ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
01 ส.ค.2559

ภาษีที่ดินรัฐบาล คสช. (8) จูงใจบ้านหลังแรกเหมาจ่าย 500-1,000 บาท

Line
        ฝุ่นตลบหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งดีเวลอปเปอร์และแลนด์ลอร์ดพลิกรายละเอียดไล่ศึกษากันทุกเม็ด วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 


        "ประชาชาติธุรกิจ" สอบถาม "รังสรรค์ นันทกาวงศ์" รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) และนายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี วิเคราะห์ว่า เห็นด้วยในหลักการโดยรวมที่ต้องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แทนที่ภาษีโรงเรือนและบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บอยู่ปัจจุบัน

        แต่ในรายละเอียดยังมีข้อกังวลเรื่องโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเริ่มจาก"บ้านหลังแรก"รัฐบาลเริ่มจัดเก็บสำหรับราคาเกินมูลค่า50ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.05-0.5%

        "บ้านที่อยู่อาศัยทำไมถึงเลือกจัดเก็บราคา 50 ล้านบาทขึ้นไป ถ้าเป็นที่ดินกลางกรุงเทพฯ ก็พอเข้าใจได้ว่ามีหลายหลัง แต่ถ้าเป็นปริมณฑลหรือต่างจังหวัด ถามว่าในจังหวัดหนึ่งมีกี่หลังที่ราคาเกิน 50 ล้านบาท เป้าหมายกระจายรายได้ให้ท้องถิ่นจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน"

        ข้อเสนอแนะ คือ โครงสร้างภาษีบ้านหลังแรกควรยกเว้นไม่เกินราคาหลังละ 3-5 ล้านบาท ประเด็นสำคัญอัตราภาษีไม่ต้องสูงมากนัก อาจจะหลังละ 500-1,000 บาท/ปี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นภาระกับเจ้าของบ้าน เพิ่มแรงจูงใจในการเสียภาษี และขยายโอกาสให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้มากกว่าเลือกเก็บเฉพาะบ้านราคาแพง

        แง่คิดที่ฝากไว้ยังรวมถึงโครงสร้างภาษีประเภท"ที่ดินเกษตรกรรม"โดยสะท้อนมุมมองว่าปัจจุบันจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่เกษตรกรในอัตราไร่ละ5บาท ในอนาคตหากจัดเก็บภายใต้โครงสร้างภาษีที่ดินฯ แม้จะได้รับยกเว้นสำหรับมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทแรก แต่หลังจากนั้นจะถูกจัดเก็บในอัตราเพดานที่กำหนดคือ 0.05% หรือไร่ละ 500 บาท ซึ่งเป็นฐานภาษีที่มองว่าแตกต่างกันมากเกินไป

        ดังนั้น ข้อเสนอแนะจึงอยากเห็นรัฐบาลมีการทบทวนโครงสร้างภาษีให้มีความยุติธรรมมากที่สุด
 
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
( วันที่ 1 สิงหาคม 2559 )