ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
13 ก.ย.2559

กทม.เต้นรายได้หลุดเป้า 6 พันล้าน รีดภาษีคอนโดฯ ปล่อยเช่า50เขต

Line

        กทม.หน้ามืดเก็บรายได้หลุดเป้า 6 พันล้าน สั่งเช็กบิลภาษีโรงเรือนฯ คอนโดฯปล่อยเช่า 50 เขต เขตยานนาวารีดนำร่อง ระบุเจ้าของห้องชุด 1,000 รายนิ่งเฉย ขู่งัดบทลงโทษสูงสุด จำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาท ศุภาลัยมั่นใจไม่กระทบลูกค้านักลงทุน

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาวะบูมของตลาดคอนโดมิเนียมโดยมีการชูจุดขายซื้อเพื่อการลงทุนปล่อยเช่าเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าซื้อโครงการ ทำให้ภาครัฐมองเห็นช่องทางจัดเก็บรายได้ภาษีจากการปล่อยเช่า ประกอบกับปีนี้มีแนวโน้มภาครัฐจัดเก็บรายได้ภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย จึงมีนโยบายในการขยายฐานภาษีให้มากขึ้น

        นายกฤษฎา ศิริพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีคำสั่งเร่งรัดให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดเก็บภาษีแต่ละพื้นที่ให้ครอบคลุมมากขึ้น ล่าสุดให้ขยายฐานการเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างไปยังประเภทคอนโดมิเนียมที่ปล่อยให้เช่าหรือไม่ได้ใช้อยู่อาศัยเอง โดยให้ทุกเขตทำการสำรวจผู้ชำระภาษีรายใหม่เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมาอาจเก็บภาษียังไม่ทั่วถึง เมื่อเทียบกับโครงการคอนโดฯที่มีภาวะบูมติดต่อกันหลายปีในช่วงที่ผ่านมา

        ภาษีพลาดเป้า 6 พันล้าน

        ทั้งนี้ กทม.ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ 70,000 ล้านบาท ข้อมูล ณ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา จัดเก็บได้ 63,101 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าอีก 6,898 ล้านบาท ต้องเร่งดำเนินการภายใน 1 เดือนก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2559 จึงมีนโยบายให้แต่ละเขตเข้มงวดเก็บภาษีคอนโดฯปล่อยเช่าให้มากขึ้น

        ในขณะที่เป้าหมายจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตั้งไว้ 13,848 ล้านบาท ผลงานเดือน ต.ค. 2558-ส.ค. 2559 จัดเก็บได้แล้ว 11,300 ล้านบาท เขตที่จัดเก็บได้มากที่สุดคือ ปทุมวัน 1,236 ล้านบาท รองลงมาเขตจตุจักร 779 ล้านบาท และเขตวัฒนา 753 ล้านบาท

        อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประเภทคอนโดมิเนียมให้เช่าค่อนข้างดำเนินการได้ยาก ผู้ให้เช่ารวมถึงนิติบุคคลมีพฤติกรรมบิดเบือนไม่แจ้งข้อเท็จจริงให้เจ้าหน้าที่ทราบ เนื่องจากได้รับค่านายหน้าจากการปล่อยเช่า เจ้าหน้าที่จึงต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องลงไปสำรวจในพื้นที่จริง รวมถึงเขตต้องหาแนวทางเชิงรุกเพื่อจัดเก็บรายได้ให้มากที่สุด

        "สาเหตุที่ กทม.เก็บรายได้ไม่เข้าเป้า เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ผู้เสียภาษีไม่ยอมเสียภาษี อีกส่วนเป็นผลกระทบมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองของรัฐ ทำให้รายได้ที่รัฐอุดหนุนให้ กทม.ลดลง 5,000-6,000 ล้านบาท"

        นายกฤษฎากล่าวว่า ปีงบประมาณ 2560 กทม.ตั้งเป้ารายได้ 76,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา หากรัฐบาลสามารถผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บังคับใช้ได้จริงในต้นปี 2560 คาดว่าจะส่งผลให้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีคอนโดฯให้เช่าได้มากขึ้น เนื่องจากการจัดเก็บคิดตามมูลค่าทรัพย์สิน ถ้าหากนำมาปล่อยเช่าถือเป็นการประกอบพาณิชยกรรม

        เขตยานนาวาบี้ห้องชุด

        นายสุทัศน์ รุจิณรงค์ ผู้อำนวยการเขตสำนักงานเขตยานนาวา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเร่งรัดการจัดเก็บภาษีในช่วงเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ จึงได้ทำแผนงานเชิงรุกโดยประกาศให้โรงเรือนประเภทคอนโดมิเนียมและเจ้าของห้องไม่ได้พักอาศัยเอง แต่มีการปล่อยเช่า ให้มายื่นแบบและชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน อัตราภาษี 12.5% ของค่าเช่า หากไม่ปฏิบัติตามหรือหลีกเลี่ยงมีบทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท

        "เขตยานนาวาตั้งเป้ารายได้ภาษีโรงเรือน 300 กว่าล้านบาท ขณะนี้จัดเก็บแล้ว 86% แม้มีคอนโดฯจำนวนมาก แต่การเก็บภาษีคอนโดฯให้เช่าทำได้ยาก เพราะฝ่ายเจ้าของและนิติบุคคลไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เขตต้องส่งเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินการจัดเก็บทุกวัน ยังเหลือผู้ที่ยังไม่มีมาเสียภาษีอีก 1,000 กว่าราย รวมทั้งต้องเข้มงวดหาผู้เสียภาษีรายใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นฐานในการเก็บภาษีปีต่อไป"นายสุทัศน์กล่าว

        ชี้นักลงทุนไม่สะเทือน

        นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเข้มงวดเก็บภาษีโรงเรือนฯในกลุ่มคอนโดฯปล่อยเช่าของ กทม. คาดว่าทำให้ผลตอบแทนรายได้ของนักลงทุนปล่อยเช่าลดลง 0.5-1% จากเดิมมีผลตอบแทนปีละ 5-6% ของราคาห้องชุด

        "อาจกระทบนักลงทุนซื้อปล่อยเช่าบางส่วน แต่โดยรวมรายได้ค่าเช่ายังมากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้จูงใจนักลงทุนอยู่ดี จึงไม่น่ากระทบยอดขายห้องชุดมากนัก รวมทั้งนักลงทุนทราบดีว่ารัฐบาลกำลังผลักดันภาษีที่ดินฯที่มีอัตราภาษีสูงกว่าภาษีโรงเรือนฯ เชื่อว่านักลงทุนได้เตรียมตัวชำระภาษีจากการปล่อยเช่าห้องชุดอยู่แล้ว และถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง"

        นายไตรเตชะกล่าวว่า จำนวนห้องชุดในเขต กทม.มีประมาณแสนยูนิต ภาพรวมคาดว่ามีการปล่อยเช่า 5-10% ทำเลกระจุกตัวในแนวรถไฟฟ้าและทำเลศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) ส่วนทำเลนอกเขตรถไฟฟ้าหรือชานเมืองมีการปล่อยเช่าน้อยมาก ส่วนใหญ่อยู่อาศัยเอง

        ค่าเช่า 500-900 บาท/ตร.ม.

        ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กรณีภาครัฐขยายฐานภาษีโรงเรือนฯจากการนำห้องชุดปล่อยเช่าว่า มีผลกระทบต่อตลาดคอนโดฯหรือไม่ ทางนายประเสริฐขอไม่แสดงความคิดเห็น เนื่องจากมองว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว

        อนึ่ง ข้อมูลของบริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้มาร์เก็ตติ้ง จำกัด สำรวจ ณ เดือน ส.ค. 58ระบุตัวอย่างทำเลนำห้องชุดปล่อยเช่าที่ได้รับค่าเช่าเฉลี่ยต่อเดือนค่อนข้างสูงใน กทม. เช่น ทำเลเพลินจิต-ทองหล่อ ค่าเช่า 889 บาท/ตร.ม., สาทร-หลังสวน 761 บาท/ตร.ม., เอกมัย-อ่อนนุช 706 บาท/ตร.ม., พญาไท-พหลโยธิน 620 บาท/ตร.ม., ทำเลรัชดาฯ-ลาดพร้าว ค่าเช่า 496 บาท/ตร.ม. เป็นต้น

 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
( วันที่ 13 กันยายน 2559 )