล่วงหน้าด้วยการติดต่อแรงงานไว้ให้แก่ภาคเอกชน เพื่อไม่ประสบปัญหาเหมือนชาวเมียนมาที่ต้องพิสูจน์สัญชาติต้องเสียเงินและเสียเวลา

          "ในระยะสั้นปัญหาขาดแคลนแรงงานคงยังไม่เกิด แต่ก็ต้องเตรียมแผนไว้รองรับปัญหาในระยะยาว หากไม่แก้ปัญหาก็จะเป็นวงจรอุบาทว์ให้คนบางกลุ่มหากินกับแรงงานต่างด้าวและผู้ประกอบการไทยตลอดไป ซึ่งใครได้ประโยชน์ก็ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง และเพื่อรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบอุตสาหกรรมจากการใช้แรงงานหันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อลดการใช้แรงงานลง" นายอธิป กล่าว

          วอนรัฐบาลกำหนดเขตแรงงานเป็นรายจังหวัด

          ด้านนายอิสระ บุญยัง กรรมการ   ผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า การเรียกร้องให้แรงงานสามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆได้โดยไม่ถูกจำกัดนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำการผ่อนปรน โดยให้แรงงานต่างด้าวสามารถแจ้งสถานที่ทำงานได้ 4 แห่ง ในราคา 100 บาท/ราย ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการอสังหาฯ ถือว่าเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายที่ลดลงกว่าเดิมมาก และสามารถสอดคล้องกับการทำงานจริงในแต่ละประเภท เพราะธุรกิจอสังหาฯ จะมีหลายไซต์งาน ในแต่ละทำเล และหากผ่อนปรนให้ได้อยู่ในเขตจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งจะดีมากยิ่งขึ้น  ส่วนการที่จะให้แรงงานต่างด้าวสามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศไทยนั้น คิดว่ารัฐบาลต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคง

          สำหรับการขอให้ลงนาม MOU นั้นที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ดำเนินการอยู่แล้ว แต่กระบวนการนำเข้าต้องผ่านกระบวนการนายหน้า หากรัฐบาลเมียนมาและกระทรวงแรงงานไทยมีความสามารถในการบริหารจัดการจะเป็นเรื่องดี เพราะในความเป็นจริงต้องใช้เอกสารจำนวนมากและผ่านขั้นตอนหลายอย่าง และนายหน้าควรมีกรอบและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาการนำเข้า MOU ต้องผ่านกระบวนการนายหน้าเท่านั้นซึ่งนายหน้าเหล่านี้อาจจะขึ้นกับกระทรวงแรงงาน ส่วนเรื่องสวัสดิการด้านต่างๆนั้นที่ผ่านมาลูกหลานของแรงงาน จะมีบัตรใช้บริการระบบสาธารณสุขอยู่แล้ว บางรายสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ ส่วนการเทียบวุฒิขึ้นอยู่กับทั้ง 2 รัฐบาลจะตกลงกัน

          แม้ว่าแรงงานชาวเมียนมาจะมีท่าทีว่าจะกลับประเทศ แต่เชื่อว่าภายในระยะเวลา 3-5 ปีนี้ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะเมียนมาอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจเหมือนประเทศไทยในอดีต ซึ่งไม่น่าจะมีการกระจาย งานได้ทั่วประเทศ น่าจะเป็นในรูปแบบการพัฒนาแบบค่อยเป็น ค่อยไป และเชื่อว่าค่าครองชีพของเมียนมาคงไม่ทันกับประเทศไทยอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ทดแทนแรงงาน เช่น การนำระบบโครงสร้างเหล็กและพรีคาสต์มาใช้แทนแรงงานมากขึ้น
 
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
( วันที่ 30 มิถุนายน 2559 )