ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
นิตยสารบ้านสุขใจ
Line
01 ต.ค.2549

ตุลาคม 2549 ครั้งที่ 2

Line

เดือนตุลาคม 2549(ครั้งที่ 2)

     สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสพบกับเจ้าของบ้านท่านหนึ่ง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนและมาขอคำปรึกษา โดยเล่าให้กระผมฟังว่าได้เซ็นสัญญาว่าจ้างผู้ประกอบการรายหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นบริษัทรับสร้างบ้านให้เป็นผู้ก่อสร้างบ้านของตัวเอง ปัจจุบันงานก่อสร้างดำเนินการถึงขั้นตอนเตรียมเทคานชั้นล่าง

       สาเหตุที่มาขอคำปรึกษาก็เพราะว่าเริ่มไม่มั่นใจว่าผู้ประกอบการรายนี้ จะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จจริง เนื่องเพราะว่า

  1. เจ้าของบ้านท่านนี้จ่ายเงินค่าก่อสร้างไปแล้วรวม 4 แสนบาทเศษหรือประมาณ 60 % ทั้งๆที่งานคืบหน้าไปแค่ประมาณ  10 % เท่านั้น
  2. เหตุบังเอิญว่าไปพบผู้ประกบการรายนี้ อยู่ระหว่างถูกเจ้าของบ้านจำนวนหลายราย รวมตัวกันฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่ที่ศาลอาญา และมีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของบ้านเหล่านั้นถึงสาเหตุการฟ้องร้อง

     เมื่อได้รับฟังปัญหาและความขัดแย้งจากเจ้าของบ้านที่รวมตัวกันฟ้องร้องผู้ประกอบการรายนี้แล้ว จึงได้กลับมาเปิดสัญญาว่าจ้างอ่านโดยละเอียดอีกครั้ง และเริ่มเห็นแววว่าตัวเองก็จะโดนเหมือนกับเจ้าของบ้านรายที่กำลังฟ้องกับผู้ประกอบการอยู่เหมือนกัน ดังนั้นจึงพยายามจะแก้ไขสัญญาและหาทางต่อรองเงื่อนไขให้รัดกุมยิ่งขึ้น

     แต่จากการที่กระผมได้อ่านและศึกษาข้อความตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้านฉบับดังกล่าวแล้ว ยอมรับว่าเป็นสัญญาว่าจ้างก่อสร้างที่เจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างท่านใด อ่านแล้วก็คงไม่กล้าเซ็นสัญญาด้วยแน่ๆ เพราะมันเป็นสัญญาที่เอาเปรียบมากๆ(โคตรๆ) และผู้ว่าจ้างมีโอกาสผิดสัญญาหรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาที่ระบุไว้   ซึ่งเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นแน่นอนว่าผู้ว่าจ้างจะกลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อนทันที และเมื่ออ่านข้อความในสัญญาแล้วก็รู้ว่าไม่ได้มีอาชีพหรือวิชาชีพก่อสร้าง เนื่องเพราะคำศัพท์หรือคำเฉพาะของงานก่อสร้างหลายๆคำสะกดผิด เช่น เสาตอม่อ เขียนเป็น เสาตอหม้อ ฯลฯ เป็นต้น           

          แต่...เหตุไฉนจึงมีผู้ว่าจ้างยอมเซ็นสัญญา และตกเป็นเหยื่อผู้ประกอบการรายนี้มีจำนวนนับร้อยราย(เจ้าของบ้านรายนี้รวบรวมหลักฐานมาให้ครับ) ทำให้กระผมต้องทบทวนอ่านสัญญาอยู่ 2 – 3 รอบ กระทั่งมาถึงบางอ้อ..ก็ตรงราคาค่าก่อสร้างบ้านที่ตกลงว่าจ้างกันและระบุไว้ในสัญญาเป็นบ้าน 2 ชั้นครึ่ง พื้นที่ใช้สอยประมาณ 132 ตารางเมตร ราคา 6 แสนบาทเศษ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูจากแบบบ้าน ขนาดและพื้นที่ใช้สอยของบ้านแล้ว ฟันธงได้เลยว่า...ราคาค่าก่อสร้างที่ตกลงกันมันเป็นกลลวง

     ดังนั้นจึงต้องใช้สัญญาเป็นเครื่องมือบังคับให้ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าก่อสร้างมากเกินจริง(ตามข้อที่ 1) โดยสรุปก็คือ ผู้ประกอบการรายนี้รับจ้างก่อสร้างบ้านในราคาไม่ถึง 50 % ของราคาค่าก่อสร้างจริง เมื่อเจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างเห็นราคาที่เสนอมา ก็ย่อมเกิดความโลภและอยากให้เป็นผู้รับจ้างสร้างบ้านของตัวเอง เพราะค่าก่อสร้างราคาถูกๆแบบนี้หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว (เชื่อว่า..คงให้ผู้รับจ้างรายอื่นๆเสนอราคามาเปรียบเทียบมาก่อนตัดสินใจเลือกรายนี้แล้ว) ดังนั้นจึงรีบร้อนเซ็นสัญญาด้วยทันทีแม้ว่าสัญญาจะเอารัดเอาเปรียบยังไงก็ไม่กลัว  เพราะตัวเองมั่นใจว่าไม่คิดผิดสัญญาผู้รับจ้างแน่นอน...หากว่าการก่อสร้างคืบหน้าไปตามปกติ

     จากเรื่องที่รับฟังมาจากเจ้าของบ้านและวิธีการของผู้รับจ้างรายนี้ สามารถเปรียบเทียบได้กับวิธีการเดียวกับ แก๊งค์ตกทอง” จะต่างกันก็ตรงที่มีกระบวนการทำงานที่ดูน่าเชื่อถือในขั้นต้น และการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือป้องกันตัวและเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งหากผู้ใดเกิดความโลภอยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของตัวเอง หรือหวังจะได้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือหวังจะเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งโดยคิดว่าตัวเองฉลาดกว่า(แต่ไม่เฉลียว) หรือจะด้วยไมรู้เท่าทันก็ตามที สุดท้ายก็จะตกเป็นเหยื่อให้กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้แฝงตัวเข้ามาอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและสังคม โดยที่ผู้รักษากฎหมายและกระบวนการทางกฎหมาย ยังไม่สามารถเอาผิดและเอาตัวมาลงโทษตามกฎหมายได้ และเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาและกระบวนการที่จะจัดการอีกสักระยะหนึ่ง

     ณ เวลานี้ ผู้บริโภคก็ต้องพึงระมัดระวังตัวเอง...อย่าโลภมาก

 

นายสิทธิพร สุวรรณสุต
ประธานกรรมการ